EEC ความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย: ทำไมต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้?

ย้อนกลับไปในช่วงก่อน 20 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รุ่งเรืองสุด ระดับ GDP โตแบบฉุดไม่อยู่ เฉลี่ยปีละ 8-13% เศรษฐกิจรุ่งเรืองในยุคนั้นได้จากการลงทุนขนานใหญ่ ทั้งจากการลงทุนภาครัฐ สร้างท่อเรือ ขุดแก๊ส และโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากที่เข้ามาเพื่อสร้างฐานการผลิตในเมืองไทย อัตราค่าจ้างแรงงานของเราถูก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดี เรากลายเป็นประเทศเนื้อหอม ที่นักลงทุนจากต่างชาติ ต่างสนใจเข้ามาลงทุน มากเป็นอันดับต้นๆในเอเชีย เราสถาปนาตัวเองเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เป็นคู่แข่งเทียบกับ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง



แต่เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจหยุดชะงัก ค่าเงินบาทลอยตัว ค่าเงินหายไปกว่าครึ่ง ธนาคารและธุรกิจรายเล็กรายใหญ่ ล้มไปตามๆกัน เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรง   แต่ในความโชคร้าย ทำให้เราได้มองหาโอกาสใหม่ๆ และเรียนรู้การปรับตัว เราเปลี่ยนระบบจากประเทศที่เน้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ เป็นประเทศที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออก

จวบจนปี 2550 การส่งออกกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญ มูลค่าการส่งออกที่โตปีละ 10-15% กลายเป็นเรื่องปกติ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และรถยนต์

ก่อนที่เราจะเจอวิกฤติโลกอีกครั้งในปี 2551  จากเหตุการณ์นี้ทำให้ภาคการส่งออกหยุดชะงัก และเป็นเหตุให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เศรษฐกิจของเราแทบไม่โตอีกเลย ท้งนี้เนื่องจากเราเจอวิกฤติต่างๆเข้ามา ซ้ำเติมอยู่เป็นระยะ เช่น เรื่องการเมืองที่ไม่นิ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำท่วมใหญ่ เป็นต้น

จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ที่พยายามเข้ามาฟื้นความหวังใหม่ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยชู นโยบาย Thailand 4.0  ที่หวังจะทำให้ประเทศไทยที่เคยเป็น “เสือเศรษฐกิจ” กลับมาผงาดอีกครั้ง

นโยบาย “Thailand 4.0  ” ของรัฐบาลจุดมุ่งหมายคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”  โดยมีแนวคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์   และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการให้มากขึ้น และเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ในการผลักดันนโยบายของรัฐบาลครั้งนี้ก็คือ EEC หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก



EEC หรือโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นเสมือน "ความหวังใหม่" ภายใต้นโยบาย “Thailand 4.0  ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่เคยดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแผนการลงทุนขนาดใหญ่ใน EEC  นั้น จะแบ่งเขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ และพัฒนาเขตเมืองใหม่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งแบ่งเป็นการลงทุนใหญ่ใน 4 หมวด คือ

1.การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ
2.การสร้างเมืองใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นต้น
3.เขตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล
4.ก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์


โดยในการลงทุนจะอยู่ภายใต้กรอบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากปัจจัย 3 ประการหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ สิทธิประโยชน์ทางภาษี และข้อยกเว้นอื่นๆ ที่จะช่วยลดภาระการเงิน และเพิ่มความสะดวกสบายในการประกอบธุรกิจ  ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันโครงการ EEC มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ การตัดสินใจใช้ ม.44 เพื่อเร่งรัดในการทำรายงาน EIA ย่อกรอบเวลาการพิจารณาร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ให้สั้นลง และผ่อนคลายระเบียบของอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ EEC ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น



แนวโน้มดังกล่าวทำให้เราคาดว่าน่าจะมีโครงการและการลงทุนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมในอีกไม่นาน ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติกลับมา และกรอบยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้วางไว้ก็จะทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายในอนาคต

เป้าหมายหลักที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิด EEC

1. กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ในตอนนี้เราจะหวังแค่รายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลักเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าภาครัฐพยายามผลักดันการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือขนส่งสินค้า หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เหล่านี้ก็เป็นการเรียกความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติ ให้เกิดความสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อได้


2. ยกระดับโครงสร้างการผลิตและพัฒนาศักยภาพของคน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทุกวันนี้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
การนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และกำลังการผลิต
ซึ่งในแง่ผู้ประกอบการ นอกจากจะเพิ่มศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะความเชี่ยวชาญแล้ว จะต้องเพิ่มการลงทุนในเครื่องจักรและ R&D มากขึ้น เพื่อสร้างขีดความสามารถในตลาด ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดเดียวกันได้

3. สร้างจุดเด่น เพื่อดึงดูดนักลงทุน การเปิด AEC ทำให้นักลงทุนที่จะเข้ามา มีตัวเลือกในตลาดเดียวกันเพิ่มขึ้น  ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาศักยภาพ สร้างจุดเด่น และทำให้นักลงทุนเห็นว่าการเข้ามาลงทุนหรือตั้งฐานการผลิตในบ้านเรา จะได้รับสิทธิประโยชน์เหนือประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

ซึ่งจากการวิเคราะห์อนาคตทางเศรษฐกิจจากนักวิเคราะห์หลายสำนัก คาดว่า EEC จะสามารถ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทยได้ไม่แพ้ในอดีตช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเจริญถึงขีดสุด  ผ่านการเบิกจ่ายเงินลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนเอกชนที่ช่วยพยุงตัวขึ้นมา และการบริโภคครัวเรือนที่จะตามมาภายหลัง จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายตาม Roadmap ที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า  EEC จะนำพาประเทศไทยไปสู่จุดเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอีกครั้งได้หรือไม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่