ติงพศ.ไม่มีอำนาจกำกับ-สั่งสอบรร.ปริยัติธรรม..

บอร์ดใหญ่การศึกษาสงฆ์ ติงพศ.ไม่มีอำนาจกำกับ ตรวจสอบ สั่งสอบรร.ปริยัติธรรม ชี้ต้องผ่านบอร์ดใหญ่ที่มีสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานพิจารณาก่อน แนะทบทวนอำนาจหน้าที่ตัวเอง พร้อมเสนออุดช่องโหว่ พศ.พิจารณางบอุดหนุนเองไม่ผ่านบอร์ดการศึกษาสงฆ์

         จากการที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด(พศจ.) ดำเนินการตรวจสอบบัญชีรายรับ-รายจ่าย การลงบัญชีทะเบียนวัสดุ ครุภัณฑ์ ของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนสามัญศึกษาทั่วประเทศนั้น วันนี้( 23 ก.ค.) พระราชวรมุนี(พล อาภากโร) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กล่าวว่า ทราบว่าทางพศ.ได้ทำหนังสือให้พศจ.ตรวจสอบการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เนื่องจาก พบปัญหาเกี่ยวกับการทำบัญชีไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และการลงทะเบียนครุภัณฑ์ไม่เป็นระบบนั้น นับเป็นสิ่งที่ดีที่พศ.จะส่งเสริมการทำงานของรร.พระปริยัติธรรมให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รวมถึงการลงบัญชีครุภัณฑ์ รร.พระปริยัติธรรมได้ทำอยู่แล้ว และมีการรายงานพศจ.ทุกเดือน

       พระราชวรมุนี กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา รร.พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเถรสมาคม(มส.) โดยมีคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ที่มีสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานคณะกรรมการฯ เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการกำกับดูแล ส่วน พศ.มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการจัดการศึกษา ดังนั้น การใช้อำนาจตรวจสอบ สั่งสอบ ควรได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมฯเสียก่อน จึงขอเสนอให้ทางพศ.ดูบทบาทและข้อกฎหมายให้รอบคอบเสียก่อน ในขณะเดียวกัน การออกหนังสือให้พศจ.ตรวจสอบบัญชีรายรับ รายจ่าย ก็ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมฯ แต่อย่างใด
     “ขณะนี้ต้องทำความเข้าใจอำนาจหน้าที่ของพศ.ให้ชัดเกี่ยวกับการดูแลโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยปัจจุบันผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นรองประธานคณะกรรมการศึกษาพระปริยัติธรรมฯ ซึ่งไม่มีอำนาจเต็มในการสั่งการหรือออกหนังสือที่จะสั่งตรวจสอบโรงเรียน เนื่องจากการสั่งการจะต้องผ่านมติการพิจารณาของบอร์ดใหญ่ที่มีสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานก่อน แต่ในเรื่องการพิจารณางบประมาณในการอุดหนุนโรงเรียนนั้น นับตั้งแต่ปี2553 เป็นต้นมา กลับเป็นหน้าที่ของพศ.ดำเนินการ โดยคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมฯ ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแม้แต่น้อย แต่พอเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณขึ้นทั้งที่เรื่องงบประมาณพศ.ดูแลโดยตรง กลับผลักภาระมาให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบแทน อย่างไรก็ตาม อาตมาอยากเสนอให้แก้ไขในส่วนช่องโหว่นี้ด้วย หากพิจารณางบประมาณไม่ใช่พศ.ดำเนินการเองทั้งหมด ควรรับฟังข้อคิดเห็นของบอร์ดใหญ่ด้วย”ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าว

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ที่มา  https://www.dailynews.co.th/education/587168
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่