ห้องเพลง**คนรากหญ้า** พักยกการเมือง มุมเสียงเพลง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม มีแต่เสียง 10/7/2560 - ตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา

กระทู้คำถาม

ห้องเพลงคนรากหญ้าเปิดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. มีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มาพบปะ พูดคุยระหว่างกัน ในภาวะที่ต้องระมัดระวังการโพสการเมืองอย่างเคร่งครัด
2. เป็นพื้นที่ พักผ่อน ลดความเครียดทางการเมือง ให้เพื่อนๆ มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. สร้างมิตรภาพและความปรองดอง ซึ่งเราหวังให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ แม้นคิดต่างกัน แต่เมื่อคุยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

กระทู้ห้องเพลงเป็นกระทู้เปิด มิได้ปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด "ขอให้มาดี เราคือเพื่อนกัน" ซึ่งก็เหมือนกับกระทู้ทั่วไป ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่า User ท่านไหนเป็นใครมาจากไหน  ...ดังนั้น หากมีบุคคลใดที่มีการโพสสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น หรือสิ่งรบกวนใดๆ ในบอร์ด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางห้องเพลงจึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สวัสดีครับอมยิ้ม17 สมาชิกห้องเพลงทุกๆท่าน วันนี้ วันจันทร์ แต่ MC WANG JIE (แอ๊ด) เข้าประจำการครับ เนื่องจากเมื่อวานนี้ติดงานทำบุญตักบาตรดอกไม้ จึงขอผลัดมาชดเชยวันนี้ และจะเล่าเรื่อง การตักบาตรดอกไม้ นี่แหละครับอมยิ้ม36

ตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในหลายๆวัด หลายแห่ง ในภาคกลางก็มี ภาคเหนือก็มี (ภาคอื่นๆคืออีสานกับใต้จะมีด้วยหรือไม่ไม่แน่ใจ ถ้าท่านใดอยู่อีสานหรือใต้มีก็ช่วยบอกด้วยนะครับ) สิ่งที่เอาไปใส่บาตรก็คือ ดอกไม้ครับ อาจมีปัจจัยเล็กๆน้อยๆใส่ร่วมด้วยก็ได้ และจะทำกันในวันเข้าพรรษา ตอนบ่ายหรือตอนเย็นก็ได้ ที่ลำปางวัดใกล้บ้าน MC นี่ ทำตอนเย็นครับ 4 โมงครึ่งประชาชนก็จะค่อยๆทยอยเข้าวัด พอถึง 5 โมงเย็นคือเวลาที่ทางวัดกำหนด พระภิกษุและสามเณรก็จะพากันเข้าแถวเดินรับบิณฑบาตร ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เช่นหน้ากุฏิเจ้าอาวาสเป็นต้นไป เดินรับดอกไม้จากประชาชนที่ยืนรออยู่สองข้างทางไปจนกระทั่งเดินขึ้นสู่วิหารผ่านบันไดนาคเข้าสู่ภายในวิหาร ตลอดทางที่เดินก็มีประชาชนอยู่ทั้งสองข้างทางครับ ดอกไม้เต็มบาตรเด็กวัดหรือผู้ช่วยก็จะคอยช่วยเก็บดอกไม้ใส่กาละมังหรือตะกร้าใบใหญ่ๆ เพื่อให้บาตรว่าง พระเณรจะได้รับดอกไม้ต่อไป พอเข้าสู่วิหาร พระเณรก็ขึ้นสู่อาสนะสงฆ์ซึ่งเป็นพื้นที่ยกสูง ประชาชนก็พากันเข้ามาในวิหาร มัคทายกหรือ "พ่ออาจารย์" ในภาษาเหนือ ก็นำไหว้พระ สวดมนต์ สมาทานศีล (รับศีล 5) แล้วนำกล่าวคำถวายดอกไม้ธูปเทียน เสร็จแล้วพระภิกษุสามเณรให้สาธุการ หลวงพ่อเจ้าอาวาสให้โอวาท (แสดงสัมโมทนียกถา) กล่าวถึงประโยชน์ อานิสงส์ของการตักบาตรดอกไม้ แล้วพระภิกษุสามเณรสวดอนุโมทนา จากนั้น "พ่ออาจารย์" กล่าวนำสวดลาพระรัตนตรัย ก็เป็นเสร็จพิธีของฝ่ายฆราวาส แยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมันได้เลย แต่ทางพระเณร ยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจครับ ต้องทำพิธีในส่วนของบรรพชิตต่อ

ในส่วนพิธีของบรรพชิตนี้ ทุกรูปจะไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นก่อน โดยการนำของหลวงพ่อเจ้าอาวาส ครั้นทำวัตรเสร็จ ภิกษุทุกรูปปลงอาบัติกันเรียบร้อยแล้ว ก็ประชุมกัน หลวงพ่อเจ้าอาวาสให้โอวาทอมรมพระเณรว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้างในเรื่องต่างๆในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อจบการอมรมแล้ว พระภิกษุและสามเณรทุกรูปจะทำพิธี "ขอขมา" ซึ่งกันและกัน โดยใช้ดอกไม้ที่บรรดาญาตโยมถวายมาในบาตรที่เหลือนั่นแหละเป็นส่วนประกอบ การขอขมานี้ก็จะทำกันไปทีละคู่ๆ ตั้งต้นแต่หลวงพ่อเจ้าอาวาสที่พรรษาสูงสุด และรองเจ้าอาวาสที่พรรษารองลงมา ทำการขอขมากัน ยกโทษให้กันก่อนเป็นคู่แรก แล้วก็ค่อยๆไล่เรียงลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสามเณรสองรูปสุดท้าย คำกล่าวขอขมาและยกโทษก็เป็นภาษาบาลี โดยผู้พรรษาน้อยทุกรูปว่าพร้อมกันโดยการนำของผู้มีพรรษาสูงสุดในหมู่ กล่าวต่อผู้พรรษาสูงซึ่งรอตอบ มีใจความว่าดังนี้
พระ/เณร พรรษามากกว่า : "อายัสมันเต ปะมาเทนะ ทวารัตตะเยน กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ โน ภันเต" (ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่าน โปรดอดโทษ (อภัยโทษให้) ความผิดทั้งปวง ที่พวกกระผมได้กระทำกะท่านไปแล้ว ทางทวารทั้ง 3 (กาย,วาจา,ใจ) ด้วยความประมาท ด้วยเทอญ)
พระ/เณร พรรษาสูงกว่า : "อะหัง โว ขมามิ, ตุมเหหิปิ เม ขมิตัพพัง" (ฉันยกโทษให้พวกเธอ,ฝ่ายพวกเธอก็จงอภัยแก่ฉันบ้างเถิด)
พระ/เณร พรรษามากกว่า : "ขมามะ ภันเต" (พวกกระผม อภัยให้พระคุณท่านขอรับ)
กล่าวอย่างนี้ไปทีละคู่ๆจนถึงคู่สุดท้าย แล้วทุกรูปกล่าวขอจำพรรษา ทีละรูป แล้วกล่าวพร้อมกันอีกครั้งต่อพระประธานว่า "อิมัสหมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ" (ข้าพเจ้า ขอเข้าจำพรรษา ในวัดนี้ ตลอด 3 เดือนนี้) ......ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ดอกไม้ทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนมาก ที่พระเณรได้มาจากการตักบาตรดอกไม้ มิได้ใช้เฉพาะพิธีการที่ผ่านมานี้เท่านั้น วันรุ่งขึ้น จะต้องพากันไปถวายการคารวะแด่พระผู้ใหญ่ในเขตการปกครองในท้องที่นั้นๆ เช่น พระครู พระผู้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองต่างๆ เช่น เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็ต้องทำการจัดเตรียมเลือกสรรคดอกไม้สวยๆใส่กาละมังใบใหญ่ๆไว้ และเทน้ำใส่ไว้ด้วยเพื่อให้ดอกไม้ยังสดอยู่จนถึงวันรุ่งขึ้น ไม่เหี่ยวเฉาไปเสียก่อน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการตักบาตรดอกไม้จึงต้องทำตอนเย็น หากทำตอนเช้า ดอกไม้ก็จะถูกเก็บไว้นานเกินไป ก็จะแห้งเหี่ยวเฉาไป ไม่สวย ไม่สมควรนำไปใส่พานถวายการคารวะต่อพระผู้ใหญ่ แต่ดอกไม้ที่ใส่บาตรตอนเย็นจะคงความสดอยู่ได้ถึงข้ามคืน

ส่วนที่มาของพิธีการตักบาตรดอกไม้นั้น เกิดจากเหตุการณ์ๆหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล คือ

มีนายมาลาการ (ช่างร้อยมาลัยดอกไม้) คนหนึ่ง ชื่อว่าสุมนะ  บำรุงพระเจ้าพิมพิสารด้วยดอกมะลิ  ๘  ทะนานแต่เช้าตรู่ทุกวัน ได้เงินวันละ ๘ กหาปณะ. ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อเขาถือดอกไม้เข้าไปสู่พระนคร พระพุทธองค์ซึ่งมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี กำลังเสด็จเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต, นายสุมนะเห็นพระพุทธสรีระเป็นเหมือนรัตนะและทองอันมีค่า ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีส่วนแห่งความงามด้วยพระสิริคืออนุพยัญชนะครบ จึงมีจิตเลื่อมใส คิดจะทำการบูชาอันยิ่งแด่พระศาสดา แต่ไม่มีสิ่งใดอื่นนอกจากดอกไม้ที่ตนเตรียมนำไปถวายพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้น จึงคิดจะบูชาพระพุทธองค์ด้วยดอกไม้เหล่านี้ และคิดอีกว่า "ดอกไม้เหล่านี้ เป็นดอกไม้สำหรับบำรุงพระราชาเป็นนิจ, พระราชา เมื่อไม่ทรงได้รับดอกไม้เหล่านี้ อาจจะรับสั่งให้จองจำเรา หรือให้ฆ่าเรา หรือขับไล่เราไปเสียจากแว่นแคว้นเสียก็ได้, เราจะทำอย่างไรดี ? แล้วเขาก็ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "พระราชาจะทรงฆ่าเราเสีย หรือจะขับไล่เราไปเสียจากแว่นแคว้นก็ช่างเถิด, ก็ท้าวเธอแม้เมื่อพระราชทานแก่เรา ก็พึงพระราชทานทรัพย์เพียงแค่เลี้ยงชีพได้ในชาตินี้เท่านั้นแหละ ส่วนการบูชาพระศาสดา สามารถอำนวยประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เราในอีกหลายสิบล้านกัปทีเดียว" จึงสละชีวิตของตนแด่พระตถาคตเจ้า, เขาคิดว่า "เราจักทำการบูชา ตราบเท่าที่จิตเลื่อมใสของเรายังไม่เปลี่ยนกลายเป็นอื่น" จึงเป็นผู้ร่าเริงบันเทิงเบิกบานใจและแช่มชื่น ทำการบูชาพระศาสดา
        เขาบูชาโดยการซัดดอกไม้ ๒ กำมือ ขึ้นไปในเบื้องบนแห่งพระตถาคตก่อน, ดอกไม้  ๒ กำนั้น ได้เป็นเพดานลอยอยู่ในอากาศเบื้องบนเหนือพระเศียร, เขาซัดดอกไม้ไปอีก ๒ กำ, ดอกไม้  ๒ กำนั้นได้ย้อยลงมาเป็นเหมือนม่านกั้นอยู่ทางด้านพระหัตถ์ขวา, เขาซัดดอกไม้ไปอีก ๒ กำ, ดอกไม้ ๒ กำนั้นได้ห้อยย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระปฤษฎางค์ (หลัง) อย่างนั้นเหมือนกัน, เขาซัดดอกไม้ไปอีก ๒ กำ,ดอกไม้ ๒ กำนั้นก็ห้อยย้อยลงมากั้นอยู่ทางด้านพระหัตถ์ซ้ายเช่นนั้นเหมือนกัน ดอกไม้ ๘ ทะนาน เป็น ๘ กำ แวดล้อมพระตถาคตเจ้า มีทางพอเป็นช่องทางให้เสด็จไปข้างหน้าได้เท่านั้น ขั้วดอกไม้ทั้งหลายได้หุบเข้าข้างใน, หันกลีบออกข้างนอก, พระพุทธองค์เป็นดุจแวดล้อมด้วยแผ่นเงิน เสด็จดำเนินไป, ดอกไม้ทั้งหลาย แม้ไม่มีจิตใจ แต่อาศัยบุคคลผู้มีจิตใจ ไม่แยกกันไป ไม่ร่วงตกลงสู่พื้น ลอยไปพร้อมกับพระศาสดาเลยทีเดียว แล้วหยุดในที่ประทับยืน ฯ  พระรัศมีดุจสายฟ้าแลบนับแสน แลบแปลบปลาบออกจากพระสรีระของพระศาสดาทั้งข้างหน้าข้างหลัง  ทั้งข้างขวาข้างซ้าย  และเบื้องบนพระเศียร,ไม่หายไปในทางตรงเบื้องพระพักตร์เลย แม้แต่สายเดียว และทุกสาย กระทำประทักษิณพระองค์ ๓ รอบ เป็นพระรัศมีมีประมาณเท่าลำตาลหนุ่ม พุ่งตรงไปข้างหน้าทางเดียว ฯ  ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันแตกตื่น ฯ  บรรดาชน ๑๘๐ ล้าน คือในภายในนคร ๙๐ ล้าน ภายนอกนคร ๙๐ ล้าน ชายหรือหญิงแม้คนหนึ่ง ชื่อว่าจะไม่ถือเอาภิกษาออกไป ไม่มีเลย, มหาชนบันลือสีหนาทกึกก้อง ทำการยกท่อนผ้าขึ้นนับพันอยู่ข้างหน้าของพระศาสดาทันที ฯ ฝ่ายพระศาสดา เพื่อจะทรงทำคุณงามความดีของนายสุมนะมาลาการให้ปรากฏ จึงได้เสด็จเที่ยวไปในพระนครประมาณ ๓ คาวุต  โดยหนทางที่พวกราชบุรุษพากันตีกลองร้องป่าวไปนั่นเอง ฯ  สรีระทั้งสิ้น ของนายสุมนะ เต็มเปี่ยมด้วยปีติมีวรรณะ ๕ ฯ เขาเที่ยวไปกับพระตถาคตหน่อยหนึ่งเท่านั้น  ตัวจมเข้าไปในภายในแห่งพระพุทธรัศมี  เป็นดุจจมลงในรสแห่งมโนสิลา ชมเชยถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็ได้ถือเอากระเช้าเปล่าๆ นั่นแลกลับบ้านไป

พอกลับถึงบ้าน ถูกภรรยาซักถามว่าดอกไม้หายไปไหน ก็เล่าเรื่องให้นางฟังตามความเป็นจริง นางไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงโกรธ และกลัวว่าพระราชาจะกริ้ว จะโดนอาญาได้ บอกขอหย่าขาดกับตนเลยทันที และกล่าวอีกว่า ถ้ามีอาญาโทษอะไรมา นางก็ไม่เกี่ยวแล้วนะ เพราะหย่าขาดกันแล้ว จากนั้นก็หนีจากไป นายสุมนะก็ไม่ว่าอะไร อยากไปก็ไป,ภายหลัง พระราชาทรงทราบเรื่องจึงรับสั่งให้เข้าเฝ้าแล้วซักถาม นางกราบบังคมทูลว่า กรรมที่เขากระทำ เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม, กรรมนั้นจงเป็นของเขาผู้เดียว ขอพระองค์จงทรงทราบว่าเขาถูกหม่อมฉันทอดทิ้งแล้วเถิดนะเพคะ!!" พระราชาทรงเป็นสัมมาทิฏฐิ แถมยังทรงบรรลุโสดาบันแล้วด้วย ทรงดำริจะประกาศคุณงามความดีของนายสุมนะ จึงรับสั่งให้สร้างปะรำพิธีกลางพระลานหลวงที่พระพุทธองค์ประทับยืนอยู่พร้อมกับภิกษุสงฆ์และทรงแสดงอาการว่าทรงต้องการประทับนั่งอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเอง เมื่อปะรำสร้างเสร็จ พระราชาทรงถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกเสร็จแล้วจึงกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย  ความเดือดร้อนในภายหลังย่อมไม่มี โสมนัสเท่านั้นย่อมเกิดขึ้นในทุกขณะที่ระลึกได้ ๆ เพราะบุคคลกระทำกรรมใด กรรมแบบนั้น อันบุคคลควรกระทำแท้"

สุดท้าย พระราชา รับสั่งให้พระราชทานสิ่งของที่ควรให้ ๘ หมวดๆละ ๘ ชิ้นแห่งของทุกอย่าง คือ ช้าง ๘ เชือก ม้า ๘ ตัว ทาส ๘ คน นางทาสี ๘ นาง  เครื่องประดับใหญ่ ๘ อย่าง เงินกหาปณะ ๘ พัน และนารี  ๘  นาง  ที่นำมาจากราชตระกูล ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ์ และบ้านส่วย (สำนักเก็บภาษี) ๘ ตำบล กลายเป็นเศรษฐีไปเลย.

และการที่นายสุมนะใช้ดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า ก็เลยกลายเป็นที่มาให้เกิดการ "ตักบาตรดอกไม้" มาจนถึงทุกวันนี้

พบกันใหม่ วันเสาร์/อาทิตย์หน้าครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 15
สวัสดีค่ะ MC พี่แอ๊ดและเพื่อนๆ ห้องเพลง ขอบคุณที่เล่าเรื่องตักบาตรดอกไม้  อนุโมทนาสาธุค่ะ

ได้ข้อคิดดีๆ ของนายสุมนะที่ว่า...

"ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้เหล่านี้ในวันนี้ เราอาจจะถูกประหาร หรือถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้นก็ได้ แต่ก็ช่างเถอะ  เพราะถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้เท่านั้น แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"


ดอกเข้าพรรษา ดอกหงส์เหิน ดอกไม้ประจำเทศกาลเข้าพรรษา

”ดอกเข้าพรรษา” ชื่อเรียกเช่นนี้เรียกกันติดปากของคนในแถบ จ.สระบุรี จนบางท่านไม่รู้ว่าดอกไม้นี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่าอะไร

หงส์เหิน (Globba winiti) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย, พม่า และเวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผีหรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) เป็นต้น


เราเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “หงส์เหิน” ตามลักษณะของรูปร่างของดอก เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์ กำลังจะบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก



ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น ขาว ม่วง เขียว และแดง

ดอกเข้าพรรษาสีชมพู


ดอกเข้าพรรษาสีขาว



นอกจากประเพณีการตักบาตรดอกไม้จะมีที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรีแล้ว ในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีที่วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก สำหรับดอกไม้ที่ใช้ในประเพณีนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกเข้าพรรษาเท่านั้น จะเป็นดอกไม้อื่นๆ ที่ใช้บูชาพระก็ได้ เช่น ดอกมะลิ, ดอกบัว, ดอกกล้วยไม้, ดอกดาวเรือง เป็นต้น

สำหรับคำถวายดอกไม้ ธูปเทียนเพื่อบูชาพระ ซึ่งสามารถใช้ได้โดยทั่วไป มีดังนี้

อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะปุปผะวะรานิ
ระตะนัตตะยัสเสวะ อะภิปูเชมะ
อัมหากัง ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา ทีฆะรัตตัง
หิตะสุขาวะหา โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา

คำแปล : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบูชา ธูป เทียน และดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้แก่พระรัตนตรัย ขอจงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เพื่อให้ถึงซึ่งนิพพาน ที่ซึ่งสิ้นอาสวะกิเลสเทอญ


ที่มา
https://www.dmc.tv/pages/scoop/%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B2.html
http://www.horoguide.com/%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%AA
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่