(พระพุทธศาสนา) เหตุใดถึงไม่มีการสอนภาษาบาลีให้กับนักเรียน โดยบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา

อยากทราบว่า ทำไมในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างไทย พม่า ศรีลังกา ลาว กัมพูชา ถึงไม่มีการเรียนการสอนภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาทางพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนโดยบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่อดีต (เท่าที่ศึกษามา) มาจนถึงปัจจุบัน โดยมากจะจำกัดอยู่ในวงการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ในประเทศไทยนั้น สำหรับนักเรียน, นักศึกษาหรือ บุคคลทั่วไปก็จะเป็นหลักสูตรสำหรับผู้ที่สนใจที่เปิดสอนตามวัดหรือโรงเรียนพระปริยัติธรรมต่างๆมากกว่า

ต่างจากในศาสนาอื่นๆ อย่างศาสนาคริสต์ ในสมัยหนึ่งภาษาละตินก็ถือเป็นวิชาที่มีในหลักสูตรการศึกษาตามโรงเรียนต่างๆทั้งในยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีอยู่แม้ว่าจะมีจำนวนลดลงมาก ส่วนศาสนาอิสลาม นักเรียนมักจะเรียนภาษาอาหรับสำหรับศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานที่หลายโรงเรียนจัดหลักสูตรไว้ให้อยู่แล้ว หรือไม่ก็ไปศึกษาเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดตามมัสยิด

โดยส่วนตัวพอจะเข้าใจในกรณีของศาสนาอิสลาม ที่ไม่มีนักบวช และถือว่า (ใช้คำผิดขออภัย) ศาสนิกเป็นทั้งฆารวาสและนักบวชในคนเดียวกันแล้ว จำเป็นที่ศาสนิกต้องเรียนหลักคำสอนทางศาสนา รวมทั้งภาษาของศาสนาคือภาษาอาหรับด้วยกันเลย

สำหรับศาสนาคริสต์ อันนี้เข้าใจว่าเป็นมาจากยุคกลาง ที่ในยุคนั้นพระคัมภีร์ไบเบิ้ลไม่มีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น ยังเป็นภาษาละติน ซึ่งต่อมามีการแปลภายหลังจากการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในยุคต่อมาภาษาละตินก็ยังมีความสำคัญอยู่เช่นการศึกษาปรัชญา หรืออะไรต่างๆที่มักมีตำราเป็นภาษาละตินมากกว่า (เคยอ่านมาว่านักเรียนจากสยามที่ไปเรียนต่อที่ยุโรปในยุคหนึ่งก็ต้องเรียนภาษาละติน ในสี่แผ่นดินอ๊อดก็เคยเล่าในจดหมายที่เขียนถึงแม่พลอยบรรยายว่าภาษาละตินนั้นยากง่ายอย่างไร) ในยุคปัจจุบันอาจมีการเรียนการสอนที่ลดลงบ้าง

ในส่วนของพระพุทธศาสนา จขกท. นี่ จขกท. มองไม่ออกจริงๆว่า เหตุใดจึงไม่มีการเรียนการสอนภาษาบาลีให้กับนักเรียนโดยบรรจุการศึกษา มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ใครคิดเห็นประการใดหรือมีข้อมูลอะไรก็ลองมาแสดงกันดู

ถ้ามีส่วนไหนใช้คำผิดหรือเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่