ทำไมพ่อแม่จึงไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าลูก น้ำเซาะทราย!!!!

กระทู้นี้ จขกท. นำบทความทั้งหมดมาจาก  facebook เข็นเด็กขึ้นภูเขา https://web.facebook.com/kendekthai/photos/a.468916916480833.98758.468898189816039/1407467149292467/?type=3&theater
เข้าไปอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นบทความที่แอดมิน facbook นี้เขียนไว้ดีมาก เลยคัดลอกข้อความมาให้เพื่อน ๆ ชาวพันทิพได้อ่านกันค่ะ

ละครเรื่องน้ำเซาะทรายที่กำลังฉายอยู่ มีฉากที่ภีมกับวรรณรีทะเลาะกันรุนแรง นอกจากจะมีสถานะเป็นสามีภรรยากัน ภีมกับวรรณรีก็ยังเป็นพ่อและแม่ของลูกสองคนขณะที่พ่อกับแม่กำลังตะโกนใส่กันเสียงดัง แม่กำลังตบตี จิกเล็บไปที่หน้าของพ่อ ส่วนพ่อก็กระชากแขนแม่ ลูกสองคนอย่างป่านและปอก็กำลังหลบอยู่ที่บันไดและมองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เด็กทั้งคู่กำลังร้องไห้

จริงๆแล้ว การทะเลาะกันในครอบครัวไม่ใช่เรื่องแปลก
คนอยู่ด้วยกันก็ทะเลาะกันได้เป็นธรรมดา คงไม่มีสามีภรรยาคู่ไหนที่คิดตรงกันตลอดโดยไม่มีความขัดแย้ง
แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ การทะเลาะกันต่อหน้าเด็ก ถ้าจะทะเลาะกันรุนแรง ควรไม่ต้องให้เด็กรับรู้ความขัดแย้ง หรือได้รับผลกระทบ
สิ่งที่แย่กว่านั้น คือ การต้องให้เด็กเป็นตัวกลางระหว่างการทะเลาะกันของพ่อแม่

การที่เด็กเห็นหรือรับรู้ว่าพ่อแม่ทะเลาะกัน คนหนึ่งตะโกนใส่หน้าอีกคน มีคำพูดที่บางครั้งรุนแรงหยาบคาย บางทีมีการทำร้ายร่างกายกัน เป็นภาพที่มีผลกระทบกับจิตใจเด็กไม่มากก็น้อย

พ่อแม่บางคนบอกหมอว่า ถ้าลูกยังเล็ก เวลาทะเลาะกันไม่น่าจะรู้เรื่อง แต่จริงๆแล้ว เด็กเล็กๆที่ยังไม่รู้ภาษา แม้ว่าอาจจะยังไม่เข้าใจเนื้อหาที่ผู้ปกครองทะเลาะกัน แต่ความรู้สึกที่รุนแรง อารมณ์โกรธ แค้นเคืองใจ ที่ต่างฝ่ายส่งให้กันและกัน เด็กที่อยู่ตรงนั้นก็จะรับรู้ได้ ถึงบรรยากาศ อารมณ์ของพ่อแม่ ซึ่งส่งผลกระทบกับจิตใจเด็ก

สำหรับเด็กทุกคน สิ่งที่ต้องการคือ ความมั่นคง ปลอดภัย ที่ควรจะมีมากที่สุดเมื่ออยู่กับพ่อแม่ แต่ถ้าเวลาที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน เถียงกัน ทะเลาะกัน เด็กจะเกิดความรู้สึกกลัว ไม่ปลอดภัย ยิ่งเด็กเล็กยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรนัก ความกังวลสับสนก็จะยิ่งมาก ปกติในเด็กเล็กจะกลัวเสียงดัง กลัวสีหน้าดุๆ อยู่แล้ว ยิ่งมาจากคนที่เป็นพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ความกลัว รู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ทั้งกลัวตัวเองจะเป็นอะไร กลัวพ่อแม่จะเป็นอะไร

ในเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยก็อาจจะคิดว่าที่พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นเพราะตัวเองทำอะไรผิดหรือเปล่า หมอเคยคุยกับคนไข้ที่เป็นเด็ก บางคนจำได้ถึงเหตุการณ์ที่พ่อกับแม่ทะเลาะกันรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่คนเราจะจดจำได้มั่งเป็นเรื่องที่มีผลกระทบทางใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้มีความสุขมาก เศร้ามากเสียใจมาก กลัวมาก

พ่อแม่บางคนมีปัญหากัน ไม่คุยกัน แต่ใช้วิธีให้เด็กเป็นสื่อกลาง คุยกันผ่านเด็ก ซ้ำร้าย บางคน พูดถึงอีกฝ่ายในเรื่องไม่ดีให้เด็กฟัง ซึ่งเด็กก็รักพ่อแม่ทั้งคู่ ฟังเรื่องไม่ดีของพ่อแม่ ก็ทำให้เด็กเครียด ไม่สบายใจ

ถ้าทะเลาะกันบ่อยๆให้เด็กเห็น เด็กก็อาจจะมีอารมณ์วิตกกังวล ซึมเศร้า มีภาวะเครียด เด็กบางคนจะเซื่องซึมลง ไม่ร่าเริง ฝันร้าย นอนไม่หลับ แยกตัว พฤติกรรมเปลี่ยน

ถ้าทิ้งไว้นานให้อยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ ก็จะกลายเป็นแผลในจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อลักษณะนิสัย บุคลิกภาพที่ผิดปกติเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เช่น มองโลกในแง่ร้าย การเลียนแบบพฤติกรรมอารมณ์รุนแรงของพ่อแม่

คำพูดและการกระทำของพ่อแม่มีอิทธิพลมหาศาลกับเด็ก
เพราะเป็นคนที่สำคัญอย่างมากของเด็กๆ จึงมีอิทธิพลกับตัวเด็กมาก
ดังนั้นพยายามตั้งสติให้ดี ก่อนที่จะพูดหรือทำอะไรขณะที่กำลังโกรธ สายตาคู่เล็กๆกำลังเฝ้ามองตามพ่อแม่ของพวกเขาอยู่เสมอ

#หมอมินบานเย็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่