ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก! เพย์ทีวี VS ผีทีวี ทางรอดและทางเลือกเพื่อผู้บริโภค

โลกแห่งสาระแห่งความบันเทิงที่ส่งผ่านจอสี่เหลี่ยมอย่างทีวี ได้พัฒนาไปตามเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง จากฟรีทีวีเพียงไม่กี่ช่อง สู่เพย์ทีวีนับร้อยๆ ช่อง จนกลายเป็นความนิยม ซึ่งนั่นแปลว่าโอกาสทองทางธุรกิจของเหล่าผู้ให้บริการช่องต่าง ๆ ด้วย

ย้อนกลับไปเกือบ 3 ทศวรรษมาแล้ว ราวปีพ.ศ. 2532 ที่ “เพย์ทีวี”  ถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทย เป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับชมโทรทัศน์แบบเดิม ๆ ไปค่อนข้างมาก โดยระบบดังกล่าวคือ "ระบบบอกรับสมาชิก"  มีจำนวนช่องมากกว่าฟรีทีวี มีหลากหลายเนื้อหาสาระและความบันเทิงให้ผู้บริโภคเลือกเสพมากกว่า แต่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากผู้บริโภคต้องการการรับชมที่มากกว่าฟรีทีวี ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกและชำระเงินค่าดู

ในตลาดเพย์ทีวีระยะแรก ผู้ให้บริการรายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในช่วงนั้นได้แก่ ยูทีวี ไอบีซี ไทยสกายทีวี ซึ่งในการดำเนินงานช่วงแรก ความท้าทายของการทำธุรกิจ อยู่ที่การสร้างกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการโดยต้องขับเคี่ยวกับคู่แข่งไปด้วยพร้อมๆ กัน

ทว่าต่อมาในช่วง พ.ศ.2540 ประเทศไทยประสบปัญหาพิษเศรษฐกิจ ทำให้บางค่ายใหญ่จำต้องปิดตัวลง ในขณะที่บางค่ายจำเป็นต้องหาพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง หาทางรอดด้วยการควบรวมกิจการกับบริษัทที่เจรจาแล้วลงตัวและร่วมทุนด้วยกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย จนกลายมาเป็น “บิ๊กดีล” ระดับประวัติศาสตร์ของการควบรวมยูทีวี ไอบีซี จนกลายมาเป็น “ยูบีซี” ในยุคถัดมา จนกระทั่งขายหุ้นทั้งหมดให้กลุ่มทรู จนกลายมาเป็น “ทรูวิชั่นส์” ในปัจจุบัน

ในขณะที่ยุคถัดมา ได้มีผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาเป็นสีสันและทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น CTH , GMMZ แต่อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่หนักหนาที่สุดที่ถือเป็น “ศัตรูหมายเลขหนึ่ง” ของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในรูปการขับเคี่ยวกันเองระหว่างคู่แข่งทางธุรกิจ หรือปัญหาค่าเงินบาทหรือพิษเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นปัญหา การละเมิดลิขสิทธิ์  ที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ที่มาในรูปของ “กล่องรับสัญญาณผิดกฎหมาย” หรือที่เรียกติดปากกันในนามของ “กล่องผี”  หรือ  “กล่องเถื่อน”


กล่องเถื่อนเหล่านี้ใช้วิธี “ขโมย” คอนเทนต์ต่างๆ จากผู้ให้บริการที่เผยแพร่อย่างถูกกฎหมาย แบบ “ชุบมือเปิบ” ไม่เสียเงินสักบาท โดยดูดเนื้อหาจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วนำไปปล่อยขายเถื่อนในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่าตัว ล่อตาล่อใจผู้บริโภคที่ไม่ได้มองเห็นการณ์ไกล เห็นแก่ของราคาถูกกว่า ทั้งๆ  สบช่องให้กล่องเถื่อนเหล่านั้นตัดราคาผู้ให้บริการเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เก็บเงินค่าบริการทั้งๆ ที่ไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนใดๆ จึงทำให้สามารถตั้งราคาถูกกว่าต้นทุนตามความเป็นจริงนั้น ทำลายระบบเศรษฐกิจในธุรกิจนี้อย่างสิ้นเชิง ทำให้เจ้าของธุรกิจที่แท้จริงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ผู้ให้บริการเพย์ทีวีถูกกฎหมาย สูญเสียลูกค้าและรายได้ที่พึงได้รับไปจำนวนไม่น้อย และต่างก็งัดกลยุทธ์กู้คืนฐานคนดูในรูปแบบต่างๆ  และแน่นอนว่า ผลกระทบต่อการปิดของ CTH ก็กระทบลูกค้าที่กำลังอยู่ระหว่างการใช้บริการ ถือว่าเป็นการกระทบชิ่งเป็นทอด ๆ ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งผู้ให้บริการ และลูกค้าที่ใช้บริการแบบถูกกฎหมาย จากความมักง่ายเห็นแก่ได้ของกลุ่มผู้ให้บริการเถื่อนเช่นนี้

และนอกจากจะต้องต่อสู้ในสมรภูมิกล่องเถื่อนแล้ว ผู้ให้บริการเพย์ทีวี ยังถูกท้าทายด้วยทางเลือกใหม่ที่มีเข้ามาเพิ่มเติม นั่นก็คือทีวีดิจิทัล และ  IPTV  หรือ Internet Protocol Television การให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมไปถึงการให้บริการรับชมรายการต่าง ๆ ทั้งรายการสด และรายการย้อนหลังผ่านทางแอปพลิเคชัน มือถือ และคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย

ทรูวิชั่นส์ในฐานะผู้ให้บริการเพย์ทีวีรายใหญ่ เรียกได้ว่าอยู่ในฐานะ “บาดเจ็บหนัก” เพราะแม้จะเป็นเจ้าที่อยู่มาตั้งแต่ยุคแรก และฟันฝ่ามรสุมวิกฤติต่าง ๆ มาได้โดยตลอด แต่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการละเมิดลิขสิทธิ์ จนลูกค้าหายไปเป็นจำนวนมาก ได้พยายามใช้ทุกวิธีเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ทั้งพึ่งในด้านกฎหมาย รวมถึงต่อสู้ด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องลงทุนเพื่อพัฒนาและปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนดูและเทคโนโลยีขั้นสูง

ทรูวิชั่นส์ พยายามแก้เกมด้วยการสรรหาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค พร้อมคุณภาพแบบคมชัดระดับ HD มาเสิร์ฟและได้ลงทุนและพัฒนาด้านช่องรายการมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่อง HD, ซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาที่เป็นที่นิยม ทั้งฟุตบอลทุกลีกต่างประเทศ ต่อเนื่อง 3 ฤดูกาล จนถึงฤดูกาล 2018-2019 ซื้อลิขสิทธิ์ไทยลีก และบอลไทยทุกลีกยอดนิยม จนถึงฤดูกาล 2019-2020 ซึ่งการปรับเปลี่ยนและพัฒนา ย่อมตามมาด้วยต้นทุน ประกอบกับผู้ผลิตคอนเทนต์ต้นทางขึ้นราคาในการขายลิขสิทธิ์ต่อเนื่อง

นี่ถือเป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญของธุรกิจเพย์ทีวียักษ์ใหญ่ ท่ามกลางแรงเสียดทานอันมหาศาลที่มาจากหลากหลายปัจจัยที่เข้ามา อย่างไรก็ตาม มีการจับตาถึงการลงทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สมาชิกได้รับอรรถรสการรับชมที่สะดวกยิ่งขึ้นเพื่อแข่งขันกับทางเลือกของผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้น

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในไทยและในระดับโลก หากสิ่งเหล่านี้ยังดำเนินต่อไป แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมในภาพรวมเป็นลูกโซ่

ภาครัฐสูญเสียรายได้ ผู้ให้บริการอย่างถูกกฎหมายต้องล้มหายตายจากไป เพราะต้องแบกรับต้นทุนเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ไม่สามารถสู้กล่องเถื่อนที่เข้ามาชุบมือเปิบได้ ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ใคร แต่เป็นผู้บริโภคที่ต้องพลาดโอกาสได้รับชมคอนเทนต์ดีๆ ไปนั่นเอง

การจัดการปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการกล่องรับสัญญาณที่ผิดกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมกับผู้ให้บริการเพย์ทีวี จึงเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ให้บริการอย่างถูกลิขสิทธิ์สามารถเดินหน้าเพื่อหาคอนเทนต์ดี ๆ มาสู่ผู้บริโภคคนไทยต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/925529
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่