ศาลอเมริกาให้ 'สุภาพ เกิดแสง' ชนะคดีละเมิดลิขสิทธิ์กรณีขายหนังสือมือ2

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ว่า ศาลฎีกานิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาตัดสินเมื่อวันอังคาร ให้นายสุภาพ เกิดแสง อดีตนักศึกษาชาวไทยในมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (ยูเอสซี) ชนะคดีถูกฟ้องร้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนำหนังสือที่ซื้อจากต่างประเทศ มาประกาศขายต่อผ่านอินเทอร์เน็ตแก่นักศึกษาในสหรัฐฯ

คดีของนายสุภาพต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 เขาถูกฟ้องร้องโดยบริษัท 'จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์' ผู้ผลิตหนังสือของสหรัฐฯ ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยศาลชั้นต้นเบื้องต้น คณะลูกขุนเห็นด้วยกับข้อเสนอของบริษัท ที่ให้นายสุภาพจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 17 ล้านบาท) เนื่องจากจงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท ขณะที่ศาลอุทธรณ์ก็ยืนคำตัดสินตามศาลชั้นต้น

นายสุภาพต่อสู้จนถึงศาลฎีกา และเมื่อวันอังคารผู้พิพากษา 9 คนลงคะแนนเสียง 6-3 ระบุว่านายสุภาพตีความกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีกว่า และตัดสินให้เขาชนะคดี โดยระบุว่า สิทธิ์ของบริษัทจอห์น ไวลีย์ฯ ในหนังสือดังกล่าว หมดไปนับตั้งแต่สินค้าถูกขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายในต่างประเทศ ภายใต้หลักการ 'first sale dortrine' (กฎของการขายครั้งแรก) ซึ่งให้สิทธิ์ผู้ถือครองลิขสิทธิ์สามารถมีกำไรจากการขายครั้งแรก ไม่นับรวมการขายซ้ำ

มาตราที่ 109 ของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐฯ อธิบายว่า กฎของการขายครั้งแรก สามารถนำมาใช้กับชิ้นงานถูกกฎหมาย ที่ผลิตภายใต้หัวข้อนี้ ซึ่งกล่ายเป็นข้อถกเถียงในศาลว่า วลีดังกล่าวจริงๆ แล้วหมายถึงอะไร โดยฝ่ายบริษัท จอห์น ไวลีย์ฯ ตีความว่า กฎของการขายครั้งแรก นั้นส่งผลต่อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ผลิตในสหรัฐฯเท่านั้น แต่นายสุภาพตีความว่า กฎของการขายครั้งแรกครอบคลุมถึงสินค้าใดๆ ที่ถูกกฎหมาย หรืออีกนัยคือ สินค้าที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

หากตีความตามที่บริษัทจอห์น ไวลีย์ฯ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทบนอินเทอร์เน็ตอย่าง อีเบย์ ผู้ค้าหนังสือมือสอง พิพิธภัณฑ์ แม้แต่ห้องสมุดที่ต้องขออนุญาตเพื่อหมุนเวียนหนังสือ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ

สตีเฟน เบรเยอร์ หนึ่งในผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ตั้งข้อสังเกตว่า มีการตั้งคำถาม ว่ากฎของการขายครั้งแรก มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อ หรือผู้ถือครองลิขสิทธิ์ ของสินค้าถูกกฎหมายที่ผลิตในต่างประเทศ ผู้ซื้อสามารถนำสินค้านั้นมาขายหรือมอบให้ผู้อื่นในสหรัฐอเมริกา โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตผู้เจ้าของลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ และผู้ซื้อหนังสือที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศจากร้านหนังสือมือสอง สามารถนำไปขายซ้ำโดยปราศจากการอนุญาตของผู้ถือลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ ในความเห็นของเรา คำตอบของคำถามนี้คือ ได้

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาล จะกลายเป็นกรณีตัวอย่าง ว่าผู้ซื้อหนังสือรวมถึงผู้ค้าหนังสือ สามารถขายซ้ำสินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศได้ และเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งขายสินค้าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ เพราะจนถึงขณะนี้ ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในสหรัฐฯ ยังเชื่อว่าพวกเขาสามารถขายสินค้าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งมีราคาถูกกว่า และสามารถยับยั้งไม่ให้สินค้าดังกล่าว ถูกส่งกลับเข้าขายในประเทศโดยที่พวกเขาไม่อนุญาต


http://www.thairath.co.th/content/oversea/333615

ผู้รู้ช่วยแจงรายละเอียดของกฏหมายและผลกระทบด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่