โรคเก๊าท์ ที่วัยเก๋าไม่อยากเจอ

เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินและรู้จัก โรคเก๊าท์ แน่นอน และก็คงทราบกันดีว่าอาการของโรคนี้ คือการปวดตามข้อต่างๆ ของร่างกาย แต่เรารู้ลึกรู้จริงแล้วหรือไม่ ว่าจริงๆ แล้วไอ้อาการปวดตามข้อเนี้ย มันมีการแสดงอาการยังไง และอาหารจำพวกสัตว์ปีกเราต้องห้ามทานจริงๆ ใช่หรือไม่ วันนี้ Pantip Share เรามีคำตอบมาให้ทุกท่าน เป็นข้อมูลความรู้จาก นายแพทย์พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ “หมอหมู” ของเรานั่นเอง



เก๊าท์ เป็นภาวะที่มีกรดยูริกในเลือดสูง และมีการตกตะกอนของกรดยูริกในข้อและอวัยวะต่างๆ ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า และมักจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนในผู้หญิงจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน

โรคเก๊าท์เป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือควบคุมอาการได้ถ้ารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น หลีกเลี่ยงสาเหตุนำที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และรับประทานยาติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ


อาการและอาการแสดง
- มีการอักเสบของหลังเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ หรือ ข้ออื่น
- เกิดการอักเสบฉับพลัน โดยข้อที่อักเสบจะ บวม แดง ร้อน และ ปวดมากชัดเจน หลังจากได้รับการกระตุ้นจากสาเหตุต่างๆ

ข้อที่อักเสบจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง และข้อมักจะอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง ผิวหนังในบริเวณข้อที่มีการอักเสบจะมีลักษณะแห้งและบวมแดงเป็นมัน บางคนอาจจะมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว อาการอาจค่อยๆ ทุเลาไปได้เองจนหายสนิท ระหว่างที่ไม่มีอาการจะไม่มีความผิดปกติใดๆ ให้เห็น

- ระยะแรกจะมีการอักเสบครั้งละ 1-2 วัน เป็นข้อเดียว ปีละ 1-2 ครั้ง (ร้อยละ 60 จะมีอาการอีกภายใน 1 ปี) ถ้าไม่ได้รับการรักษา การอักเสบจะเป็นถี่ขึ้น จำนวนวันที่อักเสบนานขึ้น เป็นหลายข้อพร้อมกัน และกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง มีก้อนผลึกกรดยูริก ทำให้ข้อผิดรูปและข้อเสียอย่างถาวรได้
- ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดนิ่วในไตได้ ประมาณร้อยละ 20 และมีโอกาสเกิดไตวายได้ ประมาณร้อยละ 10
- ในผู้ที่เป็นมานานก็อาจมี ก้อน ซึ่งเกิดจาก การตกผลึกของกรดยูริกใต้ผิวหนัง ในตำแหน่งต่างๆ เช่น ข้อศอก ข้อเท้า ใบหู ซึ่งถ้าก้อนใหญ่ก็อาจจะแตกและมีสารคล้ายชอล์กสีขาวออกมา แต่ถ้าก้อนไม่แตกเองก็ไม่ควรไปผ่า
- ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้แสดงว่าเป็นโรคเก๊าท์แบบรุนแรง เช่น ปริมาณกรดยูริกในเลือดสูง มีก้อนผลึกกรดยูริก เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย มีอาการไตอักเสบ หรือมีนิ่วในไต เป็นต้น


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเก๊าท์
- ประวัติความเจ็บป่วย อาการ และอาการแสดงของการอักเสบ โดยเฉพาะถ้าอาการดีขึ้นจากยาโคชิซีน
- เจาะน้ำในข้อเพื่อตรวจผลึกของกรดยูริก
- ตรวจกรดยูริกในเลือด ปกติผู้ชายน้อยกว่า 7 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงน้อยกว่า 6 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เอกซเรย์กระดูกหรือข้อ ในระยะแรกจะปกติ แต่ในรายที่เป็นมากเป็นมานานจึงจะพบความผิดปกติ

การวินิจฉัยโรคเก๊าท์โดยอาศัย ประวัติ และลักษณะอาการแสดง ไม่ได้อาศัยการเจาะตรวจยูริกในเลือด

ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดทุกคน เพราะถึงแม้ว่าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูงแต่ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้เป็นโรคเก๊าท์ แต่ถ้ามีประวัติและอาการของโรคเก๊าท์ ถึงแม้ว่ากรดยูริกในเลือดไม่สูงก็จะรักษาแบบโรคเก๊าท์


มีผลการวิจัย พบว่า
- ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเก๊าท์ มีระดับกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับปกติ
- ร้อยละ 20 ของคนปกติ (ไม่มีข้ออักเสบ) มีระดับกรดยูริกสูงกว่าค่ามาตรฐาน

แพทย์จะเจาะเลือดเมื่อจะให้ยาลดการสร้างกรดยูริกหรือยาเพิ่มการขับกรดยูริกเพื่อดูว่าตอบสนองต่อยาดีหรือไม่ หรือเพื่อดูว่าจะหยุดการรักษาได้หรือยัง (จะหยุดยาเมื่อระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)


สาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ
- การบาดเจ็บ หรือ ข้อถูกกระทบกระแทก
- อาหารไม่ได้ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ แต่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้
     1. เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก (ไก่ เป็ด ห่าน) น้ำต้มกระดูก กุ้งชีแฮ้ ปลาหมึก หอย ซุปก้อน น้ำซุปต่างๆ กะปิ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลาอินทรีย์
     2. พืชบางชนิด เช่น ถั่วต่างๆ เห็ด กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก สะตอ ผักโขม หน่อไม้ ผักคะน้า แตงกวา
     3. ของหมักดอง เหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ
     4. อากาศเย็นหรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้าหรือก่อนฝนตก เป็นต้น
     5. ยา เช่น แอสไพริน ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ (ซึ่งใช้เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง)

สำหรับอาหาร ต้องบอกไว้ก่อนว่า คนที่เป็นโรคเก๊าท์ ไม่ใช่ว่าต้องเลี่ยงอาหารทุกอย่างตามนั้น เพราะ ของแสลงที่กระตุ้นให้เกิดอาการแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วผู้ที่รักษาต่อเนื่อง คุมอาการได้ดีก็สามารถทานอาหารได้ทุกอย่าง เพียงแต่อาหารบางอย่างอาจจำกัดปริมาณ จึงต้องคอยสังเกตว่า อาหารอะไรที่เป็นของแสลงสำหรับตนเองแล้วก็หลีกเลี่ยง

ปัจจุบันนี้ มีแพทย์หลายท่านเชื่อว่า ไม่ต้องจำกัดอาหารแล้ว เนื่องจากปริมาณสารพิวรีน (ที่จะกลายเป็นกรดยูริกในร่างกาย) นั้น มีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองในแต่ละวัน แต่เท่าที่คุณหมอหมูได้รักษาผู้ป่วยมา พบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่มีอาการอักเสบของข้อเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากที่ได้รับประทานอาหารบางอย่าง (ของแสลง) คุณหมอจึงแนะนำให้สังเกตและหลีกเลี่ยงของแสลงนั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้หยุดหมดทุกอย่าง เพราะถ้าหยุดหมดก็ไม่มีอะไรกินกัน ยิ่งในผู้สูงอายุก็ทานอะไรไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็น ความดัน เบาหวาน หัวใจ ก็จะกลายเป็นการทรมานคนไข้ขึ้นไปอีก


แนวทางการรักษา
1. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน
2. ลดการใช้งานของข้อที่อักเสบ ถ้าในช่วงที่มีอาการปวดอาการอักเสบมาก อาจจำเป็นต้องใส่เฝือกชั่วคราว
3. รับประทานยา ซึ่งจะแบ่งเป็น
     3.1 ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ยากลุ่มนี้จะเป็นยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบเท่านั้น ไม่ได้รักษาโรคโดยตรง จะใช้ในช่วงที่มีอาการปวด อาการอักเสบมาก เมื่ออาการอักเสบลดลงก็ไม่จำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้อีก
          ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้คือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจพบอาการบวมบริเวณหน้า แขน ขา ได้

     3.2 ยารักษาโรคเก๊าท์โดยเฉพาะ มีชื่อเรียกว่า "โคชิซีน" ในช่วงที่มีอาการอักเสบมากก็อาจจะต้องรับประทานในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้นด้วย
          ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเป็นผื่นคัน ซึ่งถ้าเกิดมีอาการข้างเคียงมากก็จะต้องลดปริมาณยาลง หรือ หยุดยาไว้ก่อน ยานี้ยังใช้เป็นยาป้องกันการอักเสบด้วย ซึ่งจะต้องรับประทานวันละ 1-2 เม็ด ติดต่อกันเป็นเวลานาน 1-2 ปี

     3.3 ยาลดการสร้างกรดยูริก และ ยาเพิ่มการขับถ่ายกรดยูริก ซึ่งจะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 1-3 ปี ยากลุ่มนี้จะใช้เมื่ออาการอักเสบของข้อดีขึ้นแล้ว (ข้อไม่มีอาการบวมแดง ไม่มีอาการปวดข้อ ไม่มีไข้) เพราะถ้าใช้ยากลุ่มนี้ในขณะที่กำลังมีการอักเสบจะทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้น ขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้จะต้องดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต
          ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือ ผื่นผิวหนัง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ในผู้ป่วยที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ กิน ๆ หยุด ๆ จะเสี่ยงต่อการแพ้ยามากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาอย่างสม่ำเสมอได้
          ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร ผู้ที่มีนิ่วในไตหรือนิ่วในถุงน้ำดี

4. ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อที่อักเสบ จะใช้ในกรณีที่มีการอักเสบอย่างรุนแรง และผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้เท่านั้น เพราะการฉีดยาเข้าข้อจะมีผลเสียค่อนข้างมาก เช่น มีโอกาสติดเชื้อในข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง เกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบข้อจะลีบเล็กลง ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาเข้าข้อ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
http://cmu2807.bloggang.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่