วิจัยชี้โซเชียลมีเดีย ตัวการบั่นทอนความสุขของเด็กวัยรุ่น


        ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sheffield เผยผลวิจัยในการประชุมประจำปีของ Royal Economic Society ในเมืองบริสโทล โดยระบุว่า เด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแชตบนเฟซบุ๊ก (Facebook) สแนปแชท (Snapchat) วอทสแอป (WhatsApp) และอินสตาแกรม (Instagram) นั้น มีความสุขไม่มากนักในเรื่องทางวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงเรียน เรื่องภาพลักษณ์ เรื่องครอบครัว และเรื่องชีวิตส่วนตัว โดยนักวิจัยพบว่า สิ่งที่เด็กมีความสุขมีเรื่องเดียว คือ เรื่องสัมพันธภาพกับเพื่อน
       
       นักเศรษฐศาสตร์พบว่า การใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงต่อวันบนโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น สามารถทำลายความสุขที่เด็กๆ ควรจะมีกับชีวิตของตนเองลงไปประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ขณะที่การสำรวจขององค์กรอื่นๆ ก็ให้ผลไปในทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การสำรวจของ BBC ที่พบว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปีที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือข้อมูลของ Ofcom ได้เคยรายงานเอาไว้พบว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 8-11 ปี และ 12-15 ปีนั้น มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน โดยคิดเป็นจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยที่ 3.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแซงหน้าการดูทีวีไปแล้วด้วย
       
       นักวิจัยได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การเข้าโลกออนไลน์ได้ทำให้เด็กๆ เกิดการเปรียบเทียบทางสังคม และรู้สึกไม่ดีกับคนอื่นได้
       
       “ปัญหาของการใช้งานสื่อออนไลน์ คือ ผู้คนพยายามนำเสนอตนเองในด้านที่ดีเลิศ หรือภาพในเชิงบวก ซึ่งทำให้คนที่เข้ามาดูรู้สึกว่า คนที่โพสต์ข้อมูลเหล่านั้น มีความสุขมากกว่าตนเอง” ฟิลิป โพเวลล์ (Philip Powell) หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ผู้ร่วมทำงานวิจัยชิ้นนี้เผย “ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่น ผลกระทบนี้จะยิ่งร้ายแรง”
       
       “การกลั่นแกล้งกันบนโลกไซเบอร์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของเด็กที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยมีการพบว่า เด็กที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากมักจะตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying มากขึ้น” ฟิลิป โพเวลล์กล่าวสรุป

บทความจาก : MGR Online
http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000036361
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่