ห้ามนั่งแค็ป การเลียนแบบกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วจะทำให้เราได้ดี?


ข้าพเจ้ามองว่า การห้ามโดยสารในแค้ป(ห้องสัมภาระ)หรือการนั่งในกระบะหลัง ของรถกระบะมันไม่ได้มีส่วนอย่างมีนัยยะสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุเลย
เป็นเพียงแต่การ ลดโอกาสเกิดความรุนแรง จากการเกิดอุบัติเหตุในรถยนต์กระบะแค่นั้น



เนื่องจาก ต้องเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นก่อน และอุบัติเหตุนั้นต้องมีรถยนต์กระบะเป็นคู่กรณี
กลไกจากการบังคับใช้กฎฯ ห้ามนั่งในแค็ปหรือกระบะ จึงจะมีส่วนต่อไป
และอย่าลืมว่า ยานพาหนะบนท้องถนน ก็มิได้มีแต่รถยนต์กระบะเท่านั้น


ถ้ารัฐฯกังวลต่อสถิติอุบัติเหตุจริง กระผมบอกว่านี้คือการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุได้หรือไม่

เพราะความจริงแล้วยังมี การบังคับใช้กฎหมายที่ป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ อีกหลายอย่างที่ควรจะกระทำในเชิงป้องกัน
มากกว่าการลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุของรถยนต์กระบะเท่านั้น

ยกตัวอย่างการป้องปรามเชิงรุกเพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ (ไม่ใช่ลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุแล้ว)

แก้ไขกฎหมายให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดกฎฯจราจร  
ผลที่ตามมาคือ เมื่อประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎฯจราจร สามารถร้องทุกข์ในฐานะผู้เสียหาย และดำเนินคดีนั้นได้ด้วตนเอง
เช่น เมื่อท่านพบเห็นรถยนต์ขับขี่ด้วยความคึกคะนอง แซงในเส้นทึบ ปาดหน้ารถที่วิ่งในทาง อาจเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน หากท่านมีกล้องบันทึกหน้ารถยนต์ ท่านสามารถนำภาพเหตุการณ์นั้นไปร้องทุกข์ยังสถานีตำรวจได้ทันทีภายในสามเดือน และพนักงานสอบสวนต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทันที หรือ หากท่านเห็นว่าสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนไม่แน่นหนา ท่านสามารถนำภาพถ่ายวิดิโอมาฟ้องคดีต่อศาลด้วยวาจาได้เอง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
(ปัจจุบัน ความผิดจราจรเป็นอาญาแผ่นดิน รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินการทางคดีได้เอง หรือแม้กระทั่งรถชนคนตายญาติก็ยังไม่สารถเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการเพื่อติดตามคดีได้  ยกตัวอย่างคดีกระทิงดอง ความผิดฐานขับรถโดยประมาทฯญาติผู้เสียหายไม่สามารถทำอะไรทางคดีได้เลย ต้องขึ้นอยู่กับ ตำรวจกับอัยการเท่านั้น)


หากเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จากเดิมเมื่อมีการขับรถที่น่าจะเกิดอุบัติเหตุประชาชนเช่น เราๆท่านๆ ทำได้แค่ดู หรืออย่างเก่ง ก็นำวิดิโอมาลงเฟชบุ้ค หรือพันทิป
แล้วก็รอให้เป็นกระแสเพื่อให้จนท.ดำเนินคดีกับผู้นั้น จะกลายเป็น
ผู้ขับรถเช่นนั้น อาจถูกดำเนินคดีโดยผู้พบเห็น ดังนั้นการขับรถเช่นว่าก็จะลดน้อยลง โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็ย่อมน้อยลงตาม

นี้เป็นแค่หนึ่งวิธีการ หนึ่งความคิด ยังมีวิธีการอีกมากมายในการ ลดและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การพัฒนาขนส่งมวลชน การปรับปรุงคุณภาพรถรับจ้างสาธารณะ ฯลฯอีกมากมาย
เชื่อเถอะไม่มีใครอยากนั่งกระบะหลังหรอกครับท่านถ้ามีทางเลือก ร้อนก็ร้อน หน้าก็ดำ ผมก็เหนียว ฝุ่นอีก ควันท่อที่ย้อนมาก็เหม็นปวดหัว

ดังนั้นหากท่านสร้างทางเลือกในการเดินทางขึ้นมา หากทางเลือกนั้นดีกว่า คนเค้าก็ไม่นั่งหรอกครับ กระบะหรือแค็ป
ดังเช่นประเทศที่เจริญแล้ว ที่ท่านอ้างว่าเค้าก็บังคับกฎหมายเช่นนี้ ขอให้ท่านไปดูระบบขนส่งมวลชน เศรษฐกิจของประชากร ระดับรายได้ คุณภาพชีวิตของเค้าให้รอบด้าน แล้วค่อยนำมาปรับใช้กับบ้านเรา มิใช่การลอกเลียน

ในสมัยหนึ่งเรามีนายกที่ท่านคิดว่าท่านมีโอกาสมากกว่าใครๆในประเทศ คือ มีโอกาสได้เดินทางไปในประเทศต่างๆ พบเห็นสิ่งต่างๆ มากกว่าคนไทยหลายคน แล้วต้องการให้ประเทศไทยเจริญทัดเทียมประเทศเหล่านั้น รู้มั้ยครับท่านทำอย่างไร?

ท่านนำกฎหมายของประเทศนั้นๆมาออกเป็นกฎบังคับใช้ในไทยโดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ เช่น สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้สวมหมวก สวมรองเท้า หากสตรีคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ ห้ามส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ห้ามเล่นดนตรีไทยบนพื้น ฯลฯ

ปัจจุบันท่านยังเห็นกฎหมายเหล่านี้บังคับใช้อยู่หรือไม่ครับ?
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

นั้นคือการนำมาใช้

อีกอย่างหนึ่งคือ การรับเอาโดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

ขอยกตัวอย่าง ล้นเกล้ารัชกาลที่๕

ท่านทรงมีสายพระเนตรที่กว้างไกลจากการเสด็จประพาสยุโรป และประเทศต่างๆ
แต่พระองค์ก็ไม่ถือว่ารู้ดีกว่าประชาชน ที่จะรู้ว่าอย่างไหนดีหรือไม่ดี
พระองค์ทรงรู้ว่าการนำวิถีปฎิบัติ กฎ ข้อบังคับต่าง มาบังคับในทันทีย่อมไม่ถูกต้อง
แต่สิ่งที่จะนำมา ต้องผ่านกระบวนการรับเอา คือปรับเปลี่ยน ปรับปรุง ให้เหมาะสมแก่ขนบธรรมเนียมและภูมิประเทศนั้นๆ
และสิ่งนั้นก็จะมีประโยชน์ยาวนาน เสี้ยวธุลีหนึ่งแห่งพระมหากรุณาธิคุณ เช่น

การร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากเป็นผู้นำสมัยนี้ คงยกกฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วมาทั้งดุ้น เช่นเดียวกับที่จะบังคับในขณะนี้

แต่ในสมัยนั้น เพื่อให้ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้วได้มีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งของไทยและ จ้างนักกฎหมายชาวต่างประเทศที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายบุคคลสำคัญ เช่น นายโรลัง ยัคมินส์ ขาวเบลเยี่ยม นายโตกิจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวลังกา และนายยอร์ช ปาดู ชาวฝรั่งเศส เพื่อนำกฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสม
นี้คือวิธีการที่ถูกต้อง เรียกว่า ซิวิไลซ์เซชั่น มิใช่การยกมาทั้งดุ้น ดุ้นใดดุ้นหนึ่งแต่อย่างใด


ไม่มีใครรู้ดีทุกเรื่อง เก่งกาจทุกเรื่อง เชี่ยวชาญทุกด้าน นอกจากผู้นำบางท่าน
และหากสังเกตแม้เพียงนิดจะรู้ว่าผู้นำเหล่านั้นมีลักษณะร่วม เช่นไร


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

การที่จะนำหรือเลียน กฎหมายต่างประเทศมาบังคับนั้นเป็นการง่าย มากกว่าการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงให้เข้ากับความเหมาะสมก่อนนำมาใช้
และข้ออ้างที่ว่า ให้ดูประเทศที่เราก้อปปี้กฎหมายข้อนั้นข้อนี้มานั้นเจริญแค่ไหนนั้นเป็นข้ออ้างที่มักง่ายและไร้ความรับผิดชอบ

เหมือน แม่ของบางบ้านชอบนำลูกของตนเองไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่น แล้วเอากฎเกณฑ์ของบ้านอื่นมาใช้กับลูกตัวเอง (แต่ตัวเองกลับไม่ใช้กฎเกณฑ์ของบ้านนั้น) แล้วบอกว่าลูกบ้านนั้นทำอย่างนั้นแล้วสอบได้ที่1 ลูกบ้านนี้จึงต้องทำตาม

การดูและนำมานั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องนำมาแบบบูรณาการ คือนำมาแบบเป็นระบบผ่านกระบวนการรับเอาที่ถูกต้อง มีการปรับปรุงให้เหมาะสม
มิใช่นึกจะเอาส่วนไหนก็เอามาแล้วบอกว่านี่คือการเอามาจากประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าเราทำตามแล้วจะเจริญแบบเค้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่