ความจน - ความรวยในพระพุทธศาสนา

ความจน - ความรวยในพระพุทธศาสนา
หนึ่งในความยากลำบากที่น่ากลัวที่สุดในการดำเนินชีวิตของคนในระหว่างที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดก็คือ ความยากจน เพราะว่าความยากจนเป็นสิ่งที่บีบคั้นให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างขึ้นในโลก




หนึ่งในความยากลำบากที่น่ากลัวที่สุดในการดำเนินชีวิตของคนในระหว่างที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดก็คือ ความยากจน เพราะว่าความยากจนเป็นสิ่งที่บีบคั้นให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างขึ้นในโลก ความยากจนเป็นความลำบากทั้งกายและใจอย่างแสนสาหัสที่เกิดจากการไม่มีทรัพย์ บางคนถูกความยากจนบีบคั้นอย่างหนัก เพื่อให้ได้ทรัพย์มาใช้เลี้ยงชีวิตของตนและคนในครอบครัวให้ผ่านไปในแต่ละมื้อ แม้ต้องยอมตนเป็นคนรับใช้ผู้อื่นก็ยินยอมคนจนต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกายและน้ำตาจากความเจ็บช้ำน้ำใจเพื่อแลกกับปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีวิต บางคนยอมเสี่ยงชีวิตทำงานหนักทั้งที่ยังป่วย บางคนยอมขายอวัยวะเพื่อแลกกับเงินมาซื้อข้าวกิน

     ชีวิตของคนจนจึงเป็นชีวิตที่ต้องทนกับความร้อนและความหนาวของสภาพดินฟ้าอากาศให้ได้ ทนความยากลำบากให้ได้ ถ้าทนไม่ได้บางคนถึงกับต้องอดตาย นี้คือสภาพของคนจนที่ไม่มีวันบรรยายได้หมดสิ้น พอ ๆ กับเสียงร่ำไห้ของคนยากจน ที่ไม่เคยเว้นวรรคแม้แต่นาทีเดียวในโลกนี้

     ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ทรงปรารถนาให้ใครเกิดมาเป็นคนยากจนพระองค์ทรงต้องการให้มนุษย์รื้อผังความจนออกไปจากชีวิตให้หมดสิ้น และทรงชี้โทษของความจนไว้ต่าง ๆ นานา รวมทั้งทรงพรรณนาถึงคุณของการแก้ปัญหาความจนอย่างถูกหลักวิชาไว้มากมาย ซึ่งหากกล่าวโดยย่อมี ๓ ประการดังนี้

     ๑. พระพุทธองค์ทรงตำหนิความยากจนไว้ใน “อิณสูตร”
     ๒. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ความยากจนบีบคั้นให้มนุษย์ทำความชั่วได้ง่าย
     ๓. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย
โดยสามารถอธิบายรายละเอียดแต่ละหัวข้อได้ดังนี้

๑. พระพุทธองค์ทรงตำหนิความยากจนไว้ใน “อิณสูตร”

     ในเรื่องการสร้างตัวสร้างฐานะของชาวพุทธนั้น พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามชาวพุทธรวย ในทางตรงข้าม พระองค์ทรงห้ามชาวพุทธยอมแพ้ต่อความยากจน โดยถึงกับทรงแจกแจงความทุกข์ของคนจนอย่างหมดเปลือก เพื่อให้ชาวพุทธเห็นโทษภัยของความยากจน ใครอยู่ในวัยที่กำลังสร้างตัวสร้างฐานะจะได้ไม่เกียจคร้าน ส่วนผู้ที่ตั้งหลักฐานได้แล้วจะได้ไม่ประมาทในการสร้างบุญ ดังปรากฏอยู่ในอิณสูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงความจนไว้ว่า “ความเป็นคนจนเป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก” และทรงอธิบายไว้ดังนี้

      ๑) ความจนเป็นทุกข์ของคนในโลกที่ยังครองเรือนอยู่
      ๒) คนจนเข็ญใจยากไร้ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก
      ๓) ครั้นกู้หนี้แล้วก็ย่อมต้องใช้ดอกเบี้ยแม้การต้องใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลก
      ๔) คนจนเข็ญใจยากไร้ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การถูกตามทวงหนี้ ก็เป็นทุกข์ในโลก
      ๕) คนจนเข็ญใจยากไร้ เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวงแล้วยังไม่มีให้ พวกเจ้าหนี้ก็เลยติดตามแม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ในโลก
      ๖) คนจนเข็ญใจยากไร้ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันจะให้ พวกเจ้าหน้าที่ก็จับเขามาจองจำเสียแล้ว แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลก

      การที่พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้ เพราะต้องการเตือนสติให้ชาวพุทธทั้งหลาย “ไม่ประมาท” ในการดำเนินชีวิต คือ

     ๑) ให้กลัวความยากจน
     ๒) ให้ตั้งใจกำจัดความยากจนอย่างถูกวิธี
     ๓) ให้ป้องกันความยากจนข้ามภพข้ามชาติ
เพราะฉะนั้น เมื่อชาวพุทธมีสติระลึกนึกถึงอันตรายของความยากจนอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ประมาทเอาแต่ขยันหาทรัพย์อย่างเดียวแต่ “ต้องสร้างตัวสร้างฐานะเป็นจนกระทั่งรวยทรัพย์ และขยันทำบุญเป็นจนกระทั่งบรรลุธรรม” ใครก็ตามที่ดำเนินตามหลักวิชานี้ ย่อมได้หลักประกันว่า นับแต่นี้ไป ตราบใดยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ถือกำเนิดในวัฏสงสาร แม้ยังไม่อาจกำจัดกิเลส จนกระทั่งบรรลุธรรมเข้าพระนิพพาน แต่ก็จะไม่ตกระกำลำบาก ไม่ต้องพบกับความยากจนอีกต่อไปอย่างแน่นอน
๒. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ความยากจน บีบคั้นให้มนุษย์ทำความชั่วได้ง่าย

      ชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้ปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงแต่เพราะความยากจนจึงทำให้มีชีวิตลำเค็ญเกิดความขัดสนในการแสวงหาปัจจัย ๔ความหิวและความกลัวตายจึงบีบคั้นให้จิตใจตกอยู่ในอำนาจความชั่วได้ง่าย เป็นเหตุให้แสวงหาทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี แม้ต้องปล้น จี้ ฆ่า ลักขโมย ขายตัวต้มตุ๋น หลอกลวง ค้าของผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติดหรืออื่น ๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์มา ก็ทำได้โดยไม่รู้สึกละอาย ผลสุดท้ายกลายเป็นคนมีนิสัยใจบาปหยาบช้า เพราะทนการบีบคั้นจากความยากจนไม่ไหว

      โดยสรุป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า คนจนจะพ้นจากความยากจนได้ต้องอดทนต่อความยากจนในปัจจุบัน และต้องเอาชนะความตระหนี่ด้วยการหมั่นสั่งสมบุญกุศลไว้ล่วงหน้าอย่าได้ขาดแม้แต่วันเดียวดังคำสอนของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ในพิลารโกสิยชาดก ว่า

      “คนตระหนี่กลัวจนจึงให้ทานไม่ได้ความตระหนี่นั้นจึงเป็นภัยสำหรับคนที่ไม่ให้ดังนั้นพึงกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวครอบงำมลทินใจเสีย แล้วให้ทานกันเถิด เพราะว่าในภพชาติหน้า บุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลายได้”

     เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะพ้นความจนได้นั้นจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า

     ๑. คนยากจน คือ คนขาดแคลนทรัพย์เพราะความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ มีความประมาท ไม่ทำบุญไว้ในอดีตจึงทำให้ต้องมาเกิดเป็นคนยากจนในปัจจุบัน

     ๒. คนอยากจน คือ คนที่มีทรัพย์แต่ต้องไปเกิดเป็นคนยากจน เพราะความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ มีความประมาท ไม่ทำบุญไว้ในปัจจุบัน จึงต้องไปเกิดเป็นคนยากจนในอนาคต

     ๓. คนจนยาก คือ คนที่ยากจะพบกับความยากจน เพราะไม่มีความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ ไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน ย่อมจะได้ไปเกิดเป็นมหาเศรษฐีในอนาคต
๓. พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย

      ความรวย หมายถึง การมีทรัพย์

      ความรวยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

     ๑) ความรวยทางโลก เรียกว่า “โลกิยทรัพย์” คือ การมีทรัพย์สิน เงินทอง สมบัติพัสถานมากมาย และมีความสามารถใช้จ่ายทรัพย์นั้นได้อย่างมีความสุข

     ๒) ความรวยทางธรรม เ รียกว่า “อริยทรัพย์” มี ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

     ความรวยจึงมิใช่สิ่งเลวร้ายแต่อย่างใดแต่เป็นความสุข ความปลื้มใจ เป็นลาภอันประเสริฐ ผู้ที่ปรารถนาความรวยสมควรที่จะวางเป้าหมายไว้ที่การแสวงหาทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์มาไว้เป็นของตน

      ในทางพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ความรวยหรือทรัพย์ที่ตนเองมีนั้น มีไว้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลต่าง ๆ คือ

     ๑) เพื่อเลี้ยงตนให้เป็นสุข
     ๒) เพื่อเลี้ยงบิดามารดาให้เป็นสุข
     ๓) เพื่อเลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ และบริวารให้เป็นสุข
     ๔) เพื่อเลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข
     ๕) เพื่อบำเพ็ญทักษิณาทานในสมณพราหมณ์ ซึ่งหมายความว่า เรายิ่งมีทรัพย์มากเท่าไร เรายิ่งสามารถใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ทั้ง ๕ ประการนี้ได้มากเท่านั้น ผลที่ได้จากการใช้ทรัพย์เช่นนี้ย่อมทำให้เราได้ผลบุญมากไปด้วย


      ดังนั้น กล่าวโดยสรุปแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนจน แต่สอนให้คนรู้จักตั้งตนตั้งฐานะให้รวยอย่างสุจริต อันเป็นการทำประโยชน์ในชาตินี้ให้สมบูรณ์ และเมื่อรวยแล้วก็ควรรวยอย่างมีเป้าหมาย คือ นำทรัพย์ไปสร้างบุญต่อ เพื่อสร้างประโยชน์ในภพหน้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะเป็นโอกาสให้เราได้เดินไปสู่เป้าหมายคือการบรรลุมรรค ผล นิพพานในที่สุด
จากหนังสือ GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่