***รายงานวิจัยเรื่อง “พุทธศาสนากับการฆ่าตัวตาย”***

อ้างอิง
http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/maturot.htm
----

รายงานวิจัยเรื่อง “พุทธศาสนากับการฆ่าตัวตาย”
โดย นางสาวมธุรส   มุ่งมิตร
การวิจัยในครั้งนี้ได้ผลการวิจัยสรุปดังนี้
                                ในทางพุทธศาสนาการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตายถือว่าเป็นบาปเป็นการผิดศีลข้อที่ 1 ว่าด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ เพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดการสร้างอกุศลกรรมให้ติดตัวไป  การฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเพราะแรงเจตนาของบุคคลนั้นๆ โดยเกิดจากสภาพจิตใจที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติ เช่น ความผิดหวัง ความน้อยใจ ความเครียด ความกดดัน ฯลฯ ประกอบกับมีปัญหามากมายมารุมเร้า ซึ่งผู้ที่คิดฆ่าตัวตายไม่อาจทนรับสภาวะเหล่านั้นได้จึงคิดอยากจะหนีไปให้พ้นเสีย ไม่อยากทุกข์ทรมานต่อไป เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าในชีวิตของตนเอง ไม่มีเป้าหมายในการดำรงชีวิต หมดความอดทนในการต่อสู้ปัญหา และที่สำคัญขาดสติยับยั้งชั่งใจในการตัดสินใจ และคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่แท้ที่จริงแล้วการฆ่าตัวตายไม่ใช่หนทางสุดท้ายในการแก้ปัญหา นอกจากนี้การฆ่าตัวตายยังถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์
                        โดยในทางพุทธศาสนการเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง  เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ควรที่จะภูมิใจในชีวิต ชีวิตของมนุษย์มีคุณค่ามาก เพราะมีมนุษย์เพียงผู้เดียวที่จะมีโอกาสในการชดใช้กรรมให้หมดสิ้นหรือการสร้างความดีเพื่อให้บรรลุพระอรหันต์ สามารถฝึกฝนตนเอง มีโอกาสในการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ดังนั้นการฆ่าตัวตายจึงเป็นการตัดโอกาสที่จะได้ในสิ่งที่พึงได้ในฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์และยังสามารถส่งผลกรรมให้ได้รับความทุกข์ต่อไปไม่รู้จบ ทำให้เสียเวลาในการสั่งสมบารมี รวมถึงยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นและทำให้ผู้นั้นต้องพลอยได้รับความทุกข์เช่นกัน ในด้านสังคมและประเทศชาติถือว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลโดยเปล่าประโยชน์ และประเด็นสำคัญคือเมื่อการกระทำฆ่าตัวตายไม่สำเร็จก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจหรือร่างกายได้รับบาดเจ็บพิการ/ทุพพลภาพได้
                            เนื่องจากการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในสภาพจิตใจของผู้กระทำนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงต้องมีหลักในการพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้อง โดยให้พุทธศาสนิกชนดำเนินชีวิตไปในวิถีที่ถูกต้องตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด  อันเป็นแนวทางการดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ของชีวิต จะได้ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตหรือทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุเป้าหมายของชีวิต รู้จักฝึกฝนตนเองให้มีจิตใจเข้มแข็งและทนต่อสภาวะอารมณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งพระสงฆ์ต้องทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนและเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่บุคคลนั้น เน้นการสอนให้รู้จักพัฒนาจิตใจด้วยการทำสมาธิภาวนาหรือการปลูกฝังคุณธรรมให้รักในคุณค่าของชีวิต สอนให้เข้าใจในหลักคำสอนอริยสัจ 4 อันเป็นหลักความจริงของชีวิต และสร้างกำลังใจให้แก่บุคคลที่กำลังจะคิดฆ่าตัวตาย/ผ่านการฆ่าตัวตายมาแล้ว เพื่อให้สามารถกลับมาใช้วิตในสังคมได้อย่างปกติอีกครั้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่