โรคลมชัก...รักษาให้หายขาดได้

สาเหตุที่ผมต้องการพูดหัวข้อนี้ เพราะว่าในปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดๆพอสมควรที่คิดว่าเมื่อเป็นโรคลมชักแล้วไม่มีวันหายขาด หรือเมื่อเป็นโรคลมชักแล้วต้องทานยาไปตลอดชีวิต

ความเข้าใจข้างบนไม่ได้มีเฉพาะผู้ป่วย หรือบุคคลทั่วไป แม้แต่แพทย์ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาทยังมีความเชื่อแบบนี้จำนวนนึง

จนกระทั่งเร็วๆนี้ในปีพ.ศ. 2557 International League Against Epilepsy - ILAE (สมาคมโรคลมชักระหว่างชาติ – ผมแน่ใจว่าสมาคมนี้มีคนเคยแปลชื่อเป็นภาษาไทย แต่ต่อไปถ้ากล่าวถึงผมขออนุญาตใช้ตัวย่อว่า ILAE นะครับ) ได้กำหนดคำนิยามใหม่ในการวินิจฉัยโรคลมชักรวมถึงให้คำนิยามสำหรับกรณีที่ผู้ป่วยหายจากลมชัก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถถูกวินิจฉัยว่าหายจากโรคลมชักได้

โดยผู้ป่วยที่สามารถหายจากโรคลมชัก จะเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้นะครับ

1.ผู้ป่วยโรคลมชักที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักตามช่วงเกณฑ์อายุขัย (Age-dependent epilepsy) แล้วเมื่อเลยช่วงอายุขัยดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏอาการชักซ้ำ
2.ผู้ป่วยโรคลมชักที่ไม่มีอาการชักติดต่อกันนานเกิน 10 ปี และในช่วง 5 ปีสุดท้ายไม่ได้ใช้ยากันชัก สำหรับผู้ป่วยกลุ่มแรกมักอยู่ในวัยเด็ก โรคลมชักที่พบบ่อยมากที่สุดในกลุ่มนี้คือ โรคลมชักแบบเหม่อลอย (Absence epilepsy) รองลงไปจะเป็นกลุ่มโรคลมชักทีเกิดจากการมีสิ่งกระตุ้น เช่น แสง, เสียง หรือสัมผัสต่าง (Reflex epilepsy)

สำหรับกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่เหลือทั้งหมดของโรคลมชัก โดยไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด ๆ ก็ตามซึ่งในกลุ่มนี้โอกาสหายขาดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม, อาการบาดเจ็บทางสมองร่วม, ความผิดปกติทางสมองแต่กำเนิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่น ๆ

วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักแล้วยังรักษาผิดได้เหรอ ?

สาเหตุที่ผมต้องเน้นข้อความข้างบน เพราะผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนนึงได้รับการวินิจฉัยและการรักษาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องจากแพทย์ที่เชียวชาญโดยตรง หลังการวินิจฉัยโรคลมชักแล้ว ส่วนสำคัญต่อมาคือการหาสาเหตุและการเพิ่มเติมรายละเอียดของอาการชัก

สาเหตุบางอย่างอาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

สาเหตุบางอย่างอาจรักษาได้ด้วยการทานยา

แต่บางสาเหตุอาจรักษาไม่หายซึ่งมีความจำเป็นต้องทานยาหรือร่วมกับการกระตุ้นสมองหรือเส้นประสาท - Responsive Neurostimulation (RNS)/Vagus Nerve Stimulation (VNS)

ณ ปัจจุบันนี้ ยากันชักที่มีใช้อยู่ดำเนินมาถึงยุคที่ 3 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857 ซึ่งมียากันชักตัวแรกผลิตขึ้นมาชื่อว่า Bromide (ปัจจุบันไม่มีใช้แล้วนะครับ เท่าที่ผมทราบ) ด้านล่างเป็นกราฟแสดงยาที่มีมาตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันครับ บางตัวยังคงใช้กันอยู่ แม้ว่ามีอายุร่วม ๆ 100 ปีมาแล้วครับ

http://i65.tinypic.com/2yyxldx.png

ลองดูจากกราฟจะเห็นว่าในช่วงสิบปีหลังมียาตัวใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีต ยิ่งถ้ามองไปถึงยาที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองแล้ว จะมีเป็นจำนวนมากขึ้น 2 – 3 เท่าตัว เนื่องจากอาการชักที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคลมีลักษณะที่แตกต่างกัน ยากันชักแต่ละตัวก็ตอบสนองต่ออาการชักไม่เหมือนกัน

ยากันชักบางกลุ่มทำให้อาการชักแย่ลง
ยากันชักบางกลุ่มตอบสนองจำเพาะต่ออาการชักเฉพาะบางประเภท
ยากันชักบางกลุ่มอาจได้ประโยชน์ในกรณีที่มีปัญหาโรคแทรกซ้อน
หรือยากันชักบางกลุ่มมีข้อห้ามถ้ามีโรคแทรกซ้อนบางประเภท

ข้อมูลที่ผมกล่าวนี้เป็นจริงเสมอครับ แม้กระทั่งทุกวันนี้เวลาผมได้รับการส่งต่อคนไข้จากแผนกต่าง ๆ หรือจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ข้อผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ครับ แต่เราต้องคอยตรวจสอบเสมอเพราะบางทีข้อมูล ณ ขณะนั้นอาจไม่เพียงพอ และข้อมูลเพิ่มเติมอาจปรากฏภายหลังจากการดำเนินโรคผ่านไป

ทำไมต้องรักษาเนิ่น ๆ

ส่วนที่ผมบอกว่าเนิ่น ๆ นั้น สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคลมชักที่รักษาไม่หายหรือมีอาการดื้อยา พบว่ามาจากการที่ปล่อยให้มีอาการชักซ้ำหลายครั้งตั้งแต่แรกเริ่ม ถ้ามองลึกลงไปถึงเหตุผลจริง ๆ ว่าทำไมเมื่อปล่อยให้มีการชักซ้ำบ่อย ๆ แล้วหายยาก จากการศึกษาหลาย ๆ ด้านพบว่า สมองบางส่วนมีการจดจำและเรียนรู้การชักในแต่ละครั้ง อาการชักเพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของสมอง แต่เมื่อเกิดอาการชักถี่สมองจะมีการจัดเรียงการติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสมองใหม่ ทำให้มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักมากขึ้น

สุดท้าย...

    ผมทิ้งข้อความสุดท้ายเรื่องสิ่งกระตุ้นกับอาการชักไว้ต่อคราวหน้า เราจะมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่สามารถนำไปสู่อาการชักได้บ้าง ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ป่วยโรคลมชักนะครับ ผมรวมถึงคนทั่ว ๆ ไปด้วย ทุกคนมีโอกาสเกิดอาการชักได้ ถ้าสมองไม่สามารถปรับตัวเมื่ออยู่ในบางสถานการณ์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่