พิษน้ำมันดิ่ง ซัด! ซาอุฯ ชูธงเก็บ VAT อุ้มประเทศ



"ซาอุดีอาระเบีย" หนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาคอาหรับ เผชิญปัญหาหนักจากราคาน้ำมันตกต่ำ นับตั้งแต่ปี 2014 ส่งผลให้ต้องหยุดโครงการก่อสร้างสำคัญ ๆ เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทั้งยังมุ่งแผนรัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัด


โดย สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุล อาซีซ อัล ซาอูด แห่งซาอุดีอาระเบีย มีพระบรมราชโองการ ลดเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการเป็นอันดับแรก ได้แก่ มาตรการตัดเงินเดือนคณะรัฐมนตรีราว 20% งดขึ้นเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงตัดโบนัสประจำปี


นอกจากนี้ยังหั่นเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค เพื่อรับมือกับการขาดดุลงบประมาณมาโดยตลอด ยิ่งปีที่ผ่านมาขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 98,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2015 และคาดปี 2016 จะขาดดุล 79,000 ล้านดอลลาร์


รวมถึง "สภาชูเราะ" หรือสภาที่ปรึกษาสูงสุดที่กษัตริย์ซัลมานทรงแต่งตั้ง ก็ถูกลดสิทธิประโยชน์ลงราว 15% ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พักอาศัย ค่าเดินทาง รวมถึงค่าเชื้อเพลิงซึ่งนับเป็นการลดค่าจ้างภาครัฐเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้


มรสุมครั้งนี้สร้างความกดดันอย่างหนักต่อรัฐบาลซาอุฯ ให้เร่งคลอดแผนเพื่อตั้งรับกับการขาดสภาพคล่อง และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะ "สมดุล" ภายในปี 2020 โดยรัฐบาลบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ


นอกจากแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจขยายการลงทุนอื่นๆ เพื่อทำให้ซาอุฯลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ขณะเดียวกันรัฐบาลซาอุฯ ก็วางแผนหารายได้เพิ่ม จากนโยบายการจัดเก็บ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" (VAT) 5% จากประชาชน หลังจากที่เป็นประเทศ "ปลอดภาษี" มานาน และรัฐอุดหนุนแทบทุกด้าน แต่ต่อไปนี้ประชาชนชาวซาอุฯ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และสวัสดิการต่าง ๆ ที่ลดลง


โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีซาอุฯ ตัดสินใจอนุมัติแผนการร่วมกับอีก 6 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ได้แก่ บาห์เรน, โอมาน, คูเวต, กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ตามคำแนะนำจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พร้อมตั้งเป้าร่วมกันว่าจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2018


ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต สินค้าประเภท ยาสูบ, น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลังที่อัตรา 50% บรรดาชาติสมาชิกคณะมนตรีได้บรรลุข้อตกลงในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า จะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ภายในปีนี้


อย่างไรก็ตาม ดร.โมฮัมเหม็ด ยามันนี ประธานคณะกรรมการผู้บริหาร Naqa องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) ที่มุ่งวิจัยและศึกษาผู้ที่พฤติกรรมเสพติดบุหรี่หรือยาสูบ เผยว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลซาอุฯ จะปรับเพิ่มเพดานภาษียาสูบ จาก 50% เป็น 100% เพราะต้องการให้จำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ในประเทศลดลง เนื่องจากปัจจุบัน ซาอุฯเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้น ๆ ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงที่สุดในโลก


ทั้งนี้ รัฐบาลซาอุฯ พร้อมจะประกาศนโยบายการจัดเก็บภาษีทันที หลังผ่านกระบวนการพิจารณาขั้นตอนสุดท้ายจากสภา โดยเชื่อว่าการเรียกเก็บภาษียาสูบ จะสามารถทำได้เร็วที่สุดในไตรมาส 2 ของปีนี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวถือเรื่องที่ขัดต่อศาสนาอิสลามอย่างมาก


ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดมากขึ้นว่าสถานการณ์ทางการเงินที่ขาดสภาพคล่องของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายยักษ์นี้กำลังรุนแรงขึ้นในทุกขณะ ประกอบกับที่รัฐบาลมีแผนจะกู้เงิน 10,000 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้นานาชาติ ด้วยการเปิดขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี เพื่อระดมเงินมาชดเชยรายได้จากราคาน้ำมันที่ลดลงและเสริมความมั่นคงของเงินทุนสำรอง


ทั้งนี้ไม่เพียงซาอุฯชาติเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกอาหรับเท่านั้น ที่หันมาอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศ จากการขายพันธบัตรเงินกู้ระหว่างประเทศเพื่อต่อลมหายใจก่อนล่มสลาย รัฐบาลในภูมิภาคเดียวกันอย่าง อาบูดาบี้, กาตาร์ และโอมาน ก็หันมาพึ่งเงินกู้จากตลาดพันธบัตรเช่นเดียวกัน "ความไม่แน่นอน" เหล่านี้จึงเป็นเครื่องการันตีได้บ้างว่า เศรษฐกิจโลกในตอนนี้เข้าสู่ขั้นวิกฤตเพียงใด


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1486539435
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่