JJNY : เศรษฐกิจดี๊ดี ซี้จุกสูญ...ก.คลังเตรียมตั้งโต๊ะแจงเงินคงคลังวูบเหลือแค่ 7.49 หมื่นล้าน เผยต่ำสุดในรอบหลายปี

กระทู้คำถาม
ก.คลังเตรียมตั้งโต๊ะแจงเงินคงคลังวูบเหลือแค่ 7.49 หมื่นล้าน เผยต่ำสุดในรอบหลายปี จากปกติเฉลี่ยอยู่ระดับ 2 แสนล้าน ชี้เหตุเบิกจ่ายพุ่งกระฉูด เพื่ออัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า

จากกรณีนายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Decharut Sukkumnoed ถึง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเครื่อง ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลถังแตก โดยระบุว่า “ขออนุญาตช่วยท่านโฆษกชี้แจงเพิ่มเติมนะครับ ตอนเดือนกันยายน 2557 หลังจากรัฐบาล คสช.เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ตอนนั้นรัฐบาลมีเงินคงคลัง 495,747 ล้านบาท (หรือเกือบห้าแสนล้านบาท) ผ่านไป 2 ปีกว่า เงินคงคลังของรัฐบาล เหลืออยู่ 74,907 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาครับ เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังไม่ถังแตกครับ แค่มีเงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาทเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมว่าในระหว่างเดือน ก.ย.57 จนถึง ธ.ค.59 รัฐบาล คสช.ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาทครับ นึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก 15 ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

ทั้งนี้ มีผู้เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก รวมถึงนายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เข้าไปแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความ “จุ๊บ” ด้วย

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังชี้แจงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยกล่าวว่า ยอมรับว่าเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 มีจํานวน 74,907 ล้านบาท ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปี ปกติสิ้นเดือนธันวาคมช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ เงินคงคลังเฉลี่ยจะอยู่ระดับกว่า 2 แสนล้านบาท มีบางปีพุ่งสูงถึง 3 แสนล้านบาท และบางปีอาจต่ำมาอยู่ในระดับ 1.7 แสนล้านบาท แต่ยังไม่เคยต่ำถึง 7 หมื่นล้านบาทมานานหลายปี ถ้าดูสถิติย้อนหลังก่อนเกิดรัฐประหาร เดือนธันวาคม 2556 เงินคงคลังอยู่ในระดับ 3.24 แสนล้านบาท หลังเกิดรัฐประหารในเดือนธันวาคม 2557 เงินคงคลังอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2558 เงินคงคลัง 3.86 แสนล้านบาท

@ เหตุเก็บรายได้ต่ำเป้า-เบิกจ่ายพุ่ง

“แต่เงินคงคลังในเดือนธันวาคม 2559 ลดต่ำลงมาก เกิดจากเงินรายได้รับ ในช่วงนี้ต่ำกว่าช่วงเดียวกับปีที่แล้วถึง 5.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 22.7% ขณะที่การเบิกจ่ายสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึง 7.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 26.2% น่าสงสัยว่าในเดือนมกราคมไม่มีจัดส่งข้อมูล ซึ่งปกติกระทรวงการคลังต้องแถลงข่าวเงินคงคลัง แต่ถึงตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่ระบุการแถลงข่าว” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) รัฐบาลมีการจัดเก็บรายได้รวม 5.53 แสนล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 9.69 แสนล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุล 4.15 แสนล้านบาท มีการขาดดุลเงินนอกงบประมาณอีก 5.5 หมื่นล้านบาท ส่งให้รัฐบาลขาดดุล 4.7 แสนล้านบาท สาเหตุหลักมาจากไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 6 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลบริหารเงินสดด้วยการกู้มาชดเชยการขาดดุล 1.04 แสนล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด หลังจากกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ยังอยู่ในภาวะขาดดุล 3.66 แสนล้านบาท ขณะที่เงินคงคลังปลายงวดลดฮวบเหลืออยู่เพียง 7.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

@ ผลทุ่มอัดฉีดศก.-คลังแถลง 6 กพ.

“ผลจากการขาดดุลดังกล่าว เป็นผลจากที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงมีโครงการแจกเงินเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยหลายครั้ง นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดทำงบประมาณขาดดุลไม่ได้ลดลงจากเดิม ปีงบ 2560 ขาดดุลปกติ 3.5 แสนล้านบาท และยังจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมอีก 1.9 แสนล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลถึง 5.4 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ในการจัดทำงบกลางปี พบว่ามีการตั้งงบเพื่อคืนเงินคงคลังไว้ถึง 2.7 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐต้องหารายได้เพิ่ม ล่าสุดมีการขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบิน และภาษีน้ำมันเครื่อง มีผลวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อหารายได้เพิ่ม 8 พันล้านบาท เพราะถ้าดูจากการจัดเก็บรายได้ 3 กรมภาษีจนถึงเดือนธันวาคม 2559 ยังติดลบ 5,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยายามโทรสอบถามและส่งไลน์เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังผู้บริหารกระทรวงการคลัง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ มีเพียง น.ส.อรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง ที่ระบุว่าขอให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูล พร้อมจะชี้แจงในวันที่ 6 กุมภาพันธ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่