[CR] SriSoloScan* - ขอวีซ่าเชงเก้นครั้งแรก(สวีเดน) / ผู้หญิงคนเดียวเที่ยวเอง / statementเน่า



ขอแชร์ประสบการณ์การขอวีซ่าเชงเก้นท่องเที่ยว แบบเข้าจากประเทศสวีเดนค่ะ เผื่อใครที่กำลังเตรียมขอเป็นครั้งแรกอาจจะกังวลอยู่ จะได้คลายกังวลและอุ่นใจ ส่วนใครที่เคยขอมาแล้วก็ถือว่าอัพเดทข้อมูลละกันนะคะ

ข้อมูลเบื้องต้น
ทริปนี้เราไปคนเดียว ไป 3ประเทศ สวีเดน(4คืน) เดนมาร์ก(2คืน) นอร์เวย์(4คืน)
ขาไปลงที่สต๊อกโฮล์ม ส่วนขากลับบินออกจากออสโล
ตามระเบียบ ข้อพิจารณาแรก เราจะต้องขอวีซ่าจากประเทศที่เราอยู่นานที่สุด แต่ของเราอยู่สวีเดนกับนอร์เวย์พอๆกัน ดังนั้น ข้อพิจารณาที่สอง เราต้องขอวีซ่าจากประเทศแรกที่เราเหยียบเข้ามาในโซนเชงเก้น นั่นคือ สวีเดนนั่นเอง (คงไม่มีใครเข้าพร้อมกันทีเดียว 2ประเทศหรอกโน๊ะ)

ตามปกติสถานทูตสวีเดนจะพิณาคำร้องจากเอกสารที่ยื่นผ่านศูนย์รับยื่นฯ vfs เท่านั้นนะคะ (ไปยื่นโดยตรงก็เหมือนจะมี แต่เงื่อนไขเยอะ และใช้เวลาพิณามากกว่าปกติอีกมั๊ง)

เอกสารที่ยื่น
1. แบบฟอร์มการขอวีซ่าเชงเก้น – ผู้สมัครจะต้องกรอกเอกสารให้ครบถ้วน และลงลายมือชื่อให้เหมือนในหนังสือเดินทาง
>> ปริ้นจากในเว็บ https://www.vfsglobal.se/Thailand/Tourist.html ได้เลย ตัวอย่างการกรอก เราเสิชหาจากในกูเกิ้ลจ้ะ

2. รูปถ่ายสี 1 ใบ ขนาด(45mm x 35mm) –พื้นหลังสีขาวและถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน รูปถ่ายที่ถูกปรับแต่งภาพมาไม่สามารถใช้ได้
>> ตอนนี้ไม่ใช้แล้ว ที่ศูนย์รับยื่นฯจะใช้ระบบถ่ายรูปและเก็บลายนิ้วมือตอนนั้นเลย แต่นี่พกไปเผื่อ เจ้าหน้าที่ถามว่าจะติดรูปมั๊ย ติดไปก็ไม่ได้ใช้นะครับ เราก็ยังยืนยันว่าจะติด (ก็ถ่ายมาละอ่าาา)

3. หนังสือเดินทางเล่มจริง – ต้องมีอายุเหลืออีกอย่างน้อย 3 เดือนนับจากวันสุดท้ายที่ท่านเดินทางออกจากประเทศในกลุ่มเชงเก้น และต้องมีหน้าว่างในหนังสือเดินทางเหลืออีกอย่างน้อย 2 หน้า หากวีซ่าของท่านได้รับการอนุมัติ วีซ่าจะถูกติดอยู่ในหน้าหนังสือเดินทางที่ยังว่างอยู่ สำเนาหนังสือเดินทางจะต้องแนบอยู่กับแบบฟอร์มด้วย
>> พาสปอร์ตเล่มปัจจุบันของนี่โล่งโจ่งใสสะอาดมาก ไม่มีวีซ่าเลย มีแต่ตราปั้มของรัสเซีย ญี่ปุ่น และตุรกี ตามลำดับ

4. หนังสือเดินทางเล่มเก่า และวีซ่าที่เคยได้รับจากประเทศในกลุ่มเชงเก้น (หากมี) –สำเนาหนังสือเดินทางเล่มก่อนจะต้องแนบมาด้วย
>> นี่ไม่เคยมีวีซ่าเชงเก้น ในพาสปอร์ตเล่มเก่ามีแค่วีซ่าอเมกา กับวีซ่าญี่ปุ่น (ไปมาตั้งกะปี 2011) ก็ยังสะเหร่อถ่ายสำเนาแนบไปด้วย เผื่อจะดูภูมิฐานขึ้น

5. ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า
>> เราจ่ายไปทั้งหมด 3,030฿ จำแนกเป็น ค่าขอวีซ่า 2,300฿ + ค่าดำเนินการผ่านvfs 470฿ + ค่าส่งไปรษณีย์(กรณีไม่มารับเอง) 200฿ + ค่าบริการsms (ซึ่งมีส่งมาแจ้ง 2ข้อความถ้วน) 60฿

6. หนังสือรับรองการทำงาน หรือ สัญญาการว่าจ้างงานต้นฉบับ (ถ้ามี) – เอกสารนี้ ต้องระบุตำแหน่งงาน ระยะเวลาของสัญญาว่าจ้าง อัตราเงินเดือนที่ได้รับ และระบุรายละเอียดจากนายจ้างว่าอนุญาตให้ลาได้เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่
ในกรณีที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือ เป็นเจ้าของธุรกิจ – กรุณาแสดงสำเนาเอกสารจดทะเบียนบริษัทของท่าน/ เอกสารจดทะเบียนพานิชย์จากกรมการค้าภายใน หรือเอกสารรับรองการถือหุ้นส่วน และหลักฐานรายได้ต่อปี
ในกรณีนักเรียน – หนังสือรับรองจากโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ ถ้าผู้สมัครจะเดินทางในช่วงเวลาปิดภาคการศึกษา ผู้สมัครจะต้องแนบเอกสารที่รับรองว่าท่านได้เข้ารับการลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาถัดไปแล้วด้วย
>> อันนี้น่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เราคิดว่าตัวเองดูดีมีภาษีมากที่สุดแล้วในบรรดาเอกสารทั้งปวง เนื่องจากเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ใบรับรองที่ขอมาจากฝ่ายบุคคลนั้นก็ทำให้กังวลอยู่ไม่น้อย ตอนระบุตำแหน่งก็ดีอยู่หรอก บรรจุมาก็ 2ปีละ พอมาเงินเดือนวูบไปนิด ฐานเงินเดือนคือ 18xxx ฿ ค่ะ แล้วระยะเวลาที่ขอลางานก็ไม่ได้ระบุไว้    

7. หลักฐานการเงินที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการพำนักอยู่ชั่วคราวตลอดระยะเวลาในต่างประเทศ – ได้แก่ สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากหรือหนังสือรับรองจากธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อาจเรียกขอเอกสารนี้เพิ่มเติมถึงแม้ว่าผู้รับรองจะระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับผู้สมัครก็ตาม
>> นี่คือส่วนที่เครียดและกังวลมากที่สุด ด้วยที่เป็นคนใช้เงินเดือนชนเดือนตลอด เงินเก็บแทบไม่มี 3เดือนก่อนหน้าที่จะยื่นขอวีซ่า เลยพยายามหมุนเงินผ่านบัญชีให้ดูสมเหตุสมผลมากที่สุด ณ วันที่ไปขอใบรับรองจากธนาคารมีเงินใบบัญชี 56xxx฿ ซึ่ง 3เดือนก่อนหน้านั้นยังมีแค่ 15000 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความบริสุทธิ์ใจ เราถ่ายสำเนาหน้าบุ๊คแบงค์ย้อนหลัง 6 เดือนแนบไปด้วย (ตามสไตล์คนที่ไม่ค่อยอัพเดทสมุด พออัพทีมันจะรวบยอดมาเหลือบรรทัดเดียว ก็ดี๊ ไม่เปลืองค่าถ่ายเอกสาร)

8. สำเนาการจองที่พัก/โรงแรม (ไม่แนะนำให้ผู้สมัครชำระเงินค่าที่พักทั้งหมดก่อนที่วีซ่าจะได้รับการอนุมัติ)
>> จองจากเว็บบุคกิ้งไปก่อนก็ได้ เอาแบบที่ยกเลิกได้ แต่ขอให้จองครบทุกคืนของทั้งทริป เน้นว่าทุกคืน แม้ว่าบางคืนเรากะจะนอนสนามบิน(บินไฟลท์ภายในตอนดึก) เราก็จองที่พักไป

9. สำเนาการจองตั๋วเครื่องบินทั้งเที่ยวไปและกลับ (ไม่แนะนำให้ผู้สมัครซื้อหรือออกตั๋วก่อน แต่ให้รอจนกว่าวีซ่าได้รับการอนุมัติ) – วีซ่าของท่านจะออกให้ตามวันที่ระบุในใบจองตั๋วเครื่องบิน หากวีซ่าได้รับการอนุมัติ
>> ด้วยความที่บินด้วยตั๋วโปรและยังโลว์คอสอีกตะหาก ฉะนั้น ใบจองไม่มีจ้ะ มีเป็นใบเสร็จเลย สำเนาตั๋วที่ยื่นไปเป็นตั๋วเพียวๆซะด้วย คือยังไม่ซื้อน้ำหนักโหลดกระเป๋า ไม่ซื้ออาหารบนเครื่องไรทั้งนั้น เพราะคิดว่าถ้าวีซ่าไม่ผ่านจะได้เจ็บไม่เยอะ แต่ถ้าผ่านค่อยมาซื้อเพิ่มก็ได้

10. สำเนากรมธรรม์ประกันสุขภาพสำหรับการเดินทาง – ซึ่งกรมธรรม์นี้จะต้องมีผลและใช้ได้ในกลุ่มประเทศเชงเก้นและครอบคลุมระยะเวลาทั้งหมดที่ท่านพำนักอยู่หรือระยะเวลาที่ท่านเปลี่ยนเที่ยวบินหรือเดินทางผ่านแดนในกลุ่มประเทศเชงเก้น กรมธรรม์นี้จะต้องคุ้มครองค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลสำหรับเหตุฉุกเฉิน การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับบ้านและต้องมีวงเงินคุ้มครองขั้นต่ำ 30,000 ยูโร
>> นี่ซื้อผ่านเว็บออนไลน์ของ AXA แพคเกจแพงสุด (12วัน 1,100฿) ถ้าตาย แม่ได้สามล้าน

11. แผนการเดินทางอื่นๆในกลุ่มประเทศเชงเก้น และ/หรือ ประเทศอื่นๆ – ใบจองการเดินทาง การเปลี่ยนเที่ยวบิน ใบจองที่พักในประเทศอื่นในกลุ่มเชงเก้น และ/หรือ ประเทศอื่นๆ
>> ยื่นไปเป็นปึกเลยจ้าาาา เริ่มจาก itinerary ที่ทำด้วยใจมุ่งมั่น ตามด้วยใบจองที่พักเรียงตามลำดับวันที่ ควรจองที่พักไว้ทุกคืนนะ ขอเน้น! จะแค่จองไว้ก่อนแล้วค่อยยกเลิกก็ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไล่เช็คตามวันแล้วปาดไฮไลท์ทุกโรงแรม นี่ไป 10คืน นอน 5ที่ๆละ 2คืน มีทั้งจองจาก booking, hostelworld,airbnb และจองตรงกับโรงแรมเอง บางที่แค่จอง บางที่มีมัดจำ บางที่ก็จ่ายเต็มไปแล้ว ปริ้นท์ไปเถอะ อ่อ! ยังมีพวกตั๋วรถไฟ รสบัส เรือ พาสเที่ยวในเมืองที่ซื้อแล้ว โปะๆไปให้หมด


12. กรอกแบบสอบถาม สำหรับวีซ่าท่องเที่ยว
>> มีให้ปริ้นท์จากเว็บเหมือนกัน

เอกสารทั้งหมดนี่ จนจบการขอวีซ่า เค้าคืนกลับมาแค่เล่มพาสปอร์ตตัวจริงอย่างเดียวนะคะ


***รีวิวทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์เฉพาะบุคคล ระยะเวลาและเงื่อนไขการพิจารณาเอกสารอาจจะแตกต่างกันไป พึงระลึกนะคะ ต่างกรรมต่างวาระ***
ชื่อสินค้า:   Schengen visa
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่