ร้านอาหารไทยเฮ! ภาครัฐเตรียมเซ็นสัญญา 'มิชลิน' มาให้ดาวร้านอาหารในไทย

ติดดาวร้านอาหารในไทย
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 26 ม.ค. 2560 06:30

รัฐดึง “มิชลิน” เอาใจนักท่องเที่ยวมีระดับ

รัฐบาลดึง “มิชลิน ไกด์” ช่วยสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวมาไทยแล้วมีการใช้จ่ายด้านอาหารมากขึ้น ด้วยการจัดทำ “มิชลิน ไกด์บุ๊ค แบ็งค็อก” พร้อมกับให้ดาวมิชลินสำหรับร้านอาหารในไทย “ธนะศักดิ์” เผยตอนนี้ในอาเซียนมีเพียงสิงคโปร์ที่เข้าร่วมมิชลิน ไกด์บุ๊ค และไทยจะเป็นประเทศที่ 2

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการประชุมสมาชิกร่วมระหว่างสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ว่า รัฐบาลมีแผนจะผลักดันค่าใช้จ่ายในหมวดหมู่อาหารของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยภายใน 2-3 สัปดาห์จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการที่การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) จะเซ็นสัญญาร่วมมือกับมิชลินไกด์ คู่มือแนะนำโรงแรมและร้านอาหารระดับโลก เข้ามาสำรวจและจัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหารที่ได้รับมาตรฐานของมิชลิน ได้แก่ มิชลิน ไกด์บุ๊ค แบ็งค็อก พร้อมกับให้ดาวมิชลินสำหรับร้านอาหารในไทยด้วย ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

สำหรับงบประมาณที่คาดว่าจะใช้รวมทั้งสิ้น 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 144.5 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นปีแรก 900,000 ดอลลาร์ (ราว 31.7 ล้านบาท) และอีก 4 ปีต่อมาใช้ปีละ 800,000 ดอลลาร์ (ราว 28.2 ล้านบาท) ซึ่ง ครม.จะต้องเห็นชอบให้ ททท.เป็นหน่วยงานที่เข้าไปเซ็นสัญญากับมิชลินในฝรั่งเศส รวมถึงอนุมัติให้บรรจุเป็นงบผูกพันลงในแผนงบประมาณประจำปีของ ททท.ในระยะ 5 ปีต่อไปนี้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลให้การรับรองโครงการดังกล่าวและพร้อมเดินหน้าแล้ว จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่ได้เข้าร่วมกับมิชลิน ไกด์บุ๊ค ตั้งเป้าว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมกลยุทธ์กระตุ้นรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวมาไทยให้เพิ่มได้ถึง 10% เนื่องจากตามปกติ ชาวต่างชาติที่มาไทยจะใช้จ่ายด้านอาหารอยู่ที่ราว 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งด้วยชื่อเสียงของมิชลินที่ยาวนานนับร้อยปี และมีผู้พร้อมตามรอยเข้ามาจำนวนมาก จะทำให้ไทยได้กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพตามที่ต้องการด้วย

นอกจากนั้น หวังผลคู่ขนานในการกระตุ้นให้ร้านอาหารในไทยปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการต่างๆด้วย เนื่องจากมิชลินจะเป็นผู้เข้ามาสุ่มตรวจสอบร้านอาหารต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งระยะเวลาโครงการที่ต่อเนื่อง 5 ปี เชื่อว่าจะทำให้ร้านอาหารต่างๆที่ต้องการมีรายชื่อเข้าไปบรรจุในไกด์บุ๊ค ต้องรักษาคุณภาพของตัวเองให้ได้ในระยะยาวด้วย และไม่ใช่เฉพาะร้านอาหารขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมได้ เพราะจากตัวอย่างที่มิชลินได้ดำเนินการร่วมกับสิงคโปร์ไปแล้วนั้น ร้านอาหารในฟู้ดคอร์ตก็สามารถถูกบรรจุรวมในไกด์บุ๊คได้เช่นกัน หากตรงตามมาตรฐานที่มิชลินตั้งไว้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังจากการทำงานใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชนซึ่งรวมตัวกันในนามของสมาคมท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ แอตต้า สมาคมโรงแรม ทำให้ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมบรรลุตามเป้าหมายที่ 32.5 ล้านคน และในปีนี้คาดว่าจะทำรายได้รวมทั้งตลาดในและต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าจะสูงมากกว่านั้นแน่นอน และพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องจากภาคเอกชน หากต้องการให้ช่วยผลักดันมาตรการส่งเสริมตลาดอย่างไร โดยมาตรการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับ 19 ประเทศที่ดำเนินการไปแล้วและจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ.นี้นั้น ขณะนี้กำลังเตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติต่ออายุมาตรการออกไป ซึ่งตามข้อเสนอในรอบนี้ต้องการระยะเวลาเพิ่มอีก 6 เดือน แต่ขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ในสัดส่วน 17-18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเดิมอยู่ที่ 16% ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาผ่านวิกฤติที่ต้องเผชิญหลายช่วง แต่ได้ความร่วมมือของสมาคมท่องเที่ยวทำงานร่วมกัน และยินดีจะให้ความช่วยเหลือหากมีข้อเสนอใดๆเข้ามาเพิ่มเติม”.
http://www.thairath.co.th/content/844002
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 15
มีใครพอจะทราบหลักเกณฑ์การประเมินดาวของมิชลินไหมครับ รบกวนช่วยกันเข้ามาแชร์ความรู้หน่อยครับ

แต่ในมุมมองผม ผมไม่เห็นความคุ้มค่าที่จะให้มิชลินมาประเมินครับ คนไทยติดการกินอาหารรสจัดแต่ฝรั่งกินไม่ได้ คนไทยว่าอร่อย ฝรั่งว่ารสจัดเกินไปไม่อร่อย ถ้าร้านอาหารไทยแท้ร้านหนึ่งที่ขายดีมากมีคนรอคิวหน้าร้านเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ได้กิน เกิดนึกอยากขอมิชลินสตาร์มาประดับร้านเลยทำเรื่องขอไปจนมีฝรั่งมาประเมินแต่ผลปรากฏว่าไม่ผ่านเพราะฝรั่งกินรสที่พ่อครัวแม่ครัวปรุงสุดฝีมือว่าแซ่บขนาดไม่ได้ล่ะ ถ้ามีใครรู้เข้าว่าตกมิชลินนี่ไม่ถึงขนาดเจ๊งกันไปเลยเหรอครับยิ่งในสังคมที่คนเชื่อโซเชียลมากกว่าข่าวโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์แล้วด้วยผมว่าพังไปหมดแน่นอน แล้วถ้าบางร้านเลือกจะปรับรสชาติเพื่อให้ถูกใจฝรั่งแต่ไม่ถูกปากคนไทยอีกแล้วการได้ดาวมิชลินมาจะมีความหมายอะไร แล้วไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นอีกล่ะครับ ตกลงคนไทยต้องกินอาหารแพงขึ้นด้วยไหมแล้วความมั่นใจในฝีมือพ่อครัวแม่ครัวไทยต้องมาถูกชี้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อยจากฝรั่งไม่กี่คนเหรอครับ ผมว่าเชื่อในปากคนไทยกันเองว่าอันไหนอร่อยดีและง่ายกว่ามากครับ

จากประสบการณ์ที่เคยเจอมาผมว่าเกณฑ์การตัดสินของมิชลินต้องมีหลายอย่างทั้งเรื่องบรรยากาศร้านการบริการและอื่นๆ อีกมากมายครับ รสชาติเป็นเพียงหนึ่งในหลักเกณฑ์มากมายเหล่านั้นแต่คนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจในจุดนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่การไปทานอาหารในร้านหรูมีมิชลินบางครั้งจะรู้สึกว่าตกลงมันไม่อร่อยหรือเราลิ้นไม่ถึงกันแน่ ถ้าเราขอน้ำปลาเค้าจะมีให้เราไหม ฯลฯ จากนิสัยคนไทยผมว่าก็คงเห่ออยู่สักพัก คงแห่กันไปกินแล้วถ่ายรูปลงโซเชียลว่าไปกินหรูมาแล้วสักพักก็ลืมเลือนเรื่องนี้ไป ส่วนชาวต่างชาติก็แค่รู้ว่าร้านนี้เค้ากินได้รสไม่จัดจนกินไม่ไหวแต่จะกินหรือไม่ก็แล้วแต่เค้าครับ ผมเลยมองว่ามันเป็นการลงทุนกับกระแสวูบเดียวเหมือนการจุดพลุที่สว่างวาบขึ้นมาในราคา 144 ล้านแล้วสลายหายไปในเวลาแค่ 2-3 ปี และที่สำคับผมว่าเกิน 95% ของแสงพลุวูบเดียวนี้ก็เป็นเงินของคนไทยที่เห่อตามกระแส กลายเป็นอัฐยายซื้อขนมยายแล้วยก 144 ล้านให้ฝรั่งมันไป คุ้มไหมกับการลงทุนนี้ครับ

ผมว่ามิชลินสตาร์ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ดีให้กับคนไทยมากพอกับงบลงทุนที่ว่ามา แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนที่ยังดูไม่ค่อยจะคุ้มแบบนี้ผมว่าจัดตั้งองค์กรร์อะไรสักอย่างที่จะมารับรองอาหารรสไทยแท้ๆจะดีกว่านะครับ ผมว่าต่างชาติที่เข้ามาเค้าจะสนใจลองเข้ามากินร้านที่มีการรับรองว่าเป็น Original Thai taste มากกว่าจะไปกินอาหารในร้านมิชลินที่จะไปกินที่ไหนในโลกก็ได้ ผมว่าเอาเนื้อแท้วัฒนธรรมมาเป็นจุดขายจะดีกว่าการพยายามเปลี่ยนสิ่งที่เป็นจุดเด่นของเราให้มันเท่ากับค่าเฉลี่ยของคนอื่น ถ้าเที่ยวเมืองไทยแล้วอาหารการกินไม่ได้ต่างไปจากไปเที่ยวที่อื่นแล้วจะมาเที่ยวเมืองไทยทำไมครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่