คดีครูจอมทรัพย์ ... รวบรวมจาก Facebook ของ ท่านผู้พิพากษา Chuchart Srisaeng

คดีครูจอมทรัพย์ ... รวบรวมจาก Facebook ของ ท่านผู้พิพากษา Chuchart Srisaeng ท่านเขียนระหว่าง 16-19 ม.ค. 60 ..
.. สรายุทธ พฤหัส 19 ม.ค. 60
https://ppantip.com/topic/36025635
Chuchart Srisaeng
January 15 at 9:51pm ·
https://www.facebook.com/chuchart.srisaeng
.....ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาลงโทษจำคุกนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร มีกำหนด 3 ปี 2 เดือน ที่กำลังมีการกล่าวขานกันอยู่ในขณะนี้แล้ว มีข้อสังเกตหลายประการ ถ้าเขียนให้จบในครั้งเดียวคงยืดยาวมากอาจจะอ่านกันไม่ละเอียดก่อให้เกิดการเข้าใจผิดได้ จึงจะขอเขียนแบบหลายตอนจบ
.....ข้อสังเกตประการแรก คือ
........คดีนี้มีพยานที่รู้เห็นการณ์ขณะเกิดเหตุคือนางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ มาเบิกความต่อศาลว่า รถยนต์กระบะแล่นแซงหน้ารถจักรยานยนต์ที่พยานขับขี่ล้ำเข้าไปชนรถจักรยานที่ผู้ตายขี่สวนมา แล้วคนขับรถยนต์กระบะหยุดรถ คนขับเป็นผู้ชายเปิดประตูลงมาไปดูผู้ตาย
........นายทวีเลิศและนายสว่างซึ่งเป็นน้องชายของผู้ตายต่างเบิกความว่า นางทัศนีย์มาเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้นายทวีเลิศฟังและบอกด้วยว่า ผู้ที่ขับขี่รถยนต์กระบะชนรถจักรยานที่ผู้ตายขี่สวนมาเป็นผู้ชายและนายทวีเลิศก็มาเล่าให้นายสว่างฟังอีกต่อหนึ่ง
........แต่ในคำให้การชั้นสอบของนางทัศนีย์และนายทวีเลิศไม่มีข้อความระบุไว้ว่า ผู้ขับรถยนต์กระบะเป็นผู้ชาย โดยนางทัศนีย์เบิกความได้บอกเรื่องนี้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว
........องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้ เชื่อคำเบิกความของนางทัศนีย์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่เชื่อเฉพาะคำเบิกความของนางทัศนีย์และนายทวีเลิศในส่วนที่ว่า คนขับรถยนต์กระบะเป็นผู้ชายเนื่องจากไม่มีระบุไว้ในคำให้การชั้นสอบสวนของนางทัศนีย์กับนายทวีเลิศ และไม่เชื่อว่านางทัศนีย์ได้บอกพนักงานสอบสวนว่า ผู้ขับรถยนต์กระบะเป็นผู้ชาย โดยเห็นว่าถ้านางทัศนีย์บอกก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พนักงานสอบสวนไม่บันทึกไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือองค์คณะผู้พิพากษาเชื่อถือพนักงานสอบสวนมากกว่านางทัศนีย์นั่นเอง
........ในวันที่นางจอมทรัพย์ไปออกรายการโทรทัศน์ได้บอกผู้ดำเนินรายการว่าตนเองเห็นพนักงานสอบสวนลบคำให้การของพยานที่ระบุว่า ผู้ขับรถยนต์กระบะเป็นผู้ชายออกไป
.....ขอเล่าประสบการณ์ของผม
..........1 ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้มีคดีอาญาคดีหนึ่ง อัยการโจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า ชั้นสอบสวนจำให้การรับสารภาพ ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยซึ่งพนักงานสอบสวนพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด เพราะในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ ปรากฎว่าคำให้การของจำเลยมีการขีดฆ่าตัวอักษรที่พิมพ์แล้วจำนวนมาก อ่านแล้วก็เป็นไปในทำนองว่าจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ข้อความไม่สอดคล้องกันเลย เมื่อพลิกดูจากด้านหลังที่สามารถอ่านตัวอักษรที่ถูกขีดฆ่าได้ทุกตัวรวมกับตัวอักษรที่ไม่ถูกขีดฆ่าก็จะอ่านได้ความชัดเจนว่า จำเลยให้การปฏิเสธ
..........2 ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลจังหวัดอีกแห่งหนึ่งในภาคกลาง มีคนร้ายขึ้นลักโทรทัศน์ที่บ้านพัก เมื่อไปแจ้งความและให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน โดยเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟังแล้วพนักงานสอบสวนก็พิมพ์คำให้ถ้อยคำของผม แต่เมื่อพิมพ์เสร็จปรากฎว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่ผมให้ถ้อยคำ เมื่อผมทักท้วงเขาบอกว่า ไม่เป็นไรไม่ใช่สาระสำคัญ
..........3 เมื่อปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลฎีกา มีคดีฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ในชั้นศาลให้การปฏิเสธและนำสืบว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพ แต่พนักงานสอบสวนพิมพ์คำให้จำเลยเองแล้วให้จำเลยลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 33 ปี 4 เดือน แต่ชั้นศาลฎีกาผมและองค์คณะไม่เชื่อว่า จำเลยรับสารภาพและเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระความผิด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762/2539 ( เรื่องนี้เคยนำมาเขียนโดยละเอียดครั้งหนึ่งแล้ว )
.....ขอจบตอนแรกเพียงเท่านี้ ขอความกรุณาว่า ถ้าจะแสดงความคิดเห็นขอให้อยู่ในขอบเขตที่เขียนมาและโปรดอย่าใช้คำหยาบนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่