[พระไตรปิฏก] ว่าด้วยเปรียบสิ่งที่ได้เหมือนความฝัน / ว่าด้วยสิ่งต่างๆ ย่อมสลายไปเหลือแต่ชื่อ

จากกระทู้ก่อนหน้า  [พระไตรปิฏก] ว่าด้วยการยึดถือเบญจขันธ์ (ขันธ์5)    http://ppantip.com/topic/35953747




พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวว่า  

                บุรุษตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด ใครๆ
                          ก็ไม่เห็นชนที่รักซึ่งตายจากไปแล้ว แม้ฉันนั้น  






ว่าด้วยเปรียบสิ่งที่ได้เหมือนความฝัน


               คำว่า สิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด มีความว่า สิ่งที่มาประจวบ
คือ สิ่งที่มาปรากฏ มาตั้งอยู่ ประชุมแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน
แม้ฉันใด.
              คำว่า บุรุษตื่นแล้วย่อมไม่เห็น มีความว่า บุรุษผู้ฝันเห็นดวงจันทร์ เห็นดวง
อาทิตย์ เห็นมหาสมุทร เห็นขุนเขาสิเนรุ เห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถ เห็นคนเดินเท้า เห็น
ขบวนเสนา เห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ เห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ เห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ เห็นสระน้ำที่
น่ารื่นรมย์ ครั้นตื่นแล้วย่อมไม่แลเห็นสิ่งอะไรๆ ฉันใด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุรุษตื่นแล้ว
ย่อมไม่เห็น.

             คำว่า ... ชนที่รัก ... แม้ฉันนั้น มีความว่า ศัพท์ว่า ฉันนั้น เป็นอุปไมยยัง
อุปมาให้ถึงพร้อม. คำว่า ชนที่รักคือชนที่รัก ที่ถือว่าของเรา ซึ่งได้แก่มารดา บิดา พี่ชาย
น้องชาย พี่สาว น้องสาว บุตร ธิดา มิตร พวกพ้อง หรือญาติสาโลหิต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ...
ชนที่รัก ... แม้ฉันนั้น.

             คำว่า ย่อมไม่เห็น ... ผู้ตายจากไปแล้ว มีความว่า ชนผู้ตาย ทำกาละแล้ว
เรียกว่าผู้จากไปแล้ว ย่อมไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า
ย่อมไม่เห็น ... ผู้ตายจากไปแล้ว. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          บุรุษตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่มาประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด ใครๆ
                          ก็ไม่เห็นชนที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว แม้ฉันนั้น.
                 พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จากไป
                          แล้ว ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่.



ว่าด้วยสิ่งต่างๆ ย่อมสลายไปเหลือแต่ชื่อ

            คำว่า ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี มีความว่า ที่เห็นกัน
ได้แก่ ชนทั้งหลายมีรูปที่ทราบกันด้วยจักษุวิญญาณ. คำว่า ที่ได้ยินกัน ได้แก่ มีเสียงที่ทราบกัน
โดยโสตวิญญาณ. คำว่า ชนทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายที่เห็นก็ดี ที่ได้ยินชื่อกันก็ดี.

             คำว่า มีชื่อเรียกกัน ศัพท์ว่า เยสํ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์
ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์. คำว่า มีชื่อ คือ มีชื่อที่นับ มีชื่อที่หมายรู้ มีชื่อที่บัญญัติ
มีชื่อที่เรียกกันทางโลก มีนาม มีความตั้งนาม มีความทรงนาม มีชื่อที่พูดถึง มีชื่อที่แสดง
ความหมาย มีชื่อที่กล่าวเฉพาะ. คำว่า เรียก คือ กล่าว พูด แสดง แถลง เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า มีชื่อเรียกกัน.

             คำว่า ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่. มีความว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ อันบุคคล ละไป สละไป ทิ้งไป หายไป สลายไป มีเหลือแต่ชื่อเท่านั้น.
คำว่า ที่พูดถึงกันอยู่ คือ เพื่อบอก เพื่อกล่าว เพื่อพูด เพื่อแสดง เพื่อแถลง เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่า ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่. คำว่า ชนเหล่านั้นที่จากไปแล้ว คือ ตายไป
มีกาละกระทำแล้ว. คำว่า ชน คือ สัตว์ นระ มาณพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์
เกิด ผู้มีกรรม มนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนเหล่านั้น ... ที่พูดถึงกันอยู่.

เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
                          ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จาก
                          ไปแล้วยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่พูดถึงกันอยู่.


                      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความ
                          รำพันและความหวงแหน เพราะฉะนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นความปลอด
                          โปร่ง ละซึ่งความยึดถือได้เที่ยวไปแล้ว.


                คำว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ว่าของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความรำพัน
และความหวงแหน มีความว่า ความโศก กิริยาที่เศร้าโศก ความเป็นผู้เศร้าโศก ความที่จิต
เศร้าโศก ความเศร้าโศกในภายใน ความเศร้าโศกรอบในภายใน ความเร่าร้อนในภายใน ความ
เร่าร้อนรอบในภายใน ความตรอมตรมแห่งจิต โทมนัส ลูกศรคือความเศร้าโศก ของชนผู้ถูก
ความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งโภคสมบัติกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความ
เสื่อมเพราะโรคกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งศีลกระทบเข้าบ้าง ที่ถูกความเสื่อมแห่งทิฏฐิ
กระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง
กระทบเข้าบ้าง.


              คำว่า ความรำพัน คือ ความเพ้อถึง ความรำพัน อาการที่เพ้อถึง อาการ
ที่รำพันถึง ความเป็นผู้เพ้อถึง ความเป็นผู้รำพันถึง ความพูดเพ้อ ความบ่นเพ้อ อาการพร่ำเพ้อ
ความเป็นผู้พร่ำเพ้อ ของชนผู้ถูกความเสื่อมแห่งญาติกระทบเข้าบ้าง ฯลฯ ที่ถูกความเสื่อมแห่ง
ทิฏฐิกระทบเข้าบ้าง ที่ประจวบกับความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใด
อย่างหนึ่งกระทบเข้าบ้าง.

            คำว่า ความหวงแหน ได้แก่ ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ ความตระหนี่
ที่อยู่ ความตระหนี่ตระกูล ความตระหนี่ลาภ ความตระหนี่วรรณะ ความตระหนี่ธรรม ความ
ตระหนี่เห็นปานนี้ อาการที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ประพฤติตระหนี่ ความเป็นผู้ปรารถนาต่างๆ
ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีจิตหดหู่เจ็บร้อนในการให้ ความที่จิตอันใครๆ ไม่เชื่อถือได้ใน
การให้ นี้เรียกว่าความตระหนี่.
อีกอย่างหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความ
ตระหนี่อายตนะก็ดี  นี้เรียกว่าความตระหนี่. ความมุ่งจะเอาก็เรียกว่าความตระหนี่
.

             ตัณหาเรียกว่า
ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า
ความยึดถือว่าของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ
           ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ๑
           ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ


นี้ชื่อว่า ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความยึดถือของเราด้วยทิฏฐิ

ชนทั้งหลายแม้ผู้มีความหวาดระแวงในการแย่งชิงวัตถุที่ถือว่าของเรา
ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศกเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง. เมื่อเขาแย่งชิงเอาไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มี
ความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก คือ ย่อมเศร้าโศก
เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง.

แม้ผู้มีความหวาดระแวงการ
แย่งชิงวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมรำพัน คือ ย่อมรำพันเมื่อเขากำลังแย่งชิงเอาบ้าง เมื่อเขาแย่งชิง
เอาไปแล้วบ้าง. แม้ผู้มีความหวาดระแวงในความแปรปรวนไปแห่งวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมรำพัน
คือ ย่อมรำพันเมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรปรวนไปบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรปรวนไปแล้วบ้าง.

ชนทั้งหลาย
ย่อมรักษาคุ้มครอง ป้องกันวัตถุที่ถือว่าของเรา หวงแหนวัตถุที่ถือว่าของเรา ย่อมเศร้าโศก ไม่ละ
ไม่สละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งความโศก ความรำพัน ความหวงแหน
ความติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ถือว่า
ของเรา ย่อมไม่ละความโศก ความรำพัน และความหวงแหน.

  
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑
ขุททกนิกาย มหานิทเทส







ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า  
ขอให้ผู้ที่อ่านได้ประโยขน์เป็นการ ละสังโยขน์ สามเป็นเบื้องต่ำ ไปสู่นิพพาน อันเป็นบรมสุขด้วยเทอญ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่