(บทความ) แนะนำหนังสือปรัชญาและธรรมะที่นักเล่นหุ้นควรอ่าน

เชื่อว่านักเล่นหุ้นหลายท่านคงเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับหุ้นกันมามากพอแล้ว วันนี้ผมเลยจะขอแนะนำหนังสือแนวปรัชญาธรรมะที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่แทน ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะไม่เกี่ยวกับหุ้นเลย แต่ทว่าอ่านแล้วเราก็อาจจะได้แง่คิดดีๆ เกิดปัญญาและทำให้เราเล่นหุ้นได้อย่างมีสติมากขึ้นครับ

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือแนวธรรมมะ ปรัชญามานาน ทั้งของไทยและต่างประเทศ รู้สึกดีเวลาที่ได้อ่านหนังสือแนวนี้ ยิ่งช่วงเวลาที่เราเครียดๆ พอมาอ่านหนังสือแนวนี้มันทำให้เราหายเครียดและรู้สึกดีขึ้นได้เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือธรรมมะมันคุ้มค่ามาก มันทำให้ผมรู้จักปล่อยวางเวลาที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ หรือในเวลาที่ผมซื้อหุ้นแล้วหุ้นเกิดลงผมก็สามารถตัดสินใจได้อย่างชัดเจนที่จะขายถ้าเกิดผมวิเคราะห์ด้วยเหตุผลแล้วว่าผมเลือกหุ้นผิดตัว หรือบางทีเวลาหุ้นที่เราซื้อราคาขึ้นมากๆในช่วงเวลาอันสั้นผมก็ไม่ได้ตื่นเต้นกับมันมากจนเกินควรและก็ไม่ได้กังวลกับการที่ต้องขายให้ได้ราคาสูงสุดหรือต่ำสุด เพราะรู้อยู่แล้วว่ายากที่จะทำได้และสิ่งเหล่านี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา

ผมขอสรุปข้อดีต่างๆที่ผมคิดว่าผมได้จากการอ่านหนังสือแนวปรัชญาธรรมะเป็นข้อๆดังนี้แล้วกันครับ

1. ช่วยให้เรารู้จัก "ปล่อยวาง" ได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในยามที่เราขาดทุน หรือเวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด
2. ทำให้เรามี "ปัญญา" ในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆด้วยเหตุและผลโดยไม่ใช้อารมณ์ รู้เท่าทันข่าวสารต่างๆ
3. รู้จักการรอคอย คอยจังหวะที่จะซื้อหรือขายตามความเหมาะสม
4. ไม่ซื้อหุ้นปั่นเพราะความโลภ รู้จักการยับยั้งชั่งใจ
5. ทำให้รู้ว่าทุกสิ่งนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้ 



และผมก็มีหนังสือธรรมะที่ผมอยากแนะนำดังนี้ครับ

1. คู่มือมนุษย์ โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือธรรมะเล่มแรกที่ผมซื้อมาอ่าน เนื้อหาเน้นให้เราเห็นกระบวนการเกิดดับของความทุกข์และอารมณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบ ให้เราละความเป็นตัวตนหรืออีโก้ (ซึ่งท่านพุทธทาสมักจะใช้คำพูดว่าละจากความเป็น "ตัวกู ของกู") ท่านได้ย้ำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" และอธิบายให้เห็นว่าหลักการของพระพุทธศาสนานั้นแท้จริงแล้วก็คือการสอนให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้นเอง

2. มังกรเซน โดย วินทร์ เรียววารินทร์
เล่มนี้รวบรวมนิทานเซนไว้หลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องจะให้แง่คิดต่างๆในการใช้ชีวิต นิทานแต่ละเรื่องจะสั้นๆไม่เยิ่นเย้อ บ้างก็เป็นเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น เซน (ZEN) คือพุทธศาสนาอีกแขนงหนึ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองในแถบญี่ปุ่นและอินเดีย Steve Jobs ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยเดินทางไปฝึกเซนถึงอินเดีย สังเกตได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่แกออกแบบจะเน้นความเรียบง่ายแต่ดูดี ซึ่งเพราะแกได้อิทธิพลจาก Zen มาแบบเต็มๆนั่นเอง เพราะว่าแนวทางธรรมะแบบ ZEN นั้นส่วนใหญ่จะเน้นวิธีการที่ลัดสั้นเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ตัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นออก

3. Zen Fresh Zen Bone โดย Paul Reps
หนังสือเกี่ยวกับเซนอีกเล่มหนึ่ง เป็นฉบับภาษาอังกฤษ มีรวบรวมนิทานเซน 101 เรื่อง รวมถึงบทความคำคมต่างๆจากพระอาจารย์เซน

4. Tao Tae Ching โดย Stephen Mitchell
หนังสือต่างประเทศอีกเล่ม เล่มนี้อ่านว่า "เต๋าเต๋อจิง" เป็นสุดยอดหนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งที่หลายคนอ่านแล้วงงกัน แต่เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือการใช้คำอธิบายที่สั้นเรียบง่ายแต่ได้ความหมายยิ่งใหญ่ลึกซึ้ง (และต้องตีความกันเอาเอง แถมแต่ละคนที่แปลหนังสือเล่มนี้ก็แปลไม่ค่อยเหมือนกันเท่าไหร่) ถ้าพูดถึง "เต๋า" หลายคนอาจจะนึกถึงนักพรตลัทธิเต๋าในหนังจีนที่มีคาถาอาคม แต่ผมอยากจะบอกว่าให้ลืมภาพเหล่านั้นไปให้หมดเพราะเต๋าที่แท้จริงมันไม่ใช่แบบนั้น! หนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์ที่เล่าจื๊อแต่งขึ้นเมื่อราว 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีเนื้อหากล่าวถึงธรรมชาติและปรัชญา ว่าด้วยการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งมักจะมีความเกี่ยวข้องกับอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามเสมอ (ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน) ประโยคในหนังสือเช่น

"He who stands on tiptoe doesn’t stand firm. He who rushes ahead doesn’t go far."
"คนที่ยืนด้วยปลายเท้าจะยืนอย่างมั่นคงได้อย่างไร ส่วนคนที่รีบร้อนเพื่อที่จะไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมักจะไปได้ไม่ไกล"

ส่วนตัวผมชอบฉบับภาษาอังกฤษที่แปลโดย Stephen Mitchell มากที่สุด รู้สึกว่าอ่านแล้วใช้ภาษาเป็นปัจจุบันดี (เคยอ่านฉบับภาษาไทยแต่รู้สึกว่าแปลแล้วคำจะแปลกๆ ยังไม่เคยเจอฉบับที่แปลไทยแล้วถูกใจ)

เพื่อนๆนักเล่นหุ้นคนไหนถ้าสนใจก็ลองไปหาหนังสือเหล่านี้มาอ่านดูแล้วกันครับ หวังว่าจะมีความสุขกับการอ่าน มีจิตใจที่เบิกบานผ่องใสและเทรดหุ้นกันอย่างมีความสุขมากขึ้นนะครับ

ที่มา: http://www.slowrich.net
Facebook: http://facebook.com/slowrichthailand

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่