...ธรรมะจากพระผู้รู้... โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ ^^ จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 63 ค่ะ

หัวใจดอกไม้ดอกไม้   ธรรมะจากพระผู้รู้ โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ     ดอกไม้ดอกไม้หัวใจ

จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 63 ค่ะ



ถาม : คุณสันตินันท์ช่วยอธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทด้วยค่ะ (๒)  หัวใจ

ปฏิจจสมุปบาทสายดับ

จิตที่ได้รับการอบรมดีแล้ว เมื่อเกิดทุกข์ขึ้น
มันจะรู้ว่ากำลังเป็นทุกข์ แล้วหาทางออกจากทุกข์
จะไม่ยอมท้อแท้ทอดอาลัยพินาศล่มจมอยู่กับทุกข์นั้นตลอดไป

ผู้ปฏิบัติที่ขาดความชำนาญ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมา
มักจะกระทำ ๒ ลักษณะ คือหนีทุกข์ หรือมิฉะนั้นก็พยายามดับทุกข์
ซึ่ง ๒ วิธีนี้ ผิดทั้งคู่ครับ

คนในโลกเวลาเขาเป็นทุกข์
เขามีวิธีหนีทุกข์ด้วยการเลี่ยงปัญหาหรือเปลี่ยนอารมณ์
เช่น ไปดื่มเหล้า ฟังเพลง ไปเที่ยว หรือวิกลจริตหนีโลกแห่งความจริงไปเลย
แต่ผู้ปฏิบัติมักจะหนีด้วยการเลี่ยงเข้าหาความสงบ
เช่น กำหนดลมหายใจให้จิตสงบลง เป็นการหนีทุกข์ไปคราวหนึ่ง

คนในโลกเวลาเขาเป็นทุกข์ เขาก็พยายามดับทุกข์
เช่น เป็นทุกข์เพราะโกรธใคร ก็หามือปืนไปยิงศัตรูทิ้งเสีย
ถ้ารักใคร หรืออยากได้สิ่งของใด
ก็ล่อลวงฉกชิงเอาด้วยอุบายหรือกำลังบ้าง
การดับทุกข์เช่นนั้น มันก็ดับได้เหมือนกัน เพราะได้สนองกิเลสตัณหาไปคราวหนึ่ง
แต่ผลของการดับทุกข์โดยไม่มีปัญญาเช่นนั้น
ย่อมนำทุกข์อย่างอื่นตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง

นักปฏิบัติจำนวนมากก็พยายามดับทุกข์เหมือนกัน
เช่น ถ้าจิตเกิดความทุกข์ความอึดอัด
ก็ใช้กำลังจิตเข้ากดข่ม เพ่งทำลายความรู้สึกเป็นทุกข์นั้น เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติมักลืมไปว่า การยอมตามกิเลส และการกดข่มกิเลส
เป็นความสุดโต่ง ๒ ด้าน
แท้ที่จริงพระพุทธเจ้าทรงสอนทางสายกลาง
คือท่านสอนให้เรารู้ทุกข์ และละสมุทัยคือตัณหา
แต่พวกเราส่วนมาก มักจะมีตัณหา คือความอยากที่จะละทุกข์
อันเป็นเรื่องสวนทางกับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เมื่อผู้ปฏิบัติรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นในจิตของตน
เห็นจิตหม่นหมอง อึดอัดขัดข้อง วุ่นวาย สารพัดอาการที่จะเป็นไป
ผู้ปฏิบัติสมควรดำเนินตามปฏิจจสมุปบาทสายดับ
คือหาทางดับเหตุแห่งทุกข์ไปตามลำดับ ดังนี้

ขั้นแรกควรทำใจให้สบายเสียก่อน
แล้วมีสติระลึกรู้เข้าไปที่ความรู้สึกเป็นทุกข์นั้น
ก็จะสังเกตเห็นความเป็นตัวเรา แทรกอยู่ในความรู้สึกเป็นทุกข์นั้น

เมื่อจับได้ว่า ความทุกข์กับความรู้สึกเป็นเรา เป็นคนละส่วนกันแล้ว
จิตก็เริ่มถอนตัวออกจากภพที่เป็นทุกข์นั้น
ก็ให้ผู้ปฏิบัติสังเกตต่อไปอีกว่า
จิตยังยึดถือความรู้สึกเป็นทุกข์นั้นหรือไม่
ยังอยากให้ความทุกข์นั้นหายไปหรือไม่
(ในทางกลับกัน ก็รู้ว่า จิตยังยึดถือความรู้สึกเป็นสุขนั้นหรือไม่
ยังอยากให้ความสุขนั้นตั้งอยู่นานๆ หรือไม่)
หากเห็นว่าจิตยังยึด ยังอยาก และความยึด ความอยาก ทำให้จิตเป็นทุกข์
จิตมันจะดับตัณหาคือความอยากโดยอัตโนมัติ
ในทันทีที่มันเห็นจริงว่า ความอยากทำให้มันเป็นทุกข์
ครูบาอาจารย์ทางกรรมฐานบางท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อรู้ทุกข์ ก็เป็นอันละสมุทัยได้โดยอัตโนมัติ


เมื่อจิตหมดความยึดและความอยากต่ออารมณ์นั้นแล้ว
จิตจะรู้เพียงเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือความเป็นกลางของอารมณ์นั้น
โดยไม่เข้าไปยินดียินร้ายด้วย
เวทนาก็ไม่อาจก่อให้เกิดตัณหาได้ เพราะผู้ปฏิบัติเริ่มฉลาดรู้ในอริยสัจจ์แล้ว
คือรู้ว่าถ้าจิตอยาก จิตยึด จิตเองจะเป็นทุกข์แน่นอน

เมื่อจิตรู้เวทนา สักแต่ว่าเวทนา ก็จะเห็นชัดว่า เวทนาเกิดมาจากผัสสะ
ผัสสะเกิดได้โดยอาศัยอายตนะ
และอายตนะจะทำหน้าที่ของอายตนะได้ ก็โดยอาศัยรูปนาม


นานาของขวัญนานาแต่งตัวนานามาลัยนานาก่อทรายนานาเล่นน้ำ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่