สงสัยเกี่ยวกับสมัยที่ก่อสร้างของอาคารต่าง ๆ ในวัดพระแก้วครับ

แต่ก่อนผมเคยคิดว่าอาคารในวัดพระแก้วทั้งหมดสร้างพร้อมกันแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1  เลยแอบสงสัยว่ารัชกาลที่ 1 ท่านทรงเพิ่งฟื้นฟูบ้านเมือง  เพิ่งผ่านการเสียกรุงมายังไม่ถึง 20-30 ปี ท่านจะทรงสร้างวัดวังได้อลังการใหญ่โตขนาดนี้เชียวหรือ  ภายหลังจึงมาถึงบางอ้อว่าอาคารบางหลังเช่น  ปราสาทพระเทพบิดรนั้นแท้จริงแล้วสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4  หรืออย่าง พระปรางค์รายทั้ง 8 สร้างในสมัยรัชการที่ 6

แต่มีหลายอาคารเลยครับที่ผมหาข้อมูลไม่เจอ อย่างมณฑปกับเจดีย์แบบในวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่อยู่บนฐานไพทีเดียวกับปราสาทพระเทพบิดรนั้นก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช่มั้ยครับ  แล้ววัดอีกวัดที่หลังคาเป็นสีเหลืองส้มนี่สร้างในสมัยไหนเหรอครับ  และชื่ออะไรหรอครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
พระมณฑปเป็นอาคารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ครับ เนื่องจากเดิมที่ตรงนั้นเดิมขุดเป็นสระและสร้างหอไตรไว้กลางน้ำ แต่เมื่อฉลองวัดปรากฏว่ามีดอกไม้ไฟไปตก ทำให้เกิดเพลิงไหม้ดีว่าขนตู้พะรไตรปิฎกมุกออกมาได้ทัน จึงมีพระราชโองการให้ถมสระแล้วสร้างเป็นมณฑป มีรั้วล้อมแทน ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาฯ ให้สร้างปราสาทพระเทพบิดร (ในตอนเรียกว่าพุทธปรางค์ปราสาท ด้วยมีพระราชดำริจะให้เชิญพระแก้วมาประดิษฐานที่นี่แทนพระอุโบสถ แต่พอทำแล้วปรากฏว่าที่แคบกว่าพระอุโบนถจะเชิญพระแก้วขึ้น ๆ ลง ๆ ก็เกรงจะเกิดอันตราย จึงระงับเรื่องนี้ไปโดยปริยาย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 จึงให้อัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ทั้งห้ารัชกาลจากพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทมาประดิษฐานที่นี่แทน) ส่วนพระเจดีย์นั้นเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 เช่นกันครับ ด้วยโปรดให้สร้างเลียนแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงเก่า ได้พระราชทานชื่อว่าพระศรีรัตนเจดีย์ มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน (คือมีพระมณฑป พระเจดีย์สลับกัน ส่วนตอนท้ายเป็นปราสาทจัตุรมุข แต่วัดพระแก้วกลับกันคือมีปราสาทพระเทพบิดร มณฑป และเจดีย์) ส่วนโมเสกสีทองมาประดับเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ
อาคารหลังคาที่มุงหลังคาสีเหลืองตัดส้มเรียกว่าหอพระมณเฑียรธรรมครับ เดิมใช้เป็นที่ทำงานของราชบัณฑิต เก็บรักษาตู้พระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพุทธศาสนา (ด้วยแต่ก่อนกรมราชบัณฑิตนอกจากจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านธรรมะแล้ว ยังมีหนา้ที่กำกับการสอบเปรียญด้วย จึงต้องมีคัมภีร์ต่าง ๆ ไว้สำหรับตรวจทาน) เดิมสร้างด้วยไม้ ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาทได้ส่งช่างมาปฏิสังขรณ์ถวาย ดังนั้นอาคารหลังนี้จึงมีกลิ่นอายของวังหน้า คือรวยระกาไม่โค้งแต่เป็นเส้นตรง ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้สำหรับอุบาสกอุบาสิกามาฟังเทศน์และถือศีลในวันธรรมสวนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่