[CR] [CR] กระเตงลูกนอกกรุง มุ่งสู่อุทัยธานี: ต้นผึ้งยักษ์ 200 ปี กระทบกี่ทอที่ชุมชนลาวครั่ง

ทุกวันหยุดที่โอกาสเอื้ออำนวย
เราไม่รีรอที่จะพาลูกๆ เก็บกระเป่าออกเดินทาง
ก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ
ตะลอนชุมชนและสารพัดแหล่งเรียนรู้ ตะลุยทุ่งนา ผืนป่า ลำธาร
ให้วิถีธรรมชาติและจิตวิญญาณพื้นบ้าน ค่อยๆ ขัดเกลาด้วยการลงมือทำ ลงมือเล่น
เพราะเชื่อว่าโลกนี้กว้างเกินกว่าจะเรียนรู้ได้หมดสิ้น




การเดินทางครั้งนี้สู่ดินแดนแห่งผืนป่ามรดกโลก "อุทัยธานี"ใช้เวลานั่งรถจากกรุงเทพฯ เพียงชั่วหนึ่งตื่นของเด็กๆ
ป้ายแรกที่เราแวะมากันคือ "บ้านสะนำ" ในอำเภอบ้านไร่
เด็กๆ ได้พบกับ "ต้นเซียง" ขนาด 30 คนโอบ อายุกว่า 200 ปี
หรืออีกชื่อคือ "ต้นผึ้งยักษ์" ที่ได้ชื่อนี้มา เพราะเมื่อก่อนเคยมีผึ้งหลวงมาทำรังอยู่จำนวนมาก



คุณปู่ต้นเซียงยักษ์ที่มีลำต้นสูงลิ่วสุดสายตา




บทเรียนความรู้วันนี้คือ "พูพอน" การปรับตัวแสนมหัศจรรย์ของต้นไม้ใหญ่ที่ต้องมีรากคำ้ยันเพื่อพยุงลำต้น
ส่วนบทเรียนชีวิตคงเป็นการสะท้อนให้รู้ว่าเมื่อเทียบกับต้นเซียงยักษ์แล้ว มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติเสมอ
ดังนั้น การที่เราจะมีชีวิตที่ยั่งยืน ก็จำเป็นต้องเคารพธรรมชาติ ผู้ให้ชีวิตแก่เรา


เราบอกลาคุณปู่ต้นเซียง แล้วออกเดินทางกันต่อ มาถึง “บ้านนาตาโพ”
ชุมชนที่ยังคงรักษาประเพณีโบราณ และวัฒนธรรมการทอผ้าใส่เองของ "ชนชาติลาวครั่ง" ที่อพยพลงมาจากลาวเมื่อ 200-300 ปีก่อน
พวกเราได้พบกับ "ป้าจำปี" ปราชญ์ชาวบ้านแสนใจดี ศิลปินดีเด่นสาขาช่างฝีมือทอผ้าโบราณ ของจังหวัดอุทัยธานี
ผู้รักในผ้าทอจนยกส่วนหนึ่งของบ้านจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอโบราณ ที่มีผ้าสวยโดดเด่นนับร้อยผืน
เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอดผ้าทออันเป็นภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษต่อไป



เด็กๆ ในพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ


สำหรับลวดลายจะบ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่คู่กับธรรมชาติ
การคงความเป็นตัวตนของลายผ้าแบบดั้งเดิมอยู่ โดยเฉพาะ "ผ้าซิ่นตีนจก"
วัฒนธรรมผ้าซิ่นของลาวครั่งจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนตีน (เชิงผ้าซิ่น)
ซึ่งส่วน "ตีนซิ่นต้องเป็นสีแดงเท่านั้น" ส่วนตัวและหัวจะเป็นสีอะไรก็ได้ความงดงามของผ้าซิ่นตีนจก
ผ้าซิ่นนั้นเป็นการนำเส้นฝ้ายมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยใช้ "ครั่ง"ในการย้อมสีแดง ซึ่งเป็นที่นิยมมาแต่โบราณ
และเป็นที่มาของการเรียกขานตนเองสืบต่อกันมาช้านานว่า "ลาวครั่ง"



ป้าจำปีทอผ้าให้พวกเราดู เห็นสายตาอันตั้งใจของคุณป้ากับผืนผ้าตรงหน้า ก็รู้ว่าคุณป้าสอดความรักลงไปพร้อมเส้นด้ายด้วย




ลวดลายบนผืนผ้าเกิดจากกรรมวิธีที่เรียกว่า "การจก" ซึ่งลวดลายจะขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของผู้ทอ



นอกจากให้โอกาสพวกเราชื่นชมความงามของผืนผ้า ป้าจำปีให้เด็กๆ ได้ทดลองทอผ้า
โดยมีพี่ชายใจดีศิษย์เอกของป้าจำปี “พี่ตัวเล็ก” มาช่วยสอนเจ้าตัวเล็กทั้งสองคน





การเรียนรู้บทนี้ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะทอผ้าเป็น
ทว่าคือการเข้าใจจิตวิญญาณของการทอผ้าว่า ในผ้าแต่ละผืนต้องใช้หัวใจของผู้ทอมากแค่ไหน
ความตั้งใจ ความใส่ใจ หากขาดไปก็ยากจะได้ผ้าทอผืนงามออกมา
การเรียนรู้ภูมิปัญญานับร้อยปีที่ทรงคุณค่า เพราะในผืนผ้าล้วนซุกซ่อนเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตผู้คน
ที่สำคัญที่สุดคือ กว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน มนุษย์ต้อพึ่งพิงธรรมชาติตั้งแต่การใช้ต้นฝ้ายมาทำเส้นด้าย การย้อมสีจากหลากพืชพันธุ์
มือน้อยๆ ที่ร้อยด้ายไม่ค่อยถนัด แต่ค่อยๆ ลองทำและเรียนรู้จักก็เพียงพอ




---------------------------------------------------------------------
ติดตามเรื่องราวการผจญภัยและร่วมเรียนรู้อย่างกัลยาณมิตรอีกหลายเรื่องราวได้ที่  "กระเตงนอกกรุง"
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ชื่อสินค้า:   อุทัยธานี
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่