Center for Film and Media Art

Center for Film and Media Art
โรงภาพยนตร์ที่คนสายหนังเห็นแล้วต้องร้องขอ

พอดีเพิ่งเห็นโครงการนี้น่าสนใจดี เลยเอามาแชร์ให้เพื่อนทุกคนที่ยังไม่รู้ครับ ไม่รู้ว่าปัจจุบันเป็นยังไงบ้างนะครับ
ในส่วนของที่มาจะทิ้งไว้ให้ใต้โพสต์นะครับ


ด้วยรสนิยมส่วนตัวที่มีต่อการเสพหนังนอกกระแส เมื่อถึงคราวต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นจังหวะใกล้กับช่วงที่สังคมกำลังถกเถียงประเด็นการปิดตัวลงของโรงสกาลาและการมาของกรุงเทพฯกลางแปลง น้องแทม กุลจิรา กรรณกุลสุนทร บัณฑิตจบใหม่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งปัจจุบันกำลังบินไป intern ถึงเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก) จึงหยิบยกประเด็นการสร้าง Center for Film and Media Art ศูนย์ภาพยนตร์และสื่อศิลปะ ขึ้นมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเธอ
เนื่องจากแทมเป็นคนเชียงใหม่และมักไปนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจที่อ่างแก้วอยู่บ่อยครั้ง เธอจึงรู้สึกผูกพันกับพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินหญ้าเป็นพิเศษ แทมเล่าให้เราฟังว่าบางครั้งที่อ่างแก้วนั้นจะมีการจัดคอนเสิร์ตหรือฉายหนังกลางแปลงเป็นครั้งคราว ซึ่งสโลปหญ้าที่เธอชอบนี้เองก็ได้กลายร่างเป็นที่นั่งแบบ amphitheater ชั่วคราว ด้วยเหตุนี้แทมจึงมั่นใจว่า topography เช่นนี้จะสามารถตอบโจทย์โครงการของเธอได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่าเมื่อแรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากสถานที่ในเชียงใหม่ ไซต์ที่แทมเลือกนั้นจึงเป็นที่ดินผืนหนึ่งในเชียงใหม่เช่นกัน แต่เหตุผลสำหรับการปักหมุดที่นี่นั้นไม่ได้มีเพียงความผูกพันส่วนตัว แทมให้ข้อมูลกับเราเพิ่มเติมว่าในที่นี่มีกลุ่มคนรักภาพยนตร์กระจุกตัวรวมกันอยู่มากมายทีเดียว และที่สำคัญเชียงใหม่ยังเป็นเมืองที่รุ่มรวยทางศิลปะวัฒนธรรม เธอจึงเชื่อว่าเมืองแห่งนี้จะเป็นสถานที่ที่มีศักยภาพมากเพียงพอสำหรับ public space ขนาดใหญ่ของเธอ
ตำแหน่งของไซต์ที่แทมเลือกนั้นเป็นที่ดินในความครอบครองของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเดิมทีเคยมีแผนว่าจะถูกทำเป็นที่จอดรถซึ่งมีสวนกว้างขวางอยู่ทางด้านหลัง อาคารโดยรอบประกอบไปด้วยหอศิลป์มช. อาคารเรียน Media Art and Design และไนต์มาร์เก็ต ส่วนทางฝั่งตรงข้ามถนนนั้นก็คือหอประชุมของมหาวิทยาลัยนั่นเอง
หนึ่งในเงื่อนไขทางกฏหมายที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการออกแบบคือการห้ามสร้างอาคารสูงกว่า 12 เมตร เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากสนามบินนัก ด้วยข้อกำหนดประการนี้เอง ทำให้แทมเริ่มต้นการออกแบบด้วยการกดพื้นลงไปถึง 3.7 เมตรด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างทางเชื่อมให้คนจากทางโครงการและจากทางฝั่งหอประชุมสามารถเดินเชื่อมต่อไปมาหาสู่กันได้ ซึ่งแทมบอกกับเราว่าตามความตั้งใจของเธอนั้น ทางเชื่อมในส่วนนี้จะเปิดให้สาธารณชนได้ใช้งานตลอดเวลา ไม่ว่าตึกจะปิดหรือเปิดอยู่ก็ตาม

สเต็ปใหญ่ถัดมาคือการตั้งโจทย์ที่เป็นรูปธรรม โดยคำถามที่เธอตั้งไว้ให้ตัวเองในฐานะดีไซเนอร์ก็คือ เธอจะออกแบบโรงภาพยนตร์อย่างไร ให้สามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ศิลปะ และพื้นที่ทางการศึกษาได้ ซึ่งเราขอแอบสปอยล์ให้ฟังสักหน่อยว่าคำตอบที่เธอได้ตอบผ่านผลงานของเธอนั้นเป็นคำตอบที่ดีมากทีเดียว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้โรงภาพยนตร์ที่เคยมีอยู่ค่อยๆล้มหายตายจากไปนั้น แทมแชร์ความเห็นให้เราฟังว่าโรงเหล่านี้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของขนาดไม่มากเพียงพอ เนื่องจากภาพยนตร์ที่คนอยากดูไม่ได้มีเพียงภาพยนตร์ในกระแสหลัก ขนาดของโรงที่หลากหลายจึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอด ด้วยเหตุนี้เอง แทมจึงกำหนดขนาดของโรงภาพยนตร์ของเธอไว้ถึง 4 ไซส์ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ XL ที่จุคนได้ถึง 450 ที่นั่ง ไปจนถึงไซส์ S ที่มีขนาดแสนอบอุ่นสำหรับผู้ชมเพียง 50 เท่านั้น

เนื่องจากมีโอกาสสูงที่โรงขนาด XL จะถูกใช้เป็นโปรแกรมหลักในกรณีที่มีการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์หรืออีเวนต์ใหญ่อื่นๆ แมสก้อนนี้จึงถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับฝั่งไนต์มาร์เก็ตที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้คนสามารถหลั่งไหลไปทางตลาดได้หลังจบงาน ในขณะที่โรงไซส์ S M และ L ก็จะถูกวางไว้ในฝั่งที่เยื้องมาทาง education zone ซึ่งใกล้กับหอศิลป์และอาคารเรียนแทน

เมื่อได้ตำแหน่งแมสสำคัญทั้ง 4 ก้อนมาเป็นที่เรียบร้อย แทมก็จัดการประสานตัวโครงการเข้ากับสวนสาธารณะทางด้านหลังโดยการดึงพื้นที่สีเขียวขึ้นมาไว้บนหลังคาโรง เพื่อให้คนจากทางสวนสามารถเดินมาถึงโครงการได้อย่างไร้รอยต่อ โดยสถาปัตยกรรมของเธอนั้นก็จะซ่อนอยู่ใต้เนินหญ้านั่นเอง

หลังจากนำพาพื้นที่สีเขียวเข้ามาในโครงการได้สำเร็จแล้วหนึ่งฝั่ง ก็ยังเหลือพื้นที่ทางฝั่งถนนที่ยังขาดการเชื่อมต่อ ด้วยเหตุนี้แทมจึงใช้วิธีเดียวกันในการสร้างสโลปหญ้า เกิดเป็น weaving slope เพื่อให้คนจากทางด้านนอกสามารถรับรู้ได้ว่านอกจากตัวอาคาร Center for Film and Media Art แล้ว ก็ยังมีสวนสีเขียวขจีเชื่อมต่อลงมารอต้อนรับอยู่เช่นเดียวกัน โดยแทมบอกให้เราฟังอย่างติดตลกว่าเธอหมดเวลาเกือบทั้งเทอมไปกับการแกะระดับภายในอาคารอันซับซ้อน เนื่องจากเป็นพื้นที่สโลปสูงต่ำแตกต่างกันไปในแต่ละจุด

 
สำหรับการจัดวางโปรแกรมในโครงการนั้น หากผู้ใช้งานเดินเข้ามาจากทางเข้าหลัก สิ่งแรกที่พวกเขาจะได้พบก็คือบริเวณ living space ซึ่งหากดูจาก ground floor plan แล้ว ตามความตั้งใจของแทมคือต้องการให้คนเคลื่อนมาทางส่วนที่เธอไฮไลท์ไว้เป็นสีเหลือง เพื่อไปเจอกับ Ticket Info ก่อนใคร แต่หาก users ท่านไหนเดินเข้ามาจากฝั่ง education zone ก็จะได้พบกับโปรแกรมอย่าง co-working space ห้องสมุดภาพยนตร์ คาเฟ่ และ post-production room สำหรับนักเรียนนักศึกษาเป็นสิ่งแรก

ผู้ที่จะชมภาพยนตร์ในโรงไซส์ M และ L นั้นก็จะต้องใช้บันไดบริเวณฝั่งซ้ายมือของแปลนในการขึ้นไปที่ทางเข้า และสำหรับโรงไซส์ XL ก็ต้องใช้บันไดทางฝั่งขวา ส่วนโรงไซส์ S นั้น อยู่ในตำแหน่งที่ดูเหมือนลอยอยู่เหนือทางเชื่อมชั้นใต้ดิน รอบตัวโรงถูกห่อไว้ด้วย LED Screen ที่สามารถใช้โชว์งานให้ผู้คนทางด้านนอกโครงการได้รับชมไปด้วย

สำหรับในชั้นใต้ดิน นอกจากจะมีทางเชื่อมไปสู่หอประชุมแล้ว ยังมี pre-function zone สำหรับโรงขนาด XL และ food hall คอยรองรับผู้ใช้งาน โดยแทมตั้งใจออกแบบให้บางส่วนของ food hall มีลักษณะเป็น double volume เพื่อให้กลิ่นป๊อปคอร์นหอมยวนใจลอยขึ้นไปกระตุ้นความอยากเสพหนังของเหล่า users ที่ชั้นบนเป็นของแถม

สำหรับภายนอกตัวอาคาร พื้นที่สีเขียวจะไม่ได้ถูกใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายเพียงเท่านั้น แต่พื้นที่บริเวณนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์กลางแจ้งชั่วครั้งชั่วคราวได้ด้วยเช่นกัน

แทมเริ่มต้นขยายความ function ส่วน outdoor ไว้จากการดีไซน์ façade โดยแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นนั้นได้รับมาจาก cinema lightbox หรือกล่องไฟแสดงชื่อภาพยนตร์ของในโรงหนังสแตนด์อโลนในสมัยก่อน ซึ่งในช่วงเวลาทั่วไป façade ของเธอจะมีลักษณะโปร่งแสง แต่เมื่อถึงวาระพิเศษเช่นเทศกาลภาพยนตร์เมื่อไหร่ translucent façade เหล่านี้ก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นจอภาพยนตร์กลางแจ้งได้ทันที ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้เนินหญ้าสามารถใช้งานในลักษณะเดียวกับ amphitheater ตามความตั้งใจแรก แทมจึงออกแบบให้พื้นที่ราบในสวนสามารถนำจอมาตั้งแยกได้ด้วยเช่นกัน

โดยรายละเอียดทั้งหมดทั้งมวลนี้ แทมนิยาม concept ของเธอไว้ว่า “สะป๊ะ Screening สเปซ” ซึ่งเป็นชื่อที่เราถึงกับต้องขอฟังซ้ำและสอบถามถึงที่มาที่ไปด้วยความงุนงง แทมให้คำอธิบายในชื่อ concept น่ารักๆส่วนนี้ไว้ว่าเป็นการเล่นเสียงให้พ้องกับ “สะป๊ะสะเป้ด” ซึ่งแปลความได้ทำนองว่า เยอะแยะไปหมด ในภาษาเหนือนั่นเอง

ก่อนจบการพูดคุย แทมกล่าวถึงประเด็นเชิง feasibility ของตัวโครงการ โดยในเทอมแรกนั้นเธอได้รับฟีดแบ็คจากผู้คนรอบข้างว่าดูแล้ว “ไม่น่ารอด” แน่นอนว่าเนื่องมาจากพฤติกรรมการเสพภาพยนตร์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จะมีก็เพียงทาง Documentary Club เท่านั้นที่เติมไฟให้เธอลุยต่อหลังจากเธอเข้าไปขอข้อมูลเพื่อทำรีเสิร์ช โดยแนะนำให้เน้นไปทางการสร้างร่วมกันกับสถาบันการศึกษาหรือรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมนั่นเอง
Cr.
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

[cent
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่