"Me Before You ทางเลือกของชีวิต"

สำหรับผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว การฆ่าตัวตาย หรือยินยอมให้มีการุณยฆาตก็ตาม ย่อมไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา หลักคิดที่ถูกต้องคือ มองสิ่งที่เกิดขึ้นตามเป็นจริงและยอมรับมัน ใช้โอกาสที่ได้เกิดเป็นสัตว์ประเสริฐนี้ สร้างสรรค์ประโยชน์แก่โลกและสังคม




ภาพยนตร์รักโรแมนติกชื่อดังเรื่องนี้ เปิดเรื่องให้ผู้ชมรู้จักกับ “วิล เทรย์นอร์” หนุ่มในฝันของสาวๆที่ครบเครื่องทั้งเรื่องหน้าตา ฐานะ และหน้าที่การงาน เขาเป็นนักธุรกิจอนาคตไกล ผู้ชื่นชอบการผจญภัย และหลงใหลการใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน

          จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งที่ฝนเทกระหน่ำลงมาไม่ขาดสาย วิลเดินข้ามถนนพลางคุยโทรศัพท์ไปด้วย ทันใดนั้น... รถคันหนึ่งก็พุ่งมาชนอย่างแรง และเปลี่ยนแปลงชีวิตของหนุ่มคนนี้ไปตลอดกาล

          เรื่องราวตัดไปที่เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในเวลส์ “ลูอิซา คลาร์ก” สาวน้อยคุยเก่งและมองโลกในแง่ดีเสมอ กำลังทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านเบเกอรี่เช่นทุกวันที่ผ่านมาตลอดหลายปี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยในชุมชน ซึ่งสื่อให้เห็นว่า เมืองเล็กๆแห่งนี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ที่ใครจะมาใช้ชีวิตอย่างครึกครื้น เพราะเป็นเมืองของคนวัยเกษียณเสียมากกว่า

          แต่ลูอิซาก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนงาน เมื่อเจ้าของร้านเบเกอรี่เลิกจ้าง เธอจึงไปติดต่อสำนักจัดหางานประจำเมือง เพื่อมองหางานใหม่ ปรากฏว่ามีงานล่าสุดที่เพิ่งประกาศ และคุณสมบัติของผู้สมัครก็ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือ การดูแลผู้ป่วย แถมยังให้ค่าจ้างดีเสียด้วย

          ไม่กี่วันถัดจากนั้น ลูอิซาเดินทางไปยังคฤหาสน์ของตระกูล “เทรย์นอร์” สถานที่ทำงานใหม่ เพื่อรับงานดูแลผู้ป่วย ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “คามิลลา เทรย์นอร์” แม่ของ “วิล เทรย์นอร์” หนุ่มหล่ออนาคตไกล ที่ต้องกลายมาเป็นผู้พิการ อัมพาตตั้งแต่ลำคอลงไป จากอุบัติเหตุรถชนไม่กี่ปีก่อนนั่นเอง

          วิลกลายเป็นหนุ่มหนวดเคราครึ้ม นั่งบนรถเข็นไฟฟ้า ทำได้แค่พูด และแสดงสีหน้าอารมณ์เท่านั้น เขามักมีสีหน้าเคร่งขรึม ปราศจากความรู้สึกใดๆ จนเสมือนไร้จิตใจ ไร้ความรู้สึกต่อเรื่องใดๆรอบตัว แถมยังมีอารมณ์ฉุนเฉียวอยู่ตลอด

          งานของลูอิซ่าที่ต้องทำคือเป็นเพื่อนคุย เพื่อให้วิลไม่รู้สึกเหงา ว้าเหว่ คล้ายกับการเยียวยาสภาพจิตใจ รวมถึงช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ เช่น เสิร์ฟอาหาร ให้ยาตามเวลา ส่วนหน้าที่ยุ่งยากด้านกายภาพ เป็นของ “เนธาน” นักกายภาพบำบัดที่คามิลลาจ้างมาดูแลโดยเฉพาะ

          แม้ว่างานใหม่ที่สาวน้อยต้องมารับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ แต่อุปสรรคใหญ่อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอกับผู้ป่วย เพราะวิลดูไม่ค่อยชอบใจบุคลิกสาวบ้านนอกเปิ่นๆ แต่งตัวสีสันฉูดฉาดเหมือนเด็กๆ แถมดูสนุกสนานร่าเริงไปกับทุกเรื่อง

          วันเวลาผ่านไป ลูอิซาก็ยังทำภารกิจอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ช่างพูดคุย ช่างซักถาม ยิ้มง่าย จนกระทั่งวิลเริ่มใจอ่อน เขาค่อยๆเปิดใจในการสนทนามากขึ้น ชวนเธอมาเปิดดูหนังเรื่องโปรดด้วยกัน และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกสนาน

          วิลค่อยๆมีพัฒนาการด้านจิตใจดีขึ้นเรื่อยๆ เขาเริ่มยิ้มง่าย หัวเราะ และมีความสุขเมื่อได้พูดคุยกับลูอิซา ขณะที่สาวน้อยก็รู้สึกดี ที่มีส่วนช่วยเยียวยาความเจ็บป่วยทางใจให้กับเพื่อนใหม่ แม้ว่าสภาพทางกายของวิล ดูจะหมดหนทางรักษาไปแล้วก็ตาม

          ความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างมิตรภาพใหม่ครั้งนี้ ทำให้วิถีชีวิตของวิลเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับลูอิซาที่เริ่มรู้ใจตัวเอง ว่าตกหลุมรักชายหนุ่มไปแล้ว โดยไม่รังเกียจความพิการของเขา ตรงกันข้ามเธอกลับยิ่งอยากดูแลช่วยเหลือ ให้วิลมีความสุขทางใจกับชีวิตในปัจจุบัน

          ลูอิซาจึงคิดที่จะพาวิลออกสู่โลกภายนอก เริ่มจากการออกไปรอบๆคฤหาสน์ จากนั้นก็เริ่มไปในที่สาธารณะ เช่น ไปดูการแข่งม้า ชมการแสดงดนตรีคลาสสิค แม้แต่การยินยอมไปร่วมงานแต่งงานแฟนเก่าของเขา ที่เลิกรากันไปภายหลังที่ชายหนุ่มกลายเป็นคนพิการ

          ความรักระหว่างลูอิซาและวิล ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ในคืนวันเกิดของสาวน้อยอารมณ์ดี เธอชวนเขาไปทานข้าวที่บ้าน ให้ครอบครัวได้รู้จัก เพื่อให้วิลรู้สึกว่าความพิการของเขานั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

          จนกระทั่งการตัดสินใจครั้งสำคัญ ซึ่งก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย ด้วยการเดินทางทำตามความฝัน เมื่อลูอิซาชักชวนวิล รวมทั้งเนธาน นักกายภาพบำบัด ลัดฟ้าไปพักร้อนที่เกาะมอริเชียส หมู่เกาะสุดสวย ทะเลใสๆ รีสอร์ทสุดหรู ราวกับเป็นฮันนีมูนทริปเลยทีเดียว เรื่องราวสุดหวานแสนโรแมนติกที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง อย่างที่หลายคนคาดหวัง แต่ทว่าบทสรุปกลับไม่ใช่เช่นนั้น

          เพราะเรื่องสุดเศร้าที่เกิดขึ้นคือ ลูอิซารับรู้มาตลอดเวลาที่ดูแลวิล ว่าเขาตัดสินใจเซ็นสัญญากับหน่วยงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการยอมจบชีวิตตนเองลงอย่างถูกกฎหมาย ในเมืองเล็กๆของสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีกฎหมายว่าด้วยการุณยฆาต ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยอาการหนัก

          การตัดสินใจของวิล ทำให้หัวใจของลูอิซาแหลกสลายลงไปด้วย เพราะเธอเชื่อมั่นว่าชายหนุ่มที่เธอหลงรัก น่าจะเปลี่ยนความคิดการจบชีวิต หลังจากเธอดูแลเขาเป็นอย่างดีตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

          บทสรุปส่งท้ายของเรื่องนี้ วิลยอมรับว่าตนเองเสมือนเป็นคนพ่ายแพ้ เขาไม่สามารถทนต่อสภาพผู้พิการเช่นนี้ได้ และมักพูดถึงช่วงเวลาดีๆที่มีร่างกายปกติ ว่าสามารถทำอะไรได้มากมาย แต่เมื่อต้องกลายเป็นอัมพาตแทบทั้งตัว มันกัดกร่อนทรมานจิตใจเกินกว่าจะรับไหว เขาจึงขอกล่าวคำอำลาพ่อแม่ และเพื่อนสาวผู้แสนดี

          Me Before You มีบทสรุปในตอนจบประเด็น “การุณยฆาต” คือ การขอให้แพทย์ช่วยทำให้ตนเองได้พ้นทุกข์ ตายไปอย่างไม่ทรมาน (เช่น การฉีดยาให้นอนหลับ และเสียชีวิต)

          แม้ในมุมหนึ่ง ผู้ชมอาจรู้สึกสงสารตัวเอก แต่หากมองในหลักคำสอนของพุทธศาสนา ถือว่าเป็นการกระทำผิดแนวทางคำสอนเป็นอย่างยิ่ง เพราะศีลข้อแรก ว่าด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น ครอบคลุมถึงเจตนายินยอมให้ผู้อื่นมาทำลายชีวิตตนเองด้วย (ซึ่งรวมทั้งการฆ่าตัวตายด้วยนั่นเอง)

          การุณยฆาตจึงนับเป็นบาปประการหนึ่ง โดยเฉพาะหากพิจารณาคำสอนของพระพุทธองค์ว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก ต้องมีบุญกุศลหนุนนำให้ได้กำเนิดเป็นสัตว์ประเสริฐ ทั้งยังเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่สามารถเข้าถึงพระธรรม จนนำไปสู่การดับทุกข์ได้

          จริงๆแล้วความพิการไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของชีวิต ที่ถึงขนาดต้องจบชีวิต เพื่อหนีปัญหา เพราะชีวิตยังมีทางไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเส้นทางนั้นหรือไม่ ดังเรื่องราวชีวิตของบุคคลสำคัญระดับโลกอย่าง “สตีเฟน ฮอว์คิง” นักฟิสิกส์ระดับโลก ผู้เป็นอัจฉริยะด้านวิชาการ และสร้างสรรค์ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ต่างๆมากมาย (มีภาพยนตร์ชีวประวัติของเขา เรื่อง the theory of everything ออกฉายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

          ฮอว์คิงมีอาการผิดปกติด้านระบบประสาทตั้งแต่วัยหนุ่ม จนกระทั่งแพทย์ลงความเห็นว่าเขาไม่น่าจะรอด แต่ทว่าฮอว์คิงกลับทำในสิ่งที่โลกต้องจารึก เขาเอาชนะความพิการทางกายด้วยจิตใจอันเข้มแข็ง มองโลกในแง่ดี แม้ว่าสภาพร่างกายของนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกรายนี้ แทบไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากกระพริบตากับขยับนิ้ว ซึ่งนับว่าย่ำแย่ไม่น้อยไปกว่า “วิล เทรย์นอร์” สักเท่าไร

          แต่ทว่าสุดท้ายแล้ว ฮอว์คิงก็ไม่เคยท้อแท้กับความทรมานทางกาย เขามีอายุยืนยาวมาจวบจนปัจจุบัน เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ ให้ความรู้แก่ผู้คนมากมาย จนโลกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญด้านฟิสิกส์ พร้อมกับเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการที่กำลังท้อแท้ในชีวิต ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง

          ดังนั้น สำหรับผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว การฆ่าตัวตาย หรือยินยอมให้มีการุณยฆาตก็ตาม ย่อมไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา หลักคิดที่ถูกต้องคือ มองสิ่งที่เกิดขึ้นตามเป็นจริงและยอมรับมัน พร้อมทั้งใช้โอกาสที่ตนได้เกิดเป็นสัตว์ประเสริฐในภพนี้ สร้างสรรค์ประโยชน์แก่โลกและสังคม เพื่อสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มากที่สุด ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

          (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 188 สิงหาคม 2559 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)



ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9590000076484
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่