พิจารณาอดอาหาร

“อดอาหาร”

การอดหมายถึงไม่ฉันอาหาร ไม่ออกบิณฑบาต ถ้าสหธรรมมิกสงสารเอาของมาฝาก เช่นนมกล่อง จะฉันก็ได้ ตอนบ่ายถ้ามีน้ำผึ้งน้ำผลไม้ดื่ม จะดื่มก็ได้ ไม่ดื่มก็ได้ ขึ้นอยู่ว่าจะอดหนักขนาดไหน การอดอาหารช่วยทำให้ การภาวนาง่ายขึ้น เดินจงกรมง่ายขึ้น นั่งสมาธิไม่ง่วงเหงาหาวนอน ความเพียรมีมากขึ้น ความเกียจคร้าน มีน้อยลง ความเห็นภัยมีมากขึ้น สติดีขึ้น เพราะต้องคอยควบคุมใจ เวลาอดอาหารใจจะปรุงแต่ง เรื่องอาหารอยู่เรื่อย ต้องคอยดึงให้อยู่กับพุทโธ ถ้ายังพิจารณาไม่เป็น ถ้าพิจารณาเป็น ก็จะพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารที่อยู่ในปากอยู่ในท้อง ก็จะหายอยาก ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีสติไม่มีสมาธิก็จะอดไม่ได้ เพราะจะเห็นอาหารลอยอยู่ในใจตลอดเวลา ถ้ามีสติควบคุมใจได้ ก็จะบังคับให้ภาวนา ถ้าไม่พุทโธก็ต้องพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ถ้าพิจารณาได้แล้วจะไม่มีปัญหา เรื่องอยากอาหารอีกต่อไป จะกินตามความจำเป็นของร่างกาย จะใช้การอดอาหารเป็นแนวทางของการปฏิบัติ จะไม่ฉันตามปกติ เพราะเวลาฉันจะขี้เกียจ จะเห็นความแตกต่างกัน ถ้าอยู่ในวัดการอดอาหารก็จะได้ปลีกวิเวก ไม่ต้องทำกิจร่วมกับหมู่คณะ ที่ต้องออกไปบิณฑบาตทำกิจที่ศาลา กว่าจะเสร็จก็หมดไป ๓ - ๔ ชั่วโมง ตอนนั้นก็สามารถเดินจงกรมนั่งสมาธิ อยู่ตามลำพังในที่พัก

การอดอาหารนี้ถ้าถูกจริต ก็จะเป็นเครื่องมือที่ดี เป็นอาวุธคู่ใจ ใช้ไปจนกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อีกต่อไป ถ้าไม่ถูกจริตก็จะอดไม่ได้ อดแล้วเครียดฟุ้งซ่าน คิดปรุงแต่งแต่เรื่องอาหารตลอดเวลา ไม่ภาวนา เวลาอดอาหารแล้วไม่ภาวนา พอจิตเผลอก็จะคิดแต่เรื่องอาหาร ก็จะหิวจะทุกข์ ต้องขยันภาวนา พอออกจากสมาธิก็จะเดินจงกรมต่อ คอยควบคุมจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องอาหาร จะใช้บริกรรมพุทโธก็ได้ จะใช้สติให้อยู่กับการเดินก็ได้ หรือจะพิจารณาธรรมก็ได้ พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา เปลี่ยนไปตามอัธยาศัย ถ้าใจอยู่กับธรรม ก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ พอพิจารณาจนจิตเริ่มไม่สงบแล้ว ก็หยุด กลับไปนั่งสมาธิใหม่ พุทโธๆไปหรือ ดูลมหายใจไป พักจิต พอจิตสงบความหิวความเหนื่อยทางร่างกายก็หายไป พอจิตออกมาจากสมาธิ ก็จะกระปรี้กระเปร่า มีกำลังวังชา ออกเดินจงกรมต่อ ก็จะได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องไปทำกิจอย่างอื่น กิจอย่างที่ต้องทำคือปัดกวาด ปัดกวาดไปก็ภาวนาไป เหมือนเดินจงกรมไป พุทโธๆไปหรือพิจารณาธรรมไป ถ้าไปคลุกคลีกับหมู่คณะจะคุยกัน พูดเรื่องนั้นพูดเรื่องนี้ จิตจะฟุ้ง พอกลับมาอยู่คนเดียว จิตยังฟุ้งอยู่ ภาวนาไม่ลง ถ้าเผลอสติทนไม่ไหว ก็จะไปหาของกินอีก ถ้ามีสติคุมจิตอยู่ตลอดเวลา ก็จะภาวนาตลอดเวลา จะลืมเรื่องกินไป

พอใจได้อาหารแล้วใจจะอิ่ม ความหิวของร่างกายจะไม่กระทบกับความอิ่มของใจ ถ้าใจหิวถึงแม้ร่างกายจะอิ่ม ก็ยังอยากจะกินอีก ทั้งๆที่ร่างกายพึ่งกินเสร็จไปใหม่ๆ ก็ยังอยากจะดื่มนั้นดื่มนี่ต่อ เพราะใจไม่อิ่ม ไม่ได้รับอาหารคือธรรมะ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ปฏิบัติ ที่จะอดอาหารครั้งละหลายๆวัน ถ้าไม่เคยอดจะคิดว่าอยู่ได้อย่างไร ถ้าอดไปหลายวันก็อาจจะมีของบางอย่างดื่มบ้าง เช่นน้ำปานะน้ำตาล เพื่อให้มีกำลังบ้าง ครูบาอาจารย์ที่ไปอยู่ในป่า ไปธุดงค์ปลีกวิเวกไปอยู่องค์เดียว เวลาท่านอดอาหารหลายวัน ชาวบ้านคิดว่าท่านตาย ไม่ได้ไปบิณฑบาต ต้องมาที่พักดูว่าเป็นอย่างไร ท่านก็ไม่มีอะไรติดตัวไป ท่านก็ดื่มแต่น้ำอย่างเดียว ตอนนั้นจิตของท่านไม่ได้สนใจกับเรื่องอาหาร จิตของท่านอยู่กับธรรมตลอดเวลา เดินจงกรมนั่งสมาธิ ถ้าไม่พิจารณาก็เข้าสู่ความสงบ จิตก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

การปลีกวิเวกจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น ถ้าไปคลุกคลีจะเสียเวลา เพราะจิตจะคิด ทางด้านอื่น จะคุยเรื่องโลกเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสกัน จิตก็จะฟุ้ง จะสงบยาก ถ้าอยู่คนเดียวจะไม่มีเรื่องอื่นมาดึงไป จะอยู่กับธรรมอย่างต่อเนื่อง จะเห็นธรรมชัดขึ้นไปเรื่อยๆ ดินน้ำลมไฟก็จะเห็นชัดขึ้น อสุภะก็จะเห็นชัดขึ้น คือเห็นอย่างต่อเนื่อง เห็นอยู่เรื่อยๆ เวลามองร่างกายก็จะเห็นอสุภะ จนติดตาติดใจ พอจิตจะเห็นว่าสวยว่างาม ก็จะถูกธรรมที่เห็นชัดอยู่นี้ลบออกไปทันที กามราคะจึงอยู่ในใจไม่ได้ ที่อยู่ได้เพราะเราเลี้ยงมัน ชอบคิดแต่ความสวยความงาม ถ้าคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ก็เท่ากับเรากำลังเลี้ยงโมหะอวิชชา เลี้ยงความมืดบอด เลี้ยงความหลง ถ้าคิดว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นความจริงที่จะทำลายความหลง ความมืดบอดที่อยู่ในใจให้หมดไป ไม่มีทางอื่น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือวิปัสสนาหรือปัญญา แต่ต้องมีสมาธิด้วยถึงจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สงบ ถ้าไม่สงบกิเลสจะมีกำลังมากกว่า จะฉุดให้ไปคิดเรื่องโลก คิดถึงลูก คิดถึงสามี คิดถึงภรรยา คิดถึงสมบัติข้าวของเงินทอง ก็จะติดอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เป็นการเลี้ยงกิเลสโมหะความหลง ให้มีอายุยืนยาวนานขึ้น เพื่อครอบครองจิตใจของเราต่อไป

ถ้าคิดในทางปัญญา ก็จะตัดอายุของกิเลสโมหะความหลง ให้สั้นลงไปเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด สติปัญญาสมาธิเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน มีศรัทธากับวิริยะสนับสนุน ต้องมีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ศึกษาแล้วก็ปฏิบัติตาม ด้วยวิริยะอุตสาหะความพากเพียร ปฏิบัติอะไร ก็ปฏิบัติสติสมาธิและปัญญา ถ้ามีธรรมทั้ง ๓ นี้ก็จะมีวิมุตติการหลุดพ้นตามมา เป็นสูตรตายตัวตั้งแต่สมัยพุทธกาล ใครปฏิบัติตามสูตรนี้ได้ก็จะได้ผลอย่างนี้อย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นจะไม่ปรากฏมีพระอริยสงฆ์สาวก มาอย่างต่อเนื่อง ทุกยุคทุกสมัย จนถึงยุคปัจจุบันนี้ เพราะธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เสื่อมไปตามกาลตามเวลา สมัยพุทธกาลปฏิบัติกันอย่างไร สมัยนี้ถ้าปฏิบัติอย่างนั้น ก็จะได้ผลเหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ไม่ปฏิบัติกัน หรือปฏิบัติเพียงเดือนละครั้ง แล้วก็มาบ่นว่าปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเลย ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว ปฏิบัติเดือนละครั้งมาตั้ง ๕ ปีแล้ว ต่อให้ปฏิบัติอย่างนี้อีก ๑๐๐ ปีก็จะไม่ก้าวหน้า

กัณฑ์ที่ ๔๑๑     วันที่  ๒๕ เมษายน ๒๕๕๓

“ธาตุ ๖”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่