หุ้นสื่อสาร จากเก็งผลประกอบการ สู่ประเด็น M&A

กระทู้สนทนา

ภาวะตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (7-11 พ.ย. ) แปรปรวนตามประเด็นที่สลับระหว่างเรื่องต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้ผู้นำคนใหม่ กับทิศทางผลประกอบการหุ้นไทย  และการเกาะติดนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ในภาพใหญ่ แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติเร่งตัวขึ้น พร้อมๆ กับการคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเห็นกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์”  ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในระยะสั้น จึงทำให้เห็นแรงขายเงินบาทและหุ้น “Big cap” ที่แม้งบการเงินจะสดใสในบางบริษัท แต่ต้องฝืน Sentiment การเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติที่กำลังหาจุดสมดุล

หุ้นกลุ่มไอซีที เทรดคึกคักในสัปดาห์ที่แล้ว รับผลประกอบการโอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือที่ออกมากันครบ นำมาสู่การวิเคราห์เปรียบเทียบความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน จุดแข็งจุดอ่อนเพื่อรับมือการแข่งขันที่จะรุนแรงในปีหน้า หรือแม้แต่การเก็งโอกาส M&A ระหว่างโอเปอเรเตอร์

ราคาหุ้นผู้นำกลุ่มอย่าง ADVANC ราคาหุ้นซึมลงตลอดสัปดาห์ รับผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ตามมาด้วยหุ้น TRUE ที่พลิกกลับมาเป็นขาดทุนในไตรมาส 3 จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าตัดจำหน่ายใช้คลื่น 900 MHz ส่วน DTAC ได้ประกาศผลประกอบการไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม ด้วยกำไรสุทธิไตรมาส 3 ลดลง 46% Y/Y แต่เพิ่มขึ้น 366% Q/Q ด้านนักวิเคราะห์ฝากความหวังไว้หากบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรกับ TOT สำหรับการใช้คลื่น 2300 MHz จะเป็นส่วนช่วยเสริมความมั่นคงของจำนวน Bandwidth ในอนาคต

วอลุ่มหุ้น DTAC เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (8 พ.ย.) สนับสนุนราคาหุ้นฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง จนขึ้นไปแตะนิวไฮในรอบ 6 เดือนกว่าเมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) ด้วยมูลค่าซื้อขายทะลุหลัก 5 พันล้านบาท เคียงคู่มากับ TRUE และตามหลังหุ้นขวัญใจขาเทรดอย่าง JAS ที่วอลุ่มพุ่งขึ้นไปยืนเหนือ 6 พันล้านบาท

กระแสข่าวผลักดันราคาหุ้น DTAC ถึงขนาดโยงไปถึงการที่บริษัทฯ ตกเป็นเป้าถูกเทกโอเวอร์โดย TRUE ที่หวังครองส่วนแบ่งทางการตลาดภายใต้ก้อนเค้กหลักแสนล้าน

แหล่งข่าวที่เป็นนักวิเคราะห์พื้นฐานกลุ่มสื่อสาร บอกกับ Money Channel ถึงประเด็นนี้ว่า โอกาสที่จะเห็น TRUE เข้ามาซื้อกิจการ DTAC "มีความเป็นไปได้น้อยมาก" เพราะปัจจุบัน TRUE แบกภาระหนี้สูงจากการได้มาคลื่นความถี่ 900 MHz มูลค่าถึง 7.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ฐานะทางการเงินยังไม่สามารถรองรับกับดีลขนาดใหญ่ได้ และถ้าสมมติว่า TRUE ต้องการเข้าซื้อกิจการจริง คงต้องมีการระดมทุนครั้งใหญ่เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้าที่ได้เพิ่มทุนไปล็อตใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา "TELENOR" ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ DTAC ประกาศทุกครั้งว่าพร้อมจะลงทุนร่วมกับ DTAC และจะไม่ทิ้งธุรกิจอย่างแน่นอน จึงทำให้มองว่าการขายหุ้นของ "TELENOR" ที่ถือครองทั้งหมด 1 พันล้านหุ้น สัดส่วน 42.62% ซึ่งถ้าคิดด้วยราคาหุ้นละ 35 บาท ใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ จะมีมูลค่าถึง 3.5-3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงพอสมควรถ้า TRUE จะเข้ามารับภาระตรงนี้

ในเบื้องต้น ประเมิน TRUE ในส่วนตัวเลขหนี้สินต่อทุน (D/E) ในปี 2563 จะขยับขึ้นไปถึง 1.8-2 เท่า จากการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz โดยแบ่งเป็น :
ปี 2559 จ่าย 8 พันล้านบาท
ปี 2560 ยกเว้น 1 ปี
ปี 2561 จ่าย 4 พันล้านบาท
ปี 2562 จ่าย 4 พันล้านบาท
และในล็อตสุดท้ายในปี 2563 จ่ายอีก 6 หมื่นล้านบาท

"ตอนนี้ข่าวลือเกิดขึ้นเยอะในบิ๊กเนมธุรกิจโทรคมนาคม เพราะก่อนก็ลือกันว่า JAS จะมาซื้อDTAC แต่ก็กลับมาลือว่า DTAC จะไปซื้อ JAS ตอนนี้มาลือกันว่า TRUE จะไปซื้อ DTAC เพราะวอลุ่มทั้ง 2 บริษัทเยอะผิดปกติในเวลาใกล้เคียงกัน แต่เชื่อว่าข้อมูลนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก แม้ในหลักการ TRUE ต้องการขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 แต่ภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูงปี2020 D/E จะโดดขึ้นไปถึง 1.8-2 เท่า ขณะที่มาร์เก็ตแคปขนาดนี้ TRUE คงต้องกู้เงินมาอีก จึงเป็นไปได้ยาก ส่วนหุ้น Big cap ที่โดนผลักดันร้อนแรงขึ้นมาได้นั้น มองว่าด้วยพลังของนักลงทุนรายย่อยก็สามารถทำได้ เพราะมีวอลุ่มมากแล้วไม่เหมือนกับในอดีต ประกอบกับข่าวลือนั้นกระจายจนมีคนเชื่อเหมือนๆ กัน"

จากการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ หลายรายเริ่มให้น้ำหนักการลงทุนดีขึ้นเล็กน้อยกับ DTAC เพราะกำไรสุทธิไตรมาส 3  ที่ 658 ล้านบาท แม้ลดลงถึง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด จนเกิดการเก็งว่าผลประกอบการได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ยังไม่สามารถปลดล็อกได้ คือ DTAC จะหมดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1,800-850 MHz ในปี 2561 ซึ่งจะทำให้เหลือเพียงแค่คลื่นความถี่ 2,100 Mhz เท่านั้น

ดังนั้น ถ้า DTAC เคลียร์ในประเด็นเรื่องคลื่นได้ หรือสามารถได้คลื่นมาใหม่และมีอายุสัญญาที่ยาวขึ้น ก็จะปลดล็อกความเชื่อมั่นให้กับหุ้น DTAC ในระยะยาว

ราคาพื้นฐาน DTAC ตาม Consensus ของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ให้ราคาพื้นฐานเฉลี่ยที่ 34.10 บาท โดยมีนักวิเคราะห์ให้ราคาสูงสุด 52.00 บาท และต่ำสุด 28.50 บาท  

********************************
ทีม Business&Finance, Money Channel


https://www.facebook.com/intuchinvestor/ (FC น้าแอ๊ดน้าอิน) เข้ามาดู

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่