JJNY : บรรยง พงษ์พานิช ชี้ แม้ไม่เห็นด้วยจำนำข้าว แต่การเร่งรัดยึดทรัพย์ ระวัง อาจไม่ยุติธรรม

กระทู้คำถาม
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และกรรมการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โพสต์ความเห็นต่อโครงการรับจำนำข้าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Banyong Pongpanich‘ ระบุว่า

    ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งก็ได้แสดงความเห็นคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่มีการคิดนโยบายเอามาหาเสียง และตลอดเวลาที่ดำเนินนโยบาย ผมก็มีการคัดค้านอย่างเปิดเผยตลอดมา ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ

    1. เป็นการฝืนกลไกตลาด ความคิดที่จะกักตุนเพื่อลดอุปทานตลาดโลกแล้วหวังว่าจะทำให้ราคาดีขึ้นนั้น เป็นความคิดที่ไร้สาระเพราะเราผลิตข้าวเพียง 5%ของโลก ถึงแม้จะส่งออก 30%ของตลาดโลก
    2. จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบน เราจะผลิตข้าวมากขึ้นทั้งๆที่ประเทศไม่ได้มี Comparative Advantage จริง และการอุดหนุนอย่างนี้จะลดความกดดันที่จะให้ชาวนาเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มคุณภาพ
    3. เป็นการที่รัฐยึดอุตสาหกรรมข้าวมาทำเอง(Nationalization) ซึ่งนอกจาก”ห่วย”แล้วยังจะ”หาย”คือมีการทุจริตเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน

    ผลก็อย่างที่ทราบแหละครับ คือ นอกจากทำให้ข้าวไทยถอยหลังแล้ว ยังมีความเสียหายมากมาย ผมไม่เถียงหรอกครับว่าชาวนาได้รับประโยชน์บางส่วน แต่ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน อย่างที่เสียหายไป 500,000ล้าน ผมเชื่อว่าชาวนาได้รับประโยชน์อย่างมากแค่ครึ่งเดียว 250,000ล้าน ส่วนที่หายไปก็ไม่ใช่เป็นการโกงทั้งหมดนะครับ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่หายไปกับความ”ไร้ประสิทธิภาพ”ของระบบมากกว่า แต่มีโกงมีกินแน่นอน ซึ่งผม”เชื่อ”ว่ารวมประโยชน์มิชอบของพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมืองทุกฝ่าย ไม่น่าจะเกินห้าหมื่นล้านบาท(แต่ก็มากโขอยู่)

    แต่ๆๆๆๆๆ …..ที่ผมคัดค้านตลอดมา ก็เป็นการคัดค้าน”นโยบาย”นะครับ คัดค้านไม่ให้นำนโยบายประชานิยมที่คิดง่ายๆไม่รอบด้าน คิดเร็วๆชุ่ยๆเพียงเพื่อจะให้ชนะเลือกตั้ง มาปฏิบัติให้เกิดผลเสียหายมหาศาลถึงเพียงนี้ และการคัดค้านของผมก็เป็นไปอย่างเปิดเผย ต้องการให้หยุดนโยบาย ต้องการให้สังคมรับรู้ได้บทเรียน

    ผมคิดว่า การที่เรามาเร่งรัดจะเอาผิด กับหัวหน้ารัฐบาลที่ทำเรื่องนี้ กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอาญาทางแพ่งในกระบวนการที่รวบรัดเกินไป จะต้องคิดให้ดีนะครับ ว่ามัน”ยุติธรรม”จริงไหม กับจะส่งผลกระทบอะไรต่อไปอีกบ้าง …อย่างข้อหาที่ว่า”ทำนโยบายที่มีการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้” …ผมอยากถามเลยว่า ในประเทศนี้ มีนโยบายอะไรบ้างที่รัฐจ่ายเงินแล้วไม่มีโอกาสเกิดทุจริตเลยแม้แต่น้อย …ผมกลัวว่า ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้น แทนที่เราจะไปหาว่าใครโกง กระบวนการไหนที่บกพร่อง จับคนผิดคนโกงมาลงโทษ ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เรากลับเล่นหัวตลอดลำตัวไปถึงหางอย่างนี้ ว่าใครอยู่ในกระบวนการต้องรับผิดชอบหมดทุกคน ไม่ว่าโกงไม่โกง ใครมีอำนาจต้องโดนหมด ไม่ว่าจะได้ประโยชน์เข้าพกเข้าห่อหรือไม่ …แถมใจร้อน ใช้กระบวนการเร่งรัด ใช้ศาลเดียว ใช้อำนาจยึดทรัพย์เร่งด่วน ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้ตามครรลอง (เหมือนคดีกรุงไทยแหละครับ ที่ผมขอยืนยันว่า ผู้ที่ถูกลงโทษทั้งยี่สิบกว่าคน ไม่ใช่ทุกคนที่มีการทุจริตอย่างแน่นอน แต่โดนตัดสินรวบยอดในศาลเดียว)

    อย่างนี้… ที่ผมกลัว อีกหน่อยจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย เพราะนโยบายที่จะแน่ใจว่าปลอดทุจริตร้อยเปอร์เซนต์ในประเทศนี้ เวลานี้ บอกได้เลยว่าหาแทบไม่มี หรือแม้กล้าคิดมาแล้ว ข้าราชการเจ้าหน้าที่ คนที่ต้องอยู่ในสายปฏิบัติการก็จะไม่มีใครกล้าเอาไปทำ (เลยกลายเป็นว่าคนกล้าจริงๆมักต้องมีส่วนได้เสีย ถึงจะคุ้มเสี่ยง)

    ลองคิดดูว่า ประเทศไทยเป็นระบบที่รัฐใหญ่ ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ …เรามีกฎข้อบังคับกว่าแสนฉบับ แถมขยันออกกฎใหม่กฎเพิ่มทุกวัน รัฐธรรมนูญใหม่ก็มุ่งเน้น”ขยายรัฐ”เข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีภาครัฐที่มีแต่ความกลัว ไม่กล้าทำอะไรใหม่เลย อย่างนี้ไม่เรียกว่า”ติดกับดัก”ตัวเองแล้วจะเรียกอะไร ไม่ต้องหวัง 4.0 อะไรจากประชาชนหรอกครับ ถ้ารัฐยังเป็นแค่2.0อยู่
    ถ้าเรามีกระบวนการยุติธรรมที่อาจไปลงโทษคนที่แค่พลาด คนที่ไม่ได้โกง คนที่กล้าทำ คนที่แค่ไม่ได้ตรวจกฎให้ครบแสนฉบับก่อนลงมือทำ อีกหน่อยจะมีใครกล้าทำอะไรกัน ทุกคนย่อม”รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”กันไปหมด ประเทศจะเดินได้อย่างไร

    ผมไม่ได้บอกว่า “อย่าดำเนินคดี” “อย่าสอบสวนเอาผิด” กับคนที่ทำให้เสียหายนะครับ เพียงแต่ขอให้แยกแยะให้ดี และใช้กระบวนการที่”ยุติธรรม”จริงๆเท่านั้น
    กระบวนการ”ยุติธรรม?”แบบที้เรามีนั้น ควรได้รับการปฏิรูปจริงจังกันเสียทีไหมครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่