รีวิว Snowden: หนังการเมืองยี่ห้อโอลิเวอร์ สโตน (เวอร์ชั่นใจดี)



By มาร์ตี้ แม็คฟราย

ชื่อ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน คงเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จัก หลังการออกมาแฉรัฐบาลของตัวเอง (สหรัฐอเมริกา) ในเรื่องราวผิดจริยธรรมด้านการสอดส่องศัตรู หรือแม้แต่ประชาชนของตัวเอง ผ่านเทคโนโลยี Social media ต่าง ๆอย่างหน้าไม่อาย และหลังจากภาพยนตร์สารคดี Citizenfour ออกฉาย (และคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในปีนั้นอย่างไร้ข้อกังขา) มันจึงยิ่งเป็นกระแสที่ทำให้ผู้คน ได้รู้เห็น ได้เข้าใจ และเรื่องราวอันน่าตื่นตะลึงและทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกรัฐก้าวก่ายมาโดยตลอดอย่างครึกโครม

แน่นอนว่าเมื่อมันอยู่ในกระแส และเป็นเรื่องราวการเมืองอันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน จึงไม่แปลกที่เรื่องราวของสโนว์เดนจึงถูกหยิบมาสร้างเป็นหนังดั่งว่าเป็นฮอลลิวูดสไตล์ (อีกแล้ว) แต่หลายคนก็ยังดีใจ เมื่อหัวเรือใหญ่ที่จะมากุมบังเหียนหนังเรื่องนี้คือผู้กำกับผู้ช่ำชองการทำหนังสงครามและการเมืองที่สุดคนหนึ่งในวงการโดยมีหนังหลายเรื่องที่กวาดรางวัลการันตีความสามารถ .. โอลิเวอร์ สโตน


ผู้กำกับที่ชื่อ โอลิเวอร์ สโตน
นอกจากเรื่องราวชีวิตของสโนว์เดนแล้ว เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่อยากดูหนังเรื่องนี้เพราะเป็นผลงานเรื่องล่าสุดของโอลิเวอร์ สโตน ที่สำหรับคนยุคนี้อาจจะนึกไม่ออกว่าเขาคือใครและเคยมีผลงานอะไร

ย้อนไปในช่วงปลายปียุค 80 ในตอนนั้นไม่มีใครไม่รู้จักหนังเรื่อง Platoon หนังสงครามเวียดนามอันโด่งดังที่กวาดทั้งรายได้และรางวัลออสการ์ ที่ตีแผ่ความโหดร้ายของสงครามและผลกระทบทางด้านจิตใจของทหารชาวอเมริกันที่ถูกสงครามหล่อหลอมให้กลายเป็นเครื่องจักรสังหารที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ซึ่งเป็นผลงานแจ้งเกิดของอดีตทหารผ่านศึกที่ชื่อ โอลิเวอร์ สโตน ที่หลังจากนั้นได้มีผลงานตามออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นไตรภาคหนังสงครามเวียดนามที่ตามมาอีกสองเรื่องอย่าง Born on the Fourth of July และ Heaven & Earth หนังตลาดหุ้นเฉือนคมอย่าง Wall Street หนังอาชญากรรมในตำนานที่รุนแรงทั้งภาพและเนื้อหาอย่าง Natural Born Killers รวมถึงหนังการเมืองสุดเข้มข้นความยาวกว่า 3 ชั่วโมง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนคดีลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี อย่าง JFK ซึ่งแต่ละเรื่องที่กล่าวมาต่างได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากทั้งนักวิจารณ์และคนดู จนเรียกได้ว่าในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ Platoon เข้าฉาย ถือเป็นยุคทองของสโตนเลยก็ว่าได้ จนมาในช่วง 10 ปีหลังจนถึงปัจจุบัน ก็เริ่มเสื่อมความนิยมไปจากผลงานในช่วงหลังที่ทุกคนพร้อมใจกันลืมและนักวิจารณ์ต่างเบือนหน้าหนีอย่าง Alexander, World Trade Center, Wall Street: Money Never Sleeps เป็นต้น  ทำให้สถานะของสโตนในปัจจุบันนักดูหนังหน้าใหม่จึงไม่รู้จักมากนัก แต่สำหรับนักดูหนังที่ติดตามมาตลอด เมื่อหนังของสโตนเข้าฉายก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปชมทุกครั้งไป จนมาถึง Snowden ที่เป็นหนังการเมืองตามถนัดของสโตน ทำให้นักดูหนังอดคิดไม่ได้ว่านี่อาจจะเป็นการคืนฟอร์มของสโตนอีกครั้ง บวกกับเรื่องราวของสโนว์เดนที่มีความน่าสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว


Snowden ในมือของสโตน
สโตนเล่าเรื่องของสโนว์เดนโดยเริ่มตั้งแต่สโนว์เดนยังเป็นทหารฝึก ที่ต้องการรับใช้ชาติ จนเกิดอุบัติเหตุที่ขา ทำให้ต้องลาออกจากกองทัพและไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข่าวกรองในสำนักงาน CIA ที่ที่ทำให้สโนว์เดนได้รับรู้ถึงการละเมิดสิทธิของประชาชนจากภาครัฐจากตรงนี้  และชีวิตของสโนว์เดนในขณะนั้นกับแฟนสาว ไล่ไปจนถึงการลักลอบนำข้อมูลลับออกไปจากสำนักงาน หลบหนีไปที่ฮ่องกง และติดต่อผู้กำกับหนังสารคดี และนักข่าว (ที่เป็นที่มาของหนังสารคดี Citizenfour) เข้ามาฟังความลับของรัฐบาลที่เขาต้องการจะประกาศให้ทั้งโลกได้รู้ และจบที่การหลีกภัยไปประเทศรัสเซีย ว่ากันตามตรง ปัญหาแรกของหนังที่เห็นได้ชัดคือ คำถามตัวใหญ่ ๆ ว่า สรุปแล้วหนังต้องการจะเล่าเรื่องอะไรเป็นประเด็นหลักกันแน่ ? เพราะในหนังสโตนเล่นเล่าเกือบทุกประเด็นแบบสลับไปสลับมา และดูจะไม่มีประเด็นใดที่ใหญ่ที่สุดเลย เรารู้แต่ประเด็นเล็ก แต่ไม่รู้ประเด็นหลักของหนัง เพราะหนังเดินไปแบบไม่มีหลักที่ชี้ไปถึงจุดหมาย แวะเล่าเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที สลับ ๆกัน พอประเด็นที่กำลังเล่าเหมือนจะเป็นประเด็นหลัก หนังก็ไปเล่าประเด็นอื่นแทนเสียอย่างนั้น (เช่น เรื่องของแฟนสาวของสโนว์เดน ที่ถูกเน้นเล่าซ้ำอยู่บ่อย ๆ) ข้อดีคือทำให้คนดูสามารถรับรู้เรื่องของสโนว์เดนได้รอบด้าน เพราะหนังเล่าประเด็นครอบคลุม แต่ข้อเสียคือทำให้หนังอยู่ในสถานะลอยไปลอยมา จับจุดไม่ได้ และที่สำคัญคือ ไปเล่าประเด็นที่คนดูต้องการจะรู้น้อยที่สุด (เช่น เรื่องแฟนสาวของสโนว์เดน ในตอนที่มีปัญหากัน) ที่หนังกลับให้เวลามากเกินไป กลายเป็นว่ากับเรื่องที่เราอยากรู้ (วิธีการละเมิดสิทธิของรัฐบาล, ผลกระทบที่ร้ายแรงจากการกระทำของรัฐบาล, ความรุนแรงของปัญหาที่สโนว์เดนกำลังเผชิญ และ เพราะอะไรสโนว์เดนถึงทำแบบนี้กับประเทศของตนเอง) หนังกลับเล่าออกไปเป็นห้วง ๆสลับไปมา จนทำให้เราไม่เข้าใจในสโนว์เดนอย่างชัดเจนถึงการกระทำของเขาในช่วงท้ายมากเท่าที่ควร และส่งผลให้ความเข้มข้นและความน่าติดตามโดยรวมของหนัง ชะงักไปโดยปริยาย  


ความเดือดดาลที่หายไปของสโตน
หากใครเคยได้ดู JFK คงจะได้รับความรู้สึกถึงพลังที่พร้อมขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้า แม้ระหว่างทางของหนังความยาว 189 นาที จะเต็มไปด้วยการพูด พูด แล้วก็พูดกันน้ำไหลไฟดับอยู่ท่าเดียว แต่ความสนุกของหนังกลับเพิ่มมากขึ้น ด้วยเรื่องราวที่เข้มข้นขมวดปมเข้ามาเรื่อย ๆ บวกกับฝีมือการกำกับที่เต็มไปด้วยพลังแรงสูง แม้มีเพียงฉากพูดกันของตัวละคร แต่กลับสัมผัสได้ถึงความเดือดดาลและชั้นเชิงของสโตน ทำให้ JFK เป็นหนังการเมืองที่เรียกได้ว่าดูสนุกมาก ซึ่งสวนทางกันกับ Snowden ที่สังเกตได้ถึงพลังอันเดือดดาลที่ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย เพราะหนังมีจังหวะการเล่าแบบใจเย็นมาก ต่างกับหนังในช่วงท็อปฟอร์มที่แม้จะใจเย็นแต่สามารถรู้สึกพลังและความบีบเค้นที่แฝงอยู่กับเรื่องราว

แม้จะพูดได้ว่าเพราะบทหนังของสโนว์เดนที่อาจจะเป็นปัญหามาตั้งแต่แรก ในเรื่องการวางประเด็นเรื่องอย่างเขียนไปข้างต้น แตกต่างกับ JFK ที่บทหนังมีการวางจุดหมายอย่างชัดเจน แต่กับคนดูเห็นฝีมือและลายเซ็นการกำกับของสโตนชัดเจนมานาน จะเห็นจริง ๆว่าพลังน้อยลง และสโตนใจเย็นลงมาก และเหมือนแอบมีอารมณ์อ่อนไหวนิด ๆด้วยซ้ำไป (เพราะไปเล่าเรื่องดราม่าของสโนว์เดนกับแฟนสาวซะเยอะขนาดนั้น) มีเพียงไม่กี่ฉากที่เราเห็นลายเซ็นของสโตนที่เหมือนเดิม เช่นฉากที่สโนว์เดนคุยกับ คอร์บิน โอไบรอัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CIA ผ่านวีดีโอคอล ซึ่งนี่เป็นฉากที่ทรงพลังและดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ เพราะเต็มไปความทรงพลัง ความกดดัน และชั้นเชิงการกำกับในแบบที่เป็น โอลิเวอร์ สโตน คนเดิม ซึ่งน่าเสียดายที่เราจำได้แค่ฉากนี้ฉากเดียวจริง ๆ  


การแสดงแห่งปี
แต่ข้อดีของหนังที่ไม่พูดไม่ได้ คือการแสดงของทั้งเหล่านักแสดงนำและนักแสดงรับเชิญ ที่แสดงได้ดีทุกคนแต่จะเน้นที่ดีเป็นพิเศษเป็นบางคน โดยเฉพาะ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ ที่รับบท เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นี่เป็นการแสดงที่เปลี่ยนเพื่อเข้าบทบาทอย่างแท้จริง สังเกตได้จากท่าทาง บุคลิก หรือแม้แต่น้ำเสียง (สโนว์เดนตัวจริงเสียงทุ้มมาก ซึ่งในเรื่องนี้เลวิตต์ก็พูดเสียงทุ้มแบบตัวจริงทุกฉาก) ได้อย่างเป็นธรรมชาติและดูไม่ฝืน เป็นการแสดงที่เก็บรายละเอียดค่อนข้างเนี้ยบในทุกระเบียบนิ้วจริง ๆ นอกจากนั้นนักแสดงสมทบอย่าง นิโคลัส เคจ ในบทเจ้าหน้าที่อาวุโสในหน่วยงานของสโนว์เดน ที่คอยเป็นเพื่อนคุยและให้คำปรึกษา ที่ต้องบอกว่านี่เป็นการแสดงที่เราหวังจะได้เห็นจากนิโคลัส เคจ มาหลายปี และสุดท้าย รีส ไอแฟนส์ เจ้าของบท คอร์บิน โอไบรอัน ที่แสดงได้อย่างคงเส้นคงวา มีพลังและน่าสนใจในทุกฉากที่ออกมา โดยเฉพาะฉากวีดีโอคอลที่ได้กล่าวไปนั้น ต้องบอกว่าสามารถทำให้ขนลุกเมื่อเห็นหน้าได้ และเมื่อค้นชื่อต่อไปก็พบว่า เขาคนนี้เคยแสดงบท สไปค์ ไอ้หนุ่มสุดกวนเพื่อนที่เช่าบ้านของ ฮิวต์ แกรนต์ ในหนัง Notting Hill อีกด้วย !!!


Snowden ไม่ใช่หนังที่แย่ ทางด้านของหนังการเมือง หรือหนังชีวประวัติบุคคลนั้นทำออกมาได้ดี เพียงแต่ในฐานะคนดูที่อยากมารู้จักเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เราคาดหวังที่จะได้เห็นและรับรู้อะไรมากกว่านี้ เพราะกลายเป็นว่าหากอยากดูให้สนุกและได้รับรู้ข้อมูลลับที่ช่างน่าตกตะลึง หนังสารคดี Citizenfour นั้นตอบโจทย์มากกว่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ และในฐานะแฟนหนัง โอลิเวอร์ สโตน เราก็คาดหวังจะได้เห็นโอลิเวอร์ สโตน คนเดิมเช่นกัน ซึ่งหากตัดสินกับเรื่องนี้ ก็นับว่าสโตนเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ

ขอบคุณรูปภาพจาก Fanpage FB : Open Road Films

หากอ่านแล้วชอบ สามารถติดตามบทความจากภาพยนตร์ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่