การไว้ทุกข์ในพระพุทธศาสนา

ในพระไตรปิฎกมีข้อมูลเรื่องการไว้ทุกข์
ปรากฏอยู่ใน ติโรกุฑฑกัณฑ์ ขุททกปาฐะ
และอีกหลายพระสูตร คิดว่าน่าสนใจ
จึงสรุปประเด็นพอเป็นสาระสำคัญไว้ดังนี้
1. ไว้ทุกข์เพื่อผู้ตาย
คือการไว้ทุกข์เพื่อระลึกนึกถึงคุณงามความดีของผู้ตาย
และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
2. ไว้ทุกข์เพื่อคนเป็น
คือได้สำรวจตัวเองว่าปฏิบัติต่อผู้ตาย
เป็นครั้งสุดท้ายอย่างสมบูรณ์พร้อมแล้ว
ไม่มีเวรมีกรรมต่อกรรม อโหสิกรรมต่อกันเรียบร้อยแล้ว
3. ไว้ทุกข์เพื่อสอนลูกหลาน
คือไว้ทุกข์เพื่อสอนลูกหลานให้รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ
ในการทำบุญให้ผู้ตาย แสดงความกตัญญูกตเวที
4. ไว้ทุกข์เพื่อสงเคราะห์หมู่ญาติในสัมปรายภพ
คือไว้ทุกข์เพื่อทำบุญสงเคราะห์หมู่ญาติ
ที่จากไปนานและยังตกระกำลำบากในสัมปรายภพ
ให้ได้พ้นจากอบายภูมิที่แสนลำบากไปสู่สุคติภูมิที่ดีกว่า
5. ไว้ทุกข์เพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้นจากวัฏสงสาร
คือไว้ทุกข์เพื่อพิจารณาความตายเป็นมรณานุสติ
ไว้ทุกข์เพื่อเตือนตัวเองให้รีบสั่งสมบุญทำความดี
ไว้ทุกข์เพื่อเป็นการผูกใจไว้กับการบรรลุมรรคผลนิพพาน
สาระสำคัญที่สรุปมานี้
สมดังกับพุทธวจนะที่ปรากฏใน ฐานะสูตร ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 5 ประการนี้
อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า
1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
2. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
3. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
4. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
5. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่