อธิบายศัพท์คำว่า "คู่คอง" (แบบลึกๆถึงรากศัพท์) ของ Ost.นาคี ที่คุณ ก้อง ห้วยไร่ เป็นคนแต่งและร้อง

หลายปีแล้วที่ผมไม่ได้ดูละคร พอเห็นน้องที่ทำงานเปิดยูทูปดูละครนาคีย้อนหลัง ตอนนั้นละครดูพอผ่านๆแต่มาสะดุดกึกตอนที่ได้ยินเพลงประกอบละคร เออแฮะมันไพเราะดีจัง กลับมาถึงบ้านผมเลยมาเปิดดูละครเต็มเรื่องดูไปดูมาชักชอบจนต้องดูจนจบทุกตอน เพลงประกอบก็เพราะละครก็น่าติดตาม แต่ภาษาอีสานที่ใช้ยังเพี้ยนบ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ คือเวลาที่ดูอยู่ก็ไม่รู้สิ แบบว่าผมสัมผัสได้ถึงความพยายามของนักแสดงอะนะ

ทีนี้มาพูดถึงเพลงประกอบละครบ้างหลายคนอาจจะยังสงสัยว่าคำว่า "คู่คอง" หมายถึง "คู่ครอง" ในภาษากลางหรือเปล่า ก็จะบอกว่าคล้ายแต่ไม่เหมือนซะทีเดียวเพราะศัพท์นี้มันลึกกว่านั้น คำว่า คู่คอง ถ้าคนที่ดูเคยหมอลำเยอะๆอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง คู่คองบ้าง คองถ่าบ้าง ฮีตคองบ้าง
พูดถึงคำว่าคู่คอง แปลแบบสละสลวยและรวบรัดจะหมายถึง "คู่ที่รอคอยกันตลอดไป"

คำว่า "คอง" คำนี้ต่างจากคำว่า "ครอง" มีความหมายลึกซึ้งเชิงความรู้สึก ประมาณว่ารักษาประคับประคองออกแนวรอคอยนิดๆ(อย่างมีนัยยะสำคัญ) ถ้าเติมคำว่า
"ถ่า"ซึ่งแปลว่า รอ กลายเป็น "คองถ่า" คำนี้จะมีความหมายออกมาประมาณว่า ....การรักษาประคับประคอง(ความรัก)และรอคอยตลอดเวลา.... เพราะคำว่าคองมีความหมายเชิงรอคอยอยู่แล้วไปเติมคำว่า ถ่า สำทับลงไปอีกทำให้ความหมายออกมาเชิงประมาณ เป็นการรอคอยตลอดไป

ดังนั้นคำว่า คู่คอง ถ้าจะแปลแบบสละสลวยแบบลึกๆเชิงความรู้สึกแบบเต็มๆ จะแปลออกมาประมาณว่า
"คู่รักที่รักษาประคับประคอง(ความรัก*อย่างมีนัยยะสำคัญ)รอคอยเพื่อที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไป"

เพราะคำว่า คอง บอกความหมายเชิงบอกเวลา(ว่าคอยตลอดไป)ในศัพท์อยู่แล้ว

คำว่าคองไม่ได้มีความหมายเชิงรอคอยอย่างเดียวแต่จะหมายถึงการรักษาอย่างเดียวก็ได้ เช่นคำว่า "ฮีตคอง" (ฮีต = จารีต) แปลว่า จารีตที่ต้องรักษาและยึดถือ (แปลว่า กฏหมาย ก็ได้)
ฮีต = จารีต,สิ่งที่ต้องยึดถือ ส่วนคำว่า คอง ในบริบทของคำนี้จะแปลว่า การรักษา,ยึดถือ ไม่ใช่การรอคอยเหมือนคำที่กล่าวมาข้างต้น

ทีนี้มาพูดถึงคำว่า "คนฮู้" กันบ้าง ถ้าแปลแบบกำปั้นทุบดิน จะแปลว่า คนเชื่อง เพราะภาษาอีสาน คำว่าฮู้ จะแปลว่า รู้ ก็ได้ หรือ เชื่อง ก็ได้ ซึ่งถ้าจะให้แปลว่าเชื่องนั้นต้องใช้กับสัตว์เท่านั้น
เช่น หมาฮู้ จะหมายถึง สุนัขเชื่อง หรือสุนัขแสนรู้ เป็นต้น
คำว่า "คนฮู้" คำนี้จะหมายถึง คนดี,คนที่แสนดี หรือที่รัก ก็ได้ ซึ่งมีความหมายคล้ายกับคำว่า "คนไค" ซึ่งแปลว่าคนดีเหมือนกัน แต่เป็นคนดีที่ผู้พูดแฝงความรู้สึกบอกเป็นนัยๆชมว่าผู้ที่พูดถึงนั้นสวยน่ารักด้วย

ตามจริงภาษาลาวอีสานถ้าเข้าใจลึกๆมีศัพท์หลายคำมากที่แปลความหมายออกมาในเชิงประจักบอกนัยยะความรู้สึก การพูดคุยกันถึงแม้ศัพท์คำเดียวกัน แต่ศัพท์นั้นอยู่ในประโยคต่างกัน ความหมายอาจเปลี่ยนแปลงไปจากคำเดิมแบบโดดๆ แต่เปลี่ยนไปไม่มากจากความหมายของรากศัพท์เดิม คนอีสานอาจสังเกตุง่ายๆจากคำสร้อยที่ต่อท้ายคำวิเศษณ์หรือคำกริยา เช่น

สูงเจิ้นเทิ่น =  ฟังแล้วรู้ได้ว่าพูดถึงภูเขาหรือสิ่งปลูกสร้างใหญ่ที่โตมโหฬาร
สูงเท่อเล่อ= ฟังแล้วรู้ได้ว่าพูดถึงคน หรือสิ่งปลูกสร้างที่สูงชะลูด
นั่งเอดเปด = ได้ยินแล้วรู้ได้ว่านั่งขัดสมาธิและก้นใหญ่หรืออ้วน
นั่งก่อซ่อ = ได้ยินแล้วรู้ได้ว่าใช้ความคิดและคิดไม่ตกหรือคิดหนักมาก
นั่งโตดโหมด= ได้ยินแล้วรู้ได้เลยว่าอยู่คนเดียว
นั่งปึ๊กซึก = ได้ยินแล้วรู้ได้ว่าผมยุ่งหรือผมปกหน้า

หรืออาจสังเกตุง่ายๆจากการที่เวลาเพื่อนต่างภาคถามคนอีสานถึงคำศัพท์บางคำในภาษาอีสานว่าคำนั้นคำนี้แปลว่าอะไร ซึ่งเราเองอาจอธิบายเป็นภาษากลางไม่ค่อยถูก อธิบายแบบตรงตัวก็มีความรู้สึกว่าไม่ค่อยสละสลวย เป็นต้น

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่