ศาสนาพุทธจะล่มสลาย เพราะชาวพุทธ(ถูกยุให้)แตกกันเอง ????

กระทู้คำถาม
ไม่รู้ทำไมพอผมอ่านบทความนี้จบ  สิ่งที่นึกถึงสิ่งแรกเลยคือภาพคนไทยที่เป็นชาวพุทธ กำลังทะเลาะกัน...  และยิ่งเห็นผู้ใหญ่บ้านเมืองตอนนี้ไม่สนับสนุนงานพระพุทธศาสนาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา... ฤาว่าศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของเหล่าท่านผู้นำเริ่มเสื่อมสลายไป  จึงไม่คิดใยดีว่าพระพุทธศาสนาในเมืองไทยจะอยู่ หรือจะล่มสลายไปเหมือนหลายประเทศที่เคยเป็นอดีตเมืองพุทธ!!!!
    บทความที่ผมนำมาลงนี้ ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนาแต่อย่างใด  แต่ด้วยยุทธวิธีการขยายอาณาจักรที่ หากไม่พิจารณาดีๆ ก็ไม่รู้ ....
    การยึดเมืองๆหนึ่ง โดยอาศัยพลเมืองของเมืองนั้นเอง  เหมือนน้ำเซาะทราย  เอาผลประโยชน์มาเป็นตัวล่อ กว่าที่คนในประเทศจะรู้ตัว ก็สายไปเสียแล้ว...


  
ประวัติศาสตร์โลก:อังกฤษใช้เวลา100ปียึดครองอินเดียสำเร็จ เพราะการทรยศของคนในรัฐ


     …ราชวงศ์โมกุลหลังพระเจ้าออรังเซบเสื่อมอำนาจลงอย่างรวดเร็ว ประเทศราชและเขตปกครองต่างๆ ของโมกุลทยอยแยกตัวเป็นอิสระ จนเมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 18 เขตปกครองของกษัตริย์โมกุลหดเหลือเพียงพื้นที่รอบนครเดลีเท่านั้น ชาวตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสนี้เร่งขยายอำนาจและยึดครองพื้นที่ในอินเดีย เพื่อแปลงแคว้นต่างๆ ในอินเดียให้เป็นอาณานิคมและรัฐในอารักขาที่อยู่ใต้การปกครองของตน

     อังกฤษได้ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก เพื่อทำการค้ากับดินแดนต่างๆ ในทวีปเอเชียตั้งแต่ปี ค.ศ.1600 อังกฤษได้ก่อตั้งสถานีการค้าที่อินเดียครั้งแรกเมื่อปี 1611 ต่อมาได้ตั้งที่มั่น 3 แห่งขึ้นตามชายฝั่งของอินเดียคือ มัดราส (ค.ศ.1639) บอมเบย์ (ค.ศ. 1668) และกัลกัตตา (ค.ศ.1698) แล้วใช้ที่มั่นทั้งสามแห่งนี้ขยายการค้าและอิทธิพลทางการเมืองในอินเดีย

     ส่วนฝรั่งเศสได้ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกเมื่อปี 1664 และตั้งสถานีการค้าที่อินเดียครั้งแรกในปี 1668 ต่อมาก็ได้สร้าง พอนดิเชอร์รี ขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าการปกครองของตนในอินเดียเมื่อปี 1674

     แม้ฝรั่งเศสจะเข้ามาอินเดียหลังชาติยุโรปอื่นๆ แต่กลับกลายเป็นประเทศตะวันตกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอินเดียในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนเป็นที่ริษยาแก่ชาติยุโรปอื่นโดยเฉพาะอังกฤษ

     อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นคู่ปรับที่แข่งขันกันล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 18 อินเดียเป็นสมรภูมิแข่งขันที่สำคัญแห่งหนึ่งของสองประเทศนี้ ฝรั่งเศสเริ่มรับสมัครชาวอินเดียจัดตั้งเป็นกองทหารรับจ้าง แล้วใช้กองทหารนี้แทรกแซงกิจการภายในของรัฐต่างๆ ในภาคใต้อินเดียตั้งแต่ปี ค.ศ.1742 อังกฤษได้จัดตั้งกองทหารรับจ้างตามอย่างฝรั่งเศสและเข้าขัดขวางการขยายอำนาจของฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ได้นำไปสู่สงครามคาร์เนติกสามครั้งในปี 1746-1748, 1749-1754 และ 1756-1763

     ผลของสงครามปรากฏว่าฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสจึงยอมยุติบทบาทของตน ปล่อยให้อังกฤษเป็นฝ่ายขยายอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในอินเดีย

     อังกฤษเริ่มทำสงครามขยายอำนาจในอินเดียด้วยการเอาชนะนาวาบ (ผู้ว่าการ) แห่งเบงกอลที่พลาสซีย์เมื่อปี ค.ศ.1757 จากนั้น ได้ทำสงครามยึดครองเบงกอล (ค.ศ.1763-1764 ) สงครามไมซอร์สี่ครั้ง (ค.ศ.1767-1769 , 1780-1784 , 1790-1792 , 1799) สงครามมาราทาสามครั้ง (ค.ศ.1775-1782 , 1803-1805 , 1817-1818) สงครามซินด์ (ค.ศ.1843) และสงครามซิกข์สองครั้ง (ค.ศ.1845-1846 , 1848-1849)
รวมใช้เวลาเกือบร้อยปี จึงยึดครองดินแดนอินเดียได้ทั้งหมด

     การที่อังกฤษสามารถเอาชนะอินเดียที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีประชากรมากกว่าตนถึงสิบเท่าได้นั้น เป็นเพราะอินเดียขณะนั้นแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย รัฐต่างๆ ยังมีเรื่องขัดแย้งกัน และเกิดสงครามติดพันกันตลอดเวลา อังกฤษจึงสามารถเลือกเป้าโจมตีได้ตามใจชอบ บางครั้งยังดึงรัฐอื่นเป็นพันธมิตรมาโจมตีอีกรัฐหนึ่ง

    อังกฤษยังนิยมใช้วิธีซื้อบุคคลสำคัญของรัฐที่ตนโจมตีเป็นไส้ศึก]]อังกฤษยังนิยมใช้วิธีซื้อบุคคลสำคัญของรัฐที่ตนโจมตีเป็นไส้ศึก รัฐจำนวนมากประสบความพ่ายแพ้ต่ออังกฤษเพราะการทรยศของคนในรัฐนั้นเอง

     อังกฤษยังมีวิธีแยบยลในการแก้ปัญหากำลังทหารไม่เพียงพอกับการขาดแคลนงบประมาณทางทหาร อังกฤษรับสมัครชาวอินเดียมาเป็นทหารรับจ้างจำนวนมาก เมื่ออังกฤษรบชนะรัฐใดหรือบีบให้รัฐใดยอมจำนน อังกฤษจะทำสัญญาให้รัฐนั้นยินยอมให้ตนส่งทหารมาตั้งประจำและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของทหารเหล่านั้น สำหรับบางรัฐจะทำสัญญาให้มีหน้าที่ส่งทหารจำนวนตามที่ระบุมาช่วยรบเมื่ออังกฤษต้องการ

     ดังนั้น จึงเท่ากับอังกฤษใช้คนของอินเดียและเงินของอินเดียมายึดครองอินเดีย โดยใช้กำลังคนจากอังกฤษน้อยมาก และแทบไม่ต้องใช้เงินงบประมาณโดยตรงจากอังกฤษ…


ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 ก.ย. – 27 ก.ย. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (9)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่