[ ๑๐๐ ปี อมราวดี ] Ziska หรือ กงเกวียน - จากนิสิตวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาฯ

:: Ziska: The Problem of a Wicked Soul
:: Marie Corelli
:: แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ "กงเกวียน" โดย อมราวดี
.
อันดวงดาวเบื้องบนคือคนรัก
เพียงรู้จักถอนใจมิใคร่ทั่ว
ส่งกลิ่นหอมครั้งเดียวเจียวดอกบัว
ก็ทอดตัวสิ้นลมปราณไม่นานเอย
.
ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ท่ามกลางกลุ่มสังคมชาวยุโรปที่มาพักผ่อนในฤดูร้อน สตรีลึกลับนางหนึ่งได้ปรากฎกายขึ้นในนามเจ้าหญิงศิสกา ความงดงามประหนึ่งนางพญาของเจ้าหญิงได้ก่อให้เกิดความสนใจขึ้นในวงสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาร์มังค์ แจร์วาส จิตรกรหนุ่มใหญ่ชาวฝรั่งเศสที่หลงรักศิสกาตั้งแต่แรกเห็น หัวใจของเขาปั่นป่วนด้วยความปรารถนากับความรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าได้เคยพบหล่อนมาก่อน และความหลงใหลในตัวศิสกาอย่างรุนแรงนี่เองที่ทำให้เขาต้องขัดแย้งกับเดนซิล เมอเรย์ เพื่อนรุ่นน้องที่มีใจให้กับศิสกาเช่นกัน รวมไปถึงปฏิเสธความรักของเฮเลน เมอเรย์ น้องสาวของเดนซิลที่เคยชอบกันอยู่ หลังการพบกันครั้งแรกในงานเต้นรำที่โรงแรม อาร์มังค์มีโอกาสเข้าไปวาดภาพของศิสกาที่วังของหล่อน แต่ภาพที่วาดออกมานั้นได้กลับกลายเป็นใบหน้าของคนตายอย่างน่าประหลาดใจ ศิสกาเชิญให้ทุกคนมางานเลี้ยงที่วังก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวของอแรกซีสผู้เป็นแม่ทัพของฟาโรห์อเมนโนฟิสที่สามที่ปลิดชีพศิสกา-ชาร์มาเซล นางระบำคนโปรดด้วยการใช้มีดแทงคาอกหลังจากที่เขาหมดรักหล่อน ทุกคนต่างตกตะลึงที่อาร์มังค์และเจ้าหญิงศิสกามีใบหน้าเหมือนภาพสลักของอแรกซีสกับนางศิสกา-ชาร์มาเซลอย่างน่าอัศจรรย์ ในคืนนั้นศิสกาได้แสดงระบำเพลงดอกบัวหลวงจนทำให้อาร์มังค์หมดสติไป เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตกอยู่ในสายตาช่างสังเกตของดร. ดีน แมกซ์เวล นายแพทย์ผู้มีความเชื่อในจิตศาสตร์และดวงวิญญาณตั้งแต่ต้น จนกระทั่งศิสกาชวนให้ทุกคนไปพักผ่อนที่โรงแรมนอกเมืองไคโร หมอดีนจึงยิ่งมั่นใจว่าศิสกาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปและซ่อนความประสงค์บางอย่างไว้ ศิสกาปฏิเสธความรักของเดนซิลและล่อลวงอาร์มังค์ไปยังสุสานของอแรกซีสที่ซ่อนอยู่ชั้นล่างของพีระมิด อาร์มังค์รู้ในตอนสุดท้ายนั่นเองว่าเขาคืออแรกซีสจึงสำนึกต่อความผิดที่เคยทำไว้ ศิสกาใช้มีดแทงที่อกของอาร์มังค์เพื่อแก้แค้นสิ่งที่เขาทำกับหล่อนในชาติก่อน เมื่อดวงวิญญาณหนึ่งสำนึกผิดอีกดวงวิญญาณหนึ่งให้อภัย ทั้งคู่จึงได้รับการปลดปล่อยจากกงเกวียนที่ตามติดมานับพันปี
.
ได้มีโอกาสอ่านนวนิยายเรื่องนี้ทั้งฉบับภาษาอังกฤษซึ่งถูกเขียนขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2440 และฉบับภาษาไทยที่มีการแปลไว้ในปีพ.ศ. 2483 ขั้นแรกต้องขอชื่นชมอมราวดีผู้แปลด้วยจิตคารวะ ที่สามารถถอดต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยได้อย่างไพเราะสละสลวย ทั้งการแปลรูปประโยคและการแปลบทกวีในเรื่องออกมาเป็นร้อยกรองแบบไทยๆ ทั้งกลอน 8 กาพย์ยานี 11 และกาพย์ฉบัง 16 ถึงแม้ภาษาในเรื่องจะเป็นสำนวนแบบยุคก่อนแต่ก็สามารถอ่านได้อย่างเข้าใจไม่ยากนัก
.
ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การนำเสนอแก่นเรื่องคือการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเราไม่ค่อยพบในงานเขียนตะวันตกที่มีความนับถือในศาสนาคริสต์ ในเรื่องมีการเชื่อมโยงความคิดเรื่องการกลับชาติมาเกิดเข้ากับความเชื่อของชาวอียิปต์ที่ฝังศพไว้ในสุสานเพื่อให้วิญญาณกลับเข้าร่าง ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านการเรียกร้องความยุติธรรมของดวงวิญญาณศิสกาที่ถูกชายคนรักฆ่าตายในชาติที่แล้ว ก่อนที่หล่อนจะหวนกลับมาแก้แค้นเขาในชาตินี้ เป็นกงเกวียนกำเกวียนกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ท้ายที่สุดแล้วการสำนึกผิดและการให้อภัยก็เป็นจุดปลดปล่อยตัวละครที่ยังสอดคล้องกับคติในศาสนาพุทธอีกด้วย
.
นอกจากนี้ความน่าสนใจอีกข้อคือการที่ผู้เขียนได้เสนอความเป็นวิทยาศาสตร์ลงไปในเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นนายแพทย์ผู้มีความสนใจเรื่องผีและวิญญาณ เขาให้คำจำกัดความของเจ้าหญิงศิสกาว่าเป็น "ผีวิทยาศาสตร์" คือเป็นวิญญาณที่มีตัวตนและมองเห็นได้ หมอดีนเชื่อว่าการตายของมนุษย์ไม่ใช่การสิ้นสุดของทุกสิ่ง วิญญาณไม่มีวันสูญสลายและเป็นตัวบังคับให้สสารก่อกำเนิดเป็นรูปร่าง ดังนั้นหากมนุษย์จบชีวิตลงด้วยความพยาบาทเคียดแค้น ดวงจิตนั้นจะล่องลอยออกจากร่างกายที่เป็นสสารเพื่อตามติดผู้ที่ทำร้ายตนจนกว่าจะได้แก้แค้นหรือความอยุติธรรมที่ตนได้รับจะมีการชำระ (ในทำนองเดียวกับความเชื่อเรื่องเจ้ากรรมนายเวรของคนไทย)
.
ส่วนประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของนวนิยายเรื่องนี้กับพิษสวาทของทมยันตีนั้น อยู่ที่มุมมองและวิจารณญานของแต่ละคนว่าจะตีความอย่างไร แต่โดยส่วนตัวในฐานะนิสิตวรรณคดีเปรียบเทียบ เรามองว่าความคล้ายคลึงกันของโครงเรื่อง (Plot) ในวรรณกรรมเป็นเรื่องปกติ หรือหากจะมองประเด็นนี้ว่าเป็นการรับอิทธิพลจากตัววรรณกรรมต้นแบบก็อาจมองได้ เพราะตัวแมรี คอเรลลีเองก็มีอิทธิพลต่อนักเขียนไทยอยู่หลายท่านด้วยกัน แม้กระทั่งนวนิยายเรื่องแรกของประเทศไทยอย่าง “ความไม่พยาบาท” ของครูเหลี่ยมหรือหลวงวิลาสปริวัตรก็เป็นการแปลงมาจากเรื่อง “ความพยาบาท” ที่แม่วันหรือพระยาสุรินทราชาแปลมาจากเรื่อง Vendetta ของแมรี คอเรลลี ผู้เขียนเรื่อง Ziska นี่เอง การเกิดนวนิยายในยุคแรกของเมืองไทยนั้นยังไม่มีแนวเรื่องที่แน่ชัด จึงมีการรับเอาอิทธิพลหรือแปลงมาจากวรรณกรรมตะวันตกอยู่หลายเรื่องด้วยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง Ziska และพิษสวาทคือแก่นเรื่อง ในขณะที่เรื่องแรกนำเสนอเรื่องความพยาบาทและการแก้แค้น อีกเรื่องเป็นการพูดถึงความรักและความหวงแหนแผ่นดินเกิด ใครที่ได้อ่านนวนิยายทั้งสองเรื่องจะทราบดีว่าผู้เขียนมีจุดประสงค์ในการนำเสนอเรื่องต่างกัน
.
ในการอ่าน Ziska ฉบับภาษาไทยนั้นมีหลายประโยคที่อมราวดีแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าประทับใจ แทบทุกบทจะมีคำคมซ่อนอยู่จนทำให้การอ่านแต่ละครั้งได้ความรู้สึกและประเด็นความคิดที่ไม่เหมือนกัน ขอตัดคำพูดหนึ่งที่เป็นบทสรุปอันครอบคลุมเรื่องนี้มาปิดท้ายว่า
.
...ในสิ่งที่เราเรียกว่าความรักนั้นมีบางอย่างที่แสนประเสริฐอยู่ มันเป็นพรหมลิขิตที่กำหนดไว้แล้ว...ถ้าชะตากำหนดให้ดวงวิญญาณของชายและวิญญาณของหญิงคู่หนึ่งต้องพบกันต้องวิ่งเข้าหากันแล้ว กำลังอำนาจทั้งสิ้นแห่งพิภพก็ไม่อาจสามารถจะขัดขวางมันไว้ได้ และแม้ถ้าหากมีเหตุหรือเหตุการณ์บางประการมาทำให้วิญญาณทั้งสองนี้บรรลุสำเร็จไปตามพรหมลิขิตของมันเนิ่นช้าไปก็ตาม มันก็ยังจะบรรลุผลสำเร็จเข้าสักวันหนึ่งอยู่ดี...
. . . . .
คุณสิรปกรณ์ จันทร (เบิร์ด) ผู้เขียนบทความนี้เป็นนิสิตปริญญาโท
ของภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
และเริ่มเขียนนวนิยาย ซึ่งเรื่องแรกที่เขาเขียนก็ได้รับรางวัลประภัสสร เสวิกุล ด้วย

จากเฟซบุ๊ก
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10153674390376017&set=a.10150236639696017.315925.514201016&type=3&theater
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่