"พิษสวาท": ลอกผลงาน หรือแรงบันดาลใจทางวรรณกรรม?

หมายเหตุ: ข้อเขียนต่อไปนี้ตัดทอนมาจากเฟซบุ๊กส่วนตัวนะคะ เป็นแต่การแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล และไม่ได้มีกระบวนการอ้างอิงทางวิชาการอย่าวเป็นระบบค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าเป็นผู้มีความรู้น้อย ไม่บังอาจนิยามตัวเองในฐานะ "นักวิชาการ" เพียงแต่ได้ร่ำเรียนวิชาทางวรรณคดี-คติชนวิทยามาบ้างเท่านั้น

แม้โดยส่วนตัวจะมิได้เป็น "แฟนพันธุ์แท้" ผลงานนวนิยายของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา "ทมยันตี" ทว่าเมื่อมีการวิพาษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่า นวนิยายเรื่อง "พิษสวาท" ของคุณหญิงวิมล "ลอกโครงเรื่อง" มาจากนวนิยายเรื่อง Ziska ของ Marie Corelli ก็อดจะแสดงความเห็นด้วยไม่ได้

โดยส่วนตัวคิดว่าแม้โครงเรื่องพิษสวาทจะ "ได้รับแรงบันดาลใจ" จากเรื่องซิสกา แต่หากจะเรียกว่า "ลอก" ก็ไม่น่าจะพูดได้เต็มปากนัก ทั้งนี้ก่อนอื่นต้องให้รายละเอียดว่าในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้นๆ ซึ่งเป็นปีที่คุณหญิงเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย "เทรนด์" การประพันธ์นวนิยายไทยในช่วงเวลาร่วมสมัยกันก็นิยมใช้โครงเรื่องของนวนิยายต่างประเทศเป็นแนวทางอยู่พอสมควร หรือจะเรียกว่าเป็น "ความโก้เก๋" ตามปริบทสังคมของยุคสมัยก็น่าจะได้

หากพิจารณาด้วยแนวคิดทางคติชนวิทยา การที่ "เรื่องเล่า" (สำหรับคติชนฯ นวนิยาย = เรื่องเล่าประเภทหนึ่ง) เรื่องหนึ่งได้รับการนำมาปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมรายละเอียดจนกลายเป็น "เรื่องใหม่" ซึ่งแม้จะ "มีเค้าเดิม" แต่มิใช่ "ร้องไห้เกือบจะเป็น) เรื่องเดิม" นั้น เรียกว่า "การแตกเรื่อง"  ด้วยเหตุนี้แล้วหาก "ซิสกา --> พิษสวาท" จริง ย่อมเข้าข่ายการแตกเรื่องเช่นกัน

อนึ่ง การหยิบยืมทางภาษาและวรรณคดีเป็นปรากฏการณ์ปกติทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ

หากจะมองในทางวรรณคดี/วรรณกรรม การแตกเรื่องจากโครงเรื่องวรรณกรรมเรื่องหนึ่งจนก่อให้เกิดวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่ง แสดงให้เห็นถึง "พลังของวรรณกรรม" ของเรื่องแรกที่มีต่อผู้เสพย์ (ซึ่งภายหลังกลายเป็นผู้สร้างงานอีกทอด) ทั้งนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่า "นิยายวัยรุ่น" จำนวนมากในสมัยนี้เองก็น่าจะได้รับอิทธิพลด้านการวางโครงเรื่องจากนวนิยายยุคก่อน จำพวก จำเลยรัก หัวใจเถื่อน หรือบรรดาไพรัชนิยายทะเลทราย รวมถึงจากวรรณกรรมเกาหลี ญี่ปุ่น และอื่นๆ

ดังนั้น ตราบใดที่ไม่ใช่ "งานก็อปเกรดเอ" ประเภทที่เหมือนกันแทบจะทุกอย่าง ต่างแต่รายละเอียดปลีกย่อยน้อยนิด การจะกล่าวหาว่าวรรณกรรมเรื่องใหม่ "ลอกเลียนแบบ" ก็อาจจะไม่สามารถพูดได้เต็มปากเท่าใด

อนึ่ง อาถรรพ์ใดๆ ที่ (คิดว่า) เกิดขึ้นแก่บทประพันธ์และการถ่ายทำละครเรื่องพิษสวาท แสดงให้เห็นว่า "มายาอันสมบูรณ์" ของนวนิยายเรื่องนี้ "ทรงพลัง" เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะได้กล่าวถึงต่างหากต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่