วาทกรรมความรุนแรงต่อผู้หญิงในสื่อ กรณี พิษสวาท( อาจมีการสปอยจบสำหรับท่านที่ไม่ได้ดูละคร)

ละครพิษสวาทที่โด่งดังเพิ่งลาจอไปนั้น สะท้อนอะไรเกี่ยวกับมุมมองวาทกรรมความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทยบ้าง ?

       ในนิยาย อุบล ถูกสามีฆ่าตัดคอ สาปให้เฝ้าสมบัติแผ่นดินรอผู้มีบุญ  ฆ่าทั้งกาย วิญญาณไม่ได้ผุดได้เกิด หากจะมองในมุมมองของผู้ชายสมัยรัฐจารีต อุบลก็เปรียบได้กับทรัพย์สินในครอบครองของพระอรรคผู้เป็นสามี ว่าด้วยลักษณะกฎหมายผัวเมีย ซึ่งอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กันในสมัยอดีต สามีมีสิทธิในการขายภรรยาได้ ลงโทษได้หากภรรยามีชู้ ฯ ล ฯ ดังนี้ การที่พระอรรคทำกับอุบล ถือเป็นสิ่งชอบธรรมในสมัยรัฐจารีต แต่สิ่งที่เป็นดราม่าอันเป็นบ่อเกิดแห่งนิยายเรื่องนี้คือ "ความรัก" เพราะรักแล้วถูกหักหลัง อุบลเลยต้องมาตามทวงแค้น
                                

      ในนิยาย มีข้อแตกต่างจากละคร ตรงที่ มีการเพิ่มรายละเอียดให้อุบล ก่อนตายมีความหึงหวงไม่เข้าใจในสามี และในชาติภพปัจจุบัน ให้อัคนีนั้นเป็นคนรักกับทิพย์อาภา ผู้เคยเกิดมาร่วมชาติกันในอดีต วิญญาณของอุบลเลยหึงหวงข้ามภพข้ามชาติ อารมณ์ประมาณเมียหลวงตามจิกกิ๊กข้ามภพกันไป ถ้าท่านที่เคยอ่านนิยาย จะพบว่าทิพย์อาภาในเวอร์ชั่นหนังสือนั้น เป็นผู้หญิงที่แทบจะไม่มีรักโลภโกรธหลงอะไรเลยในชีวิต เป็นบทที่ถูกเขียนให้เป็นแม่พระจนไม่มีผู้ชายคนไหนจะคิดเกินเลยกับเธอได้เอาเสียเลย เพราะแม่คุณดีไปซะหมด มีการเขียนเป็นนัยๆว่าทิพย์อาภาน่าจะแอบชอบพระเอก แต่ไม่แสดงออก  ในหนังสืออุบลค่อนข้างแน่ใจว่าพระอรรคไม่ได้รักทิพย์ แต่ให้เกียรติและดีกับทิพย์(ซึ่งเป็นเพื่อน ไม่ใช่เมีย สถานภาพทิพย์สำหรับพระอรรคจึงไม่ใช่ "คน"ของพระอรรค) ดังนี้ ในหนังสือ อุบลไม่มีความหึงหวงทิพย์อาภา แต่อาจมีความอิจฉาเล็กน้อยที่สามีให้เกียรติทิพย์ทั้งในชาติก่อนและปัจจุบัน
                           

     ตัดมาเวอร์ชั่นละคร ในพาร์ตอดีต ละครเพิ่มมาค่อนข้างมาก เราจะเห็นพระอรรคมีความ "หนิดหนม" กับ "น้อง" จนน่าหมั่นไส้ในสายตาทีมเมียหลวงหลายคน และเมื่อมาพาร์ตปัจจุบัน ก็เขียนบทให้อัคนีเป็นคนรักกับทิพย์อาภา จนผีคุณอุบลคำรามหึงอยู่เนืองๆตลอดการฉายทุกตอน เข้าใจว่าเป็นความพยายามที่จะ "ขยี้" ดราม่าให้ละครมีความจัดจ้านมากขึ้นจากหนังสือ แล้วยังพ่วงให้บทของเชษฐ์ ซึ่งในหนังสือเป็นหนุ่มเนิร์ดช่างสงสัย ซึ่งอุบลจะมีความ"ขำๆ" กับความเป็นนักวิทยาศาสตร์จ๋าของตะแก กลายเป็นจอมเผือกทะลุมิติ เพราะเชษฐ์ในเวอร์ชั่นละครนั้นถูกเขียนให้ดุดัน จงเกลียดจงชังสโรชินีและเข้าข้างเพื่อนออกนอกหน้า ประมาณว่าหึงเพื่อนแทนเพื่อน แกไม่ใช่กลุ่มฉัน( ผู้มีประสบการณ์เวลาเพื่อนมีแฟนที่คนในกลุ่มไม่ชอบคงจะเข้าใจ) ทั้งนี้เพราะปมหึงหวงที่เขียนบทต้องการขยายออกมาจากหนังสือ จึงเป็นที่มาของความเป็นทิพย์อาภา และเชษฐ์ ที่คนดูรำคาญกันขรม
                
    มาเข้าเนื้อหาการหาความชอบธรรมให้กับวาทกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับอุบลกัน
                     

   ในนิยาย ฉากจบนั้น อุบล เมื่ออัคนีแจงว่าชาติที่แล้วทำไปเพราะเป็นหน้าที่ แต่ความเป็นจริง เค้ารักเตงนะ อุบลก็เริ่มไปไม่เป็น(แพ้คำว่ารักประมาณนั้น) ระหว่างทุกฝ่ายกำลังตรึกว่าจะว่าอย่างไรกันดีล่ะ อัคนีจะอยู่แทนอุบล แต่ทิพย์อาภาก็มาอย่างนางฟ้าว่า จะยอมอยู่แทนอุบลเอง เพื่อให้อุบลไปเกิดคู่กับพระอรรคผัวรักซะ ซึ่งอุบลจะเริ่มมีความเขวว่า อืมม...ก็น่าสนใจนะ แต่พระเอกเราลูกผู้ชายกระทิงแดง ไม่ใช่เมียเราทำแทนไม่ได้ ถ้าอุบลให้ทิพย์เป็นแทน ชาติหน้าชาติไหนไม่ต้องพบกันอีก(ใจร้ายกับเมียสุดๆ) สุดท้าย เหมือนอุบลถูกล็อบบี้กลายๆว่า หล่อนน่ะล่ะต้องทำต่อ คือไม่มีที่ทางสวยๆให้ลงได้เลย แต่ของรางวัลปลอบใจการเฝ้าสมบัติจนถึงยุคพระศรีอาริย์ก็คือ อุบลได้รู้ว่า เห้ย...เขารักช้านน เราทนได้ ไม่เจ็บละ

    ในละคร ความที่ปูเรื่องให้ทิพย์อาภากับอัคนีรักกัน และเชษฐ์ก็เคียดแค้นอะไรกับอุบลนักหนาก็ไม่รู้ ตอนจบของเวอร์ชั่นละครจะมีการหาความชอบธรรมให้กับพระอรรคหรืออัคนีแบบสุดลิ่มทิ่มประตู มีการโยงว่า เขาตัดหัวคุณแถมสาปให้ไม่ได้ผุดได้เกิดนี้คือเขารักคุณเท่าชีวิตเขาเลยนะ(อันนี้เชษฐ์พูด) เป็นเมียข้าราชการ ต้องรับใช้แผ่นดิน คุณมีเกียรติมาก( อันนี้ทิพย์พูด) สาระพันจะยกมาเพื่อบอกว่าพระเอกของเรื่องทุกข์ยิ่งกว่าอุบลซะอีก ยังก่อน ความศักดิ์สิทธิ์ของทิพย์เองก็ดรอปลงไปเพราะนางไม่ใช่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแบบในเวอร์ชั่นหนังสือนะจ๊ะ เวอร์ชั่นละครเธอมีบทบาทของมือที่สามเต็มตัว พอทิพย์อาภาเสนอตัวอยู่แทนอุบล มันจะเป็นฟีลของการ "โชว์เหนือ" ทันที ประมาณว่า เห็นมะ...ฉันเต็มใจทำย่ะ ทีมเมียหลวงจะทำไงได้ล่ะคะ กลายเป็นถูกหาว่า ไม่เข้าใจผัวตัวเอง นี้คือ อุบลผิด ? โดยส่วนตัวดูเวอร์ชั่นละครตอนจบเลยมีความขัดใจมากกว่าในนิยายเสียอีก

    กลับมาประเด็นเรื่องความรุนแรงกับผู้หญิงที่สะท้อนใน พิษสวาท ข้อเท็จจริงคือ ตัวละครอย่างอุบล เป็นผู้ถูกกระทำเต็มๆ แต่เมื่อเธอเลือกตั้งคำถามเรียกร้องความเป็นธรรม กลับถูกเหตุผลเป็นร้อยเป็นพันมาพันธนาการเธอไว้กับหน้าที่ที่ถูกยัดเยียดให้ และบอกว่าความรุนแรงที่เกิดกับเธอนั้นชอบธรรมแล้ว รวมทั้งตัวเธอเองยังยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเพราะว่า เธอ "รัก" เขา ดังนั้น เธอเลย "ทน" ได้

   ถ้าเราจะตัดความซาบซึ้ง อาลัยรักในโหมดอารมณ์ดราม่าทั้งหมดออกไป เราจะพบกับตัวละครหญิงที่ "จำยอม" สุดๆยิ่งกว่าเรื่องจำเลยรัก หรือนางทาส เพราะสุดท้ายแล้ว โศรยา ทนแล้ว ยังได้นายหัวมาครองรักกันในตอนจบ นางเย็น ทนแล้ว ยังได้รับการกู้ชื่อเสียงของตนเองคืนมา แต่อุบลนั้นไซร้ ทนแล้ว ก็จงทนต่อไป แค่รู้ว่าเขารักก็เพียงพอ แล้วก็รอต่อไปจนกว่าถึงยุคพระศรีอาริย์ คือ ถ้าเป็นอย่างนั้นมามองในมุมว่า อุบลยอมทำหน้าที่นี้ต่อไปเพื่อความภาคภูมิใจของตนเอง ว่าทำหน้าที่ผู้พิทักษ์นี้ได้เริ่ดมาโดยตลอดน่าจะทุกข์ใจน้อยกว่าบอกว่าทำหน้าที่นี้แทนสามีผู้เป็นที่รักหรือเปล่า

   เรื่องความรุนแรงต่อสตรี ในสังคมไทย เราว่าบ้านเรายังให้ความสนใจกันน้อยนะ ข่าวของภรรยาที่ถูกทำร้ายโดยคนรักของตัวเองน่ะ มีอยู่เยอะนะ แต่บ้านเราก็สะท้อนมุมมองความรุนแรงต่อสตรีผ่านวรรณกรรม หรือละครอยู่บ่อยๆเกี่ยวกับคติผู้หญิงที่ดี ที่ต้องอดทนเพื่อความรัก เพื่อเหตุผลอันดีงามต่างๆ และความกลัวที่จะถูกประนามว่าเป็นหญิงไม่ดี กลัวคนไม่รัก เราอาจจะห้ามคนไม่ให้มาทำร้ายเราไม่ได้ แต่อย่างน้อย เราต้องอย่าทำร้ายตัวเองด้วยการ "ยอม" ที่จะถูกทำร้าย ด้วยการรักตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองมากกว่าคนอื่น แม้จะเป็นคนที่เรารักก็ตาม พิษสวาท จะเป็นพิษหรือเปล่าอยู่ที่ว่า คุณปล่อยให้ความรักนั้นมาทำร้ายตัวเองหรือไม่ อุบลนั้น อาจจะทำหน้าที่ต่อไป ก็เป็นเรื่องของนิยาย ของละครที่สร้างความสนุกสนานให้ผู้อ่านผู้ชม แต่ในชีวิตจริง ไม่มีเหตุผลอะไรจะทำให้ "การทำร้ายร่างกาย" เป็นสิ่งชอบธรรมที่ยอมรับได้  แม้แต่ความรักก็ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอที่เราจะทำร้ายตัวเองด้วยการบอกว่า ยอมเพราะเขารักเรา



เป็นหญิงไทย ต้องสตรองค่ะ ว่าแล้ว ละครจบ ตอนนี้รอดู The Face Thailand season 3 อย่างใจจดจ่อเป็นทางเลือกต่อไป  เสริมภูมิคุ้มกันให้ความแกร่งกันค่ะ : )
ปล. ไม่ใช่หน้าม้ากันตนา แต่อยากดูพิช่า พิเกด พิบี เป็นเมนเทอร์มากค่ะ ความชอบส่วนบุคคล(รู้ว่าพี่ สะกดยังไงแต่อยากเขียนแบบนี้เพื่อให้อรรถรสยามอ่านแล้วออกเสียง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่