JJNY : เศรษฐกิจดี๊ดี....อสังหาฯ เปิดใหม่ส่อวืดเป้า หวังมาตรการรัฐกระตุ้นซํ้า

กระทู้คำถาม
กูรูอสังหาฯชี้ทิศทางตลาดโค้งท้ายปีไม่พ้นขีดอันตราย ผู้ประกอบการหวังภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมหนุนทางอ้อม นายกอาคารชุด คาดโครงการเปิดขายใหม่บิ๊กดีเวลอปเปอร์ช่วงครึ่งปีหลังมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาทอาจไม่ตามเป้า นายกธุรกิจบ้านจัดสรร เผยตลาดทาวน์เฮาส์โตชัด “พฤกษา” รับอัดโปรแรงแต่ยอดขายไม่คึกคัก ยันรุกเปิดโครงการใหม่ตามแผน พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค เชื่อตลาดดีขึ้น แบงก์มองสินเชื่อบ้าน Q 4 แข่งเดือด

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตามแผนพัฒนาโครงการใหม่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 10 บริษัท คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2559 จะมีโครงการเปิดขายใหม่คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 67% ของมูลค่าโครงการใหม่ที่จะเปิดทั้งปี โดยในครึ่งแรกปี 2559 มูลค่าโครงการเปิดขายใหม่อยู่ที่ประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท ลดลง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558

แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ ให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเร่งเปิดตัวโครงการใหม่ แต่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่ายอดเปิดตัวโครงการใหม่ปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้

ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ และหากภาครัฐจะใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากก่อให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสเงินสดในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลายธุรกิจ เช่น เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น”นายประเสริฐ กล่าว

ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 พบว่า ตัวเลขการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง โดยคาดว่าในไตรมาส 3/2559 โครงการที่เปิดขายใหม่จะลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขยอดขายใหม่ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือลดลงไมต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2558

สำหรับยอดโอนยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยดูได้จากผลประกอบการของแต่ละบริษัทที่สามารถสร้างยอดรับรู้รายได้ตามเป้า เนื่องจากยอดรับรู้รายได้ดังกล่าวเป็นยอดขายเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับยอดขายในช่วงที่ผ่านมากลับลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อตัวเลขการรับรู้รายได้ของบริษัทในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยการหันมาพัฒนาโครงการที่มีระยะเวลาการก่อสร้างสั้นมากขึ้น เช่น โครงการคอนโดมิเนียมโลว์ไรซ์ ซึ่งใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเพียง 1 ปี และสามารถรับรู้รายได้ในเวลา 1 ปีครึ่ง ซึ่งเร็วกว่าการพัฒนาโครงการสูง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างรายได้กับยอดขายใหม่

สิ่งที่น่าจับตามองในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาคือ ตลาดทาวน์เฮาส์มีอัตราเติบโตสูงมาก โดยมีการเปิดขายโครงการใหม่มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อทาวน์เฮาส์เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบราคาขายต่อตารางเมตรกับคอนโดมิเนียมถือว่าถูกกว่ามาก ยิ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าสายที่เดินทางสู่นอกเมือง ถือเป็นการสร้างข้อเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน”นายอธิป กล่าว

สำหรับทิศทางตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2559 ก็คงมีทิศทางเช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากยังไม่พบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยสิ่งที่คิดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายก็คืองานมหกรรมบ้านและคอนโดที่จะจัดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม แต่สิ่งที่ช่วยกระตุ้นตลาดได้ดีที่สุดคือมาตรการจากรัฐ ซึ่งสามารถสร้างแรงกระตุ้นได้ในวงกว้าง เหมือนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯครั้งที่ผ่านมาที่มียอดโอนจำนวนมาก

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2559) บริษัทมียอดขาย 30,240 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนบริษัทจะมียอดขายรวมที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท จากเป้ายอดขายทั้งปี 51,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน

แต่สำหรับเป้ารายได้ 53,000 ล้านบาท นั้น อาจจะต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ตลอดจนสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นจาก 5% เป็น 7% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ เหตุเพราะกลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่มีความสามารถในการซื้อสินค้าระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 59% จากพอร์ตสินค้าของบริษัท ประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขาย “พฤกษา Non Stop” ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2559 มียอดขายไม่เป็นไปตามคาด ทำให้บริษัทต้องปรับลดเป้ายอดขายแคมเปญดังกล่าวลงเหลือ 5,000 ล้านบาท จากเดิม 8,200 ล้านบาท โดยมียอดขายในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท

หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ พบว่า ยอดโอนลดลง บริษัทจึงได้จัดแคมเปญดังกล่าวเพื่อต่อระยะมาตรการแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ บริษัทอาจจะมีการจัดแคมเปญใหญ่อีกครั้งช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างการรับรู้รายได้ให้เป็นไปตามเป้า แต่โดยวงจรของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยอดโอนจะสูงในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ดังนั้นจึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์แวดล้อมต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพตลาด”นายเลอศักดิ์ กล่าว

สำหรับในไตรมาส 3/2559 บริษัทมีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 28-30 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท และที่เหลือจะเปิดในไตรมาส 4/2559 จากเป้าเปิดโครงการใหม่ทั้งปีประมาณ 65 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยโครงการที่เปิดขายใหม่ในไตรมาส 3/2559 มีจำนวนโครงการและมูลค่าที่สูงกว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2559 ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ 27 โครงการ มูลค่ารวม 19,641 ล้านบาท

นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการ 15 โครงการ แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 10 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ จากเป้าเปิดโครงการทั้งปี 16 โครงการ มูลค่ารวม 20,100 ล้านบาท สำหรับเป้ายอดขายทั้งปีอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท โดยคาดว่ายอดขาย 9 เดือนจะอยู่ที่กว่า 9,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายจากสินค้าแนวราบ 2 ใน 3 และคอนโดมิเนียม 1 ใน 3

“คาดการณ์ว่าสภาพตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นจากภาคการเกษตรที่ปัญหาภัยแล้งลดลง ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดกลับมาอีกครั้งหนึ่งแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในปี 2560 แต่ในส่วนของภาคการส่งออกก็ยังทรงตัวเช่นเดิม เศรษฐกิจภายนอกประเทศยังต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด”นายวงศกรณ์ กล่าว

ด้านนางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผย ถึงภาพรวมการแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าจะหมดมาตรการของภาครัฐกำลังซื้อในช่วงแรกจะลดลงไปบ้าง แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 4 สินเชื่อจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากมียอดรอโอนเข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่ทุกค่ายเร่งปิดยอด ซึ่งจะมีการแข่งขันอัดแคมเปญของค่ายผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ออกมา จะช่วยดึงดูดการซื้อมากขึ้น และภาพรวมการแข่งขันจะยังอยู่ในเรื่องของราคาดอกเบี้ย และค่าจดจำนองเป็นหลัก

“เราคาดว่าไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล เพราะช่วงปลายปีจะเป็นช่วงพีคของการปิดยอด โครงการต่างๆ มีแคมเปญ แบงก์เราก็มีแคมเปญที่จะออก และผู้บริโภคก็มีความต้องการดีขึ้น แต่ความต้องการจะเห็นชัดเจนขึ้นในปีหน้า เพราะโครงการรถคันแรกจะเริ่มปลดล็อก ทำให้ดีมานด์เริ่มกลับมา และเป็นดีมานด์จริงที่มีกำลังผ่อน เพราะที่ผ่านมาขออนุมัติสินเชื่อแต่ยังติดปัญหาเรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ที่ยังปริ่มๆ ทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ”

ด้านนายณัฐพล ลือพร้อมชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่าสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ (new loan )ทั้งระบบ ปีนี้ทั้งปีจะเพิ่ม 590,000-610,000 ล้านบาท หรือโตเพิ่ม 3-5 %จากสิ้นปี 2558 ที่มียอดนิวโลนที่ 577,846 ล้านบาท ( ปี 2558 เพิ่มจากปี 2557 เพียง 0.4 %) และประมาณว่าจะมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ในครึ่งปีหลัง 299,000- 320,000 ล้านบาทหลังจากตลาดในภาพรวมครึ่งปีแรกปล่อยไป290,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5.6 % (อ่านประกอบหน้า 11 )

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 – 14 กันยายน พ.ศ. 2559
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่