Pilot’s Review: Sully (2016) “Airmanship”




(บทความนี้มีส่วนเปิดเผยเนื้อหาของหนัง)

ผมได้สมัครเป็นศิษย์การบินทุนการบินไทยในปี  2011 สองปีหลังเหตุการณ์ปาฏิหารย์แม่น้ำฮัดสัน ต้องยอมรับว่าขณะนั้นเรื่องการบินเป็นเรื่องไกลตัว เพราะมีเรื่องให้สนใจอื่นอีกมาก รู้เพียงจากข่าวว่านักบินในไฟล์ทนั้นควรค่าการเป็นวีรบุรุษเพราะนำเครื่องลงจอดในแม่น้ำปลอดภัยและช่วยผู้โดยสารทั้งไฟล์ท

ความรู้สึกจากสิ่งที่ผมรับรู้ในวันนั้นคงไม่ต่างจากคนรอบตัวของกัปตัน Chesley Sullenberger หรือ Sully ในหนังเรื่องนี้...

ในเรื่องของงานภาพยนต์ Clint Eastwood ยังคงความเป็นผู้กำกับที่เล่นกับประเด็นความรู้สึกของ “คน” ในเหตุการณ์สำคัญ ไม่ต่างจาก American Sniper (2014), J. Edgar (2011), Changeling (2008), Letters from Iwo Jima และ Flags of our Fathers (2006) โดยเล่าเรื่องอย่างราบเรียบไม่ปลุกเร้าความรู้สึกของคนดู แต่ค่อย ๆ สร้างอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครในเหตุการณ์นั้น ๆ เพียงแต่ครั้งนี้มันทำให้ผม “อิน” ลึกไปด้วยจากอาชีพของตัวเอง ทั้งที่พล้อตของเรื่องนี้เรียบง่ายมาก นั่นคือ ชีวิตของนักบินนำเครื่องลงฉุกเฉินช่วยชีวิตผู้โดยสารแล้วถูกสอบสวน

คงไม่เป็นการสปอยด์เพราะเราต่างรู้ที่มาที่ไปของเรื่องราวนี้อยู่แล้ว แต่ปู่ Clint ก็ยังเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งพอจะเล่นกับจังหวะกับคนดู โดยลำดับการเล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนจบโดยฉลาดพอจะไม่เล่าตามลำดับเวลา อย่างไรก็ตามก็ยังมีความเป็นสูตรสำเร็จของหนังชีวประวัติแนวนี้ แทบจะใกล้เคียงกับเรื่อง The Aviator (2004) ทั้งสารที่สื่อและแนวทางการเล่าเรื่อง จุดนี้เองโดยส่วนตัวแล้วผมกลับชอบงานของปู่ที่ไม่ได้สร้างจากเรื่องจริงอย่าง Mystic River (2003), Million Dollar Baby (2004), และ Gran Torino (2008) มากกว่า อาจเพราะปู่สามารถเล่นกับประเด็นปมปัญหาของตัวละครได้ลึกและชัดเจนมากกว่าการต้องอิงกับเรื่องจริง

แต่เรื่องนี้คงเป็นเรื่องห้ามพลาดของผม นักบินท่านอื่น ลูกเรือ หรือผู้อยู่ในอุตสาหกรรมการบิน รวมไปถึงครอบครัวผู้อยู่รอบตัวของนักบิน เพราะภาพยนต์น้อยเรื่องนักจะถ่ายทอดการทำงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในสายงานที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกได้ชัดเจนเท่าเรื่องนี้ รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจลงไปถึงเป้าหมายการทำงานและจิตใจของผู้ทำงานภายใต้สภาวะความกดดันโดยเฉพาะกรณีฉุกเฉินในอาชีพนี้

ในฐานะนักบินสาย Airbus ยิ่งทำให้สนุกไปกับรายละเอียดทางเทคนิคและขั้นตอนการทำงานภายในเรื่อง ที่ถ่ายทอดมาได้ใกล้เคียงความเป็นจริงไม่ต่างจากการออกไปทำหน้าที่หรือฝึกฝนที่ผ่านมา แต่คุณความดีของเรื่องนอกจากการจับประเด็นไปที่เบื้องหลังสภาวะจิตใจของนักบินที่ทุกคนมองว่าเป็นวีรบุรุษแล้ว สิ่งที่ผมชอบมากสำหรับหนังเรื่องนี้คือ การไม่ลืมใส่รายละเอียดและให้เครดิตกับผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ผ่านพ้นมาได้ด้วยดีตั้งแต่ ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ควบคุมการบิน ผู้โดยสาร หน่วยกู้ภัย กัปตันเดินเรือ ฯลฯ ดังที่กัปตันซัลลี่กล่าวในตอนท้าย แต่สำหรับผมที่กินใจที่สุดนอกจากหนังได้แสดงอารมณ์ร่วมของเจ้าหน้าที่ควบคุมการบินที่เหมือนรับผิดชอบทุกชีวิตไม่ต่างจากนักบินเช่นกันและความเป็นมืออาชีพของทุกคนในเรื่อง กลับเป็นฉากเล็ก ๆ ที่ย้อนไปสมัยซัลลี่ยังเป็นนักบินใหม่เรียนกับครู แม้หนังจะใช้เวลาช่วงนี้ไม่มาก แต่ถ้าใครเคยเป็นศิษย์การบินจะกลับไปคิดถึงครูของเรา เพราะในวงการบินกว่าจะบินได้ครูทุกคนต้องสอนศิษย์มาด้วยชีวิต

ขณะที่แก่นของเรื่องที่มุ่งไปยังจิตใจของซัลลี่ก็สะท้อนตัวตนของนักบิน(ส่วนใหญ่)ไม่ต่างกัน ที่ภายนอกอาจเป็นอาชีพที่ดูพิเศษในสายตาคนอื่น ไม่ต่างจากซัลลี่ที่มีแต่คนมองเป็นฮีโร่ แต่ความจริงแล้วนักบินก็คือคนธรรมดา มีความรู้สึก มีเรื่องสัพเพเหระให้ต้องคิด มีหนี้สินให้ต้องกังวล ฯลฯ ทุกคนคือคนธรรมดาที่ได้รับการฝึกฝน เพียงแต่เมื่ออยู่บนฟ้า เราต่างต้องทิ้งเรื่องราวบนพื้นไว้เพื่อภารกิจมีหน้าที่ข้างหน้า จนบางทีอาจไม่ต่างจากที่นักบินที่หนึ่ง Jeff Skiles คุยกับซัลลี่ว่า บางทีชีวิตบนฟ้าก็ง่ายกว่าบนพื้น -เพราะสิ่งเดียวที่เราต้องทำคือการนำผู้โดยสารทุกคนกลับลงสู้พื้นดิน (หรือน้ำ^^) อีกครั้งอย่างปลอดภัย- นี่เองที่สื่อออกมาจากทุกการกระทำของนักบินในเรื่อง โดยอาศัยประสบการณ์ในการตัดสินใจทุกอย่างทั้งที่มีเวลาเพียง  208 วินาทีตั้งแต่วิ่งขึ้นจนนำเครื่องลง สั้นกว่าการนั่งฟังเพลงหนึ่งเพลงแต่เป็นจุดที่ใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์เพื่อประเมินสถานการณ์ตรงหน้า อย่างที่หนังได้โต้แย้งโดยเจ้าหน้าที่สืบสวนมาเป็นตัวสร้างปมขัดแย้งและตอบคำถามว่าทำไมเราจึงต้องมีนักบินอย่างกัปตันซัลลี่

อีกฉากที่ประทับใจที่สุด ไม่ใช่เป็นเรื่องการนำเครื่องบินลงได้อย่างปลอดภัย แต่เป็น “155” จำนวน  Soul on Board  หรือชีวิตทั้งหมดบนเครื่องในไฟล์ท  AWE1549  เราจะได้ยินตัวเลขนี้ซ้ำ ๆ  จากปากของซัลลี่ เพราะนั่นคือความรับผิดชอบทั้งหมดบนบ่าที่นักบินทุกคนในทุกไฟล์ทจะต้องระลึก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเรื่องจริงเป็นเช่นไร แต่ทันทีที่เพื่อนของซัลลี่บอกว่า 155 ครบทุกคน นั่นเป็นจุดที่อารมณ์ผมพีคที่สุดในเรื่องไปตามซัลลี่

...ในรอบสุดท้ายของการทดสอบทางจิตวิทยาด้วยการสัมภาษณ์จากโปรเฟสเซอร์ ผมพยายามเตรียมตัวหาคำตอบให้กับตัวเองกับคำถามว่า “ทำไมถึงอยากเป็นนักบิน?” ผมจำได้ว่าใช้เวลาสองอาทิตย์เพื่อทบทวนหาคำตอบที่ออกมาจากภายในที่สุดว่าอะไรคือคุณค่าของอาชีพนี้ ซึ่งห่างจากเส้นทางฝันของผมอีกเส้นทางมาก จนในที่สุดผมก็พบคำตอบและคุณค่านั้นและเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่าฟันทุกสิ่งมาจนถึงวันนี้ วันที่ผมไม่ได้เพียงฟังข่าวและมองซัลลี่เป็นเพียงวีรบุรุษแต่เพียงผิวเผินอีกต่อไป

ผมคงไม่บอกคำตอบนั้น ณ จุดนี้ แต่หนังเรื่องนี้คงพอตอกย้ำถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าของนักบินทุกคน และคนภายนอกให้มองคุณค่าความหมายกับสิ่งที่ตัวเองกำลังค้นหาได้ไม่มากก็น้อย

8/10
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่