+ + จิตเดิมแท้ + +



ปรัชญาธรรม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากหนังสือ คิดถึงปู่ โดย หลวงพ่อมนตรี อาภัสสะโร


พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย อันเป็นที่หมายในเบื้องสูงสุด และสัตว์เดรัจฉานที่เล็กแสนเล็กเกือบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เป็นความหมายค่าของความต่ำสุด สิ่งทั้งสอนนี้ย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเหมือนกันหมด และทุก ๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกับพุทธะอยู่ตลอดเวลา นี้เป็นปรัชญาธรรมอันล้ำค่าที่เหนือความจริงทั้งหมด และเหนือความถูกต้องทั้งมวลของบรมครูยอดนักปราชญ์เอกแห่งพุทธกัลป์ นั่นคือ พระราชวุฒาจารย์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระปัจเจกโพธิ์องค์เดียวเท่านั้นในพุทธันดรนี้

ที่ท่านอุบัติมาเพื่อช่วยเสริมบารมีพระชินสีห์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม ท่านอุบัติขึ้นมาเพื่อช่วยจรรโลงประทีปแห่งสัจธรรม ที่กำลังหรี่แสงอ่อนแรงเกือบจะดับอยู่แล้วนี้ ให้โชติช่วงชัชวาลกระจ่างขึ้น อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และท่านอุบัติขึ้นมาเพื่อช่วยชี้แนวสัจภาวะอันถูกต้อง ให้เวไนยสัตว์ใช้เป็นทางเดินเพื่อเข้าสู่โลกุตระภูมิ ก่อนที่ความมืดมิดจะครอบคลุมดวงจิตของสัตว์โลกผู้น่าสงสาร นั่นหมายถึงว่า อสัจธรรมที่ถูกปฏิรูปขึ้นใหม่แบบแปลก ๆ กำลังจะแผ่คลุมโลก ผู้ที่ไม่มีความรู้ และยังเข้าสัมผัสไม่ถึงธรรมที่แท้จริง กำลังตั้งตัวขึ้นเป็นครูอาจารย์ แย่งกันประกาศสัจธรรมในทางที่ผิดพระธรรมคำสอนอันล้ำเลิศ และหนทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความดับทุกข์ อันถูกต้องของพระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังจะถูกลบให้เลือนรางห่างหายไป

สัตว์โลกผู้น่าสงสาร ผู้ปรารถนาจะข้ามห้วงมหาสาคร คือห้วงวัฏฏะแห่งนี้ นับวันจะถูกเกลียวคลื่นแห่งอสัจธรรม พัดกระหน่ำให้ลอยออกห่างจากเป้าหมายทุกที ดังจะเห็นได้ว่าการบำเพ็ญเพียรของปราชญ์ทั้งหลาย ที่เห็นภัยในวัฏฏะ ก็เพื่อที่จะแสวงหาจิตเดิมและจิตแท้เท่านั้น แต่วิถีทางบำเพ็ญเพียร ข้อวัตรปฏิบัติส่วนมากมักจะอ้อมคดโค้งจนสุดโต่ง และมักจะเอียงลาดลงสู่ความเบื่อหน่าย คลายความเพียรในที่สุด เพราะผิดทาง

จิตเดิมแท้ มันมีความเป็นเอกภาพโดยเนื้อหาสมบูรณ์ในตัวมันเต็มที่แล้ว แต่ถ้าไปตั้งกฎตั้งเกณฑ์ หรือจัดระบบมันเข้า หรือจะเพียรพยายามดึงมันเข้าสู่กฎ ความเป็นของคู่ของระบบจักรวาลคือรูปและนาม ก็ดูเหมือนว่าไม่สามารถจะอนุมานให้มันตกอยู่ในฝ่ายใดได้ทั้งสิ้น มันมีสภาวะที่ไม่เหมือนอะไร แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมาเหมือน หรือแม้แต่เพียงละม้ายคล้ายคลึงมัน มันเป็นสภาวะที่อยู่เหนืออภิธรรมชาติ เหนือกฎแห่งการสมมุติบัญญัติ เหนือเหตุ เหนือผล เหนือบุญ เหนือบาป เหนือดิน น้ำ ลม ไฟ จะก้าวก่ายสัมผัสถึง

ดังนั้นป่วยการที่เราจะเข้าไปสัมผัสกับภาวะนี้ให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยการพูด การฟัง การอ่าน หรือการนึกคิดคาดคะเนเอา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอันตราย ที่จะนำเราเข้าสู่วิปัสสนูภูมิทั้งสิ้น อันเป็นหนทางที่จะนำเรากลับมาสู่การเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น

ความสงบ นิ่งเฉย และจงละลายคำพูดคำอธิบายต่าง ๆ ตลอดจนตำรับตำราคำสั่งของครูบาอาจารย์ทั้งหลายแหล่ให้หมดสิ้น แล้วหันมาดูจิต ศึกษาจิต พิจารณาจิต จนสามารถแยกจิตแท้และอารมณ์ได้อย่างถูกฝาถูกตัว นี่แหละจะเป็นหนทางที่จะพาเราเข้าสัมผัสกับภาวะนี้ได้อย่างถูกต้องที่สุด ถ้าโดยวิธีอื่นแล้วก็เหมือนกับเราเหวี่ยงแหขึ้นบนอากาศ เมื่อไหร่ถึงจะได้ปลา

อารมณ์ต่าง ๆ นั้นมันย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามวงล้อแห่งวัฏฏะ มันมิได้เกี่ยวข้องกับอายตนะหนึ่งอายตนะใดเลย เมื่อเวไนยสัตว์ตนใดไปสัมผัสผูกรัดมันเข้า ถ้าขาดปัญญา ก็จะถูกมันดูดดึงลงสู่ห้วงแห่งความมืดมนอนธการ นั่นหมายถึงว่า วิถีทางที่จะเข้าสู่จิตเดิมจิตแท้ของเขานั้นย่อมเลือนรางห่างหายออกไปทุกที

ถ้าเราไม่รู้จักสภาวะที่แท้จริงของจิตแท้แล้ว เราก็ไม่มีทางที่จะค้นหามันได้ถูกต้อง ยิ่งดิ้นรนขวนขวายแสวงหามากเท่าใดก็ดูเหมือนว่า จะยิ่งจมลงสู่ปลักแห่งความหายนะ คือวัฏฏะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระปัจเจกโพธิ์องค์สำคัญคือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านจึงได้สั่งนักสั่งไว้หนาว่า "อย่าส่งจิตออกนอก" เพราะมันเป็นประตู ๆ เดียวที่จะเปิดไปสู่มรรควิถีที่จะพาไปพบจิตเดิมจิตแท้

สภาวะที่แท้จริงของจิตเดิมจิตแท้นั้น ก็คือสภาวะแห่งความเป็นพุทธะนั่นเอง หรือเราอาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่แท้จริง ก็คือสภาวะแห่งจิตเดิมจิตแท้นั่นเอง สิ่ง ๆ นี้ มันเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้กับปลายจมูกเรา เพียงแค่ชั่วเสียวหนึ่งของเม็ดทรายเท่านั้น แต่เป็นเพราะพวกเราผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ไปหลงติดในพิธีกรรมและข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีมากมายหลายแบบหลายตอน แล้วก็หลงยึดมั่นว่าเป็นหนทางบำเพ็ญเพียรเพื่อสรรค์สร้างปรามิตาทั้งหก เพื่อหวังจะก้าวเข้าถึงความเป็นพุทธะกับเขาสักองค์หนึ่ง

ก็สภาวะที่แท้จริงของจิตเดิมจิตแท้หรือพุทธะที่แท้จริงนั้น ไม่มีขั้นตอนในการเข้าถึง มันเป็นสิ่ง ๆ เดียวรวด เพียงแต่ขอให้เราเลิกผูกพันกับรูปธรรมต่าง ๆ ให้หมดสิ้น แล้วหันมาทำความเข้าใจจิตกับอารมณ์ให้ถูกต้อง เราก็จะพบเองเห็นเอง รู้ว่าสิ่ง ๆ นี้มันอยู่ใกล้แสนใกล้กับปลายจมูกของเราแค่นี้เอง เมื่อวาระนั้นมาถึงเราคงจะได้เสพย์รสประทินกลิ่นหอมของภาวะนี้อย่างถึงใจ ให้สมกับที่ได้เพียรแสวงหามาหลายหมื่นหลายแสนกัลป์แล้ว จิตของผู้ที่ยังข้องเกี่ยวอยู่ในกามคุณ ย่อมเป็นจิตที่ถูกเปลี่ยนฐานะจากเดิมโดยอำนาจของอวิชชา เราจึงเรียกว่าจิตแห่งปุถุชน เพราะมันยังตกอยู่ในครรลองแห่งสภาวะธรรม

แต่ถ้าเราสามารถปฏิวัติจิตหรือปฏิรูปจิตแห่งปุถุชนนี้ ให้เข้าสู่สภาวะเดิมได้อย่างหมดจดสิ้นเชิง ไม่เหลือแม้แต่ปรมาณูเดียว จิตก็จะหยุดการยักย้ายถ่ายเท นั่นหมายถึงว่าภาวะแห่งการเปิดรับอารมณ์ ที่จะเป็นองค์กรหรือปัจจัยให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหว แล้วปรุงแต่งไปตามสภาวะต่าง ๆ ที่เรียกว่า จิตสังขาร ก็จะถูกตัดขาดโดยทันที จิตเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวโดยสนิท ด้วยอำนาจ ญาณปัญญา อันละเอียดลึกซึ่งที่ฉายส่องเข้าสัมผัสแก่นแท้ของจิตได้อย่างถูกต้องที่เรียกว่า "จับกิริยาจิตได้แล้ว" ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับ จึงกล่าวได้ว่า เมื่อเหตุถูกทำลาย ผลอันเกิดจากเหตุจึงไม่มีภาวะต่อไป เราจึงเรียกว่า "มหาสุญญตา"

มันเป็นความว่างที่ถูกบรรจงทับซ่อนไว้อย่างประณีต บนความว่างอีกชั้นหนึ่ง มันจึงเป็น "ว่างในว่าง" มันเป็นความว่างที่สะอาด บริสุทธิ์เหนือความบริสุทธิ์ทั้งมวล สมแล้วกับคำกล่าวของหลวงปู่ดูลย์ที่ว่า "มันเป็นความงามที่ไร้ตำหนิ", "มันเป็นเพชรพลอยที่อยู่เหนือการตีค่าทั้งปวงเสียจริง ๆ"

ดังนั้น ขอให้ผู้ปรารถนาจะข้ามพ้นทุกข์ให้ได้ในชาตินี้ จงเร่งทำความเข้าใจกับสภาวะนี้ให้กระจ่างแจ้ง โดยการ แยกรูปถอดด้วยวิชา มรรคจิต เหตุต้องละ ผลต้องละใช้ หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด ตามที่หลวงปู่ดูลย์ที่กล่าวไว้แล้วว่า "จงเร่งทำญาณให้เห็นจิต เสมือนหนึ่งตาเห็นรูป" ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้พร้อม และเป็นไปเพื่อเข้าสู่ภาวะแห่งจิตเดิมจิตแท้ พุทธะหรือนิพพานนั่นเอง

โดยธรรมชาติแห่งความเป็นจริงแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมมีจิตโน้มเอียงเข้าสู่ภาวะนิพพานอยู่ทุกขณะจิต เช่นเดียวกับพุทธะ เพราะสิ่งทั้งสองนี้ย่อมมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันตลอดเวลา นิพพานคือสมบัติเก่าของพุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อภาวะธรรมเป็นเช่นนี้ ทั้งสองสิ่งนี้ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะเดิมได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าสัตว์โลกนั้น ไปหลงติดอยู่กับรูปธรรมเสียจนแทบไม่เงยหน้า

เขาจึงไม่อาจสัมผัสกับรังสีแห่งนิพพานสมบัติเก่าของเขาได้ถนัดนัก ดังนั้นเขาจึงสร้างมโนภาพแห่งความท้อแท้ ให้กับตนเองขึ้นมาว่า นิพพานเป็นของไกลเกินฝัน นิพพานเป็นของสูงเกินบุญบารมีจะเอื้อมถึง และนิพพานเป็นของลึกลับซับซ้อนมหัศจรรย์ โดยภาวะแห่งความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องไปนั่งฝันถึงคะนึงหา ไม่มีอะไรจะสูงเกินบุญบารมี ถ้าเราคิดจะเอื้อม และไม่เห็นมีอะไรสักนิดที่จะลึกลับซับซ้อนมหัศจรรย์ เรื่องของเรื่องมันเพียงแต่ "ตื่นและลืมตาต่อจิตหนึ่งเท่านั้น"

ไม่มีอะไรจะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละคือนิพพาน สมจริงดังคำกล่าวของหลวงปู่ดูลย์ไม่ผิดแม้เพียงมิติเดียว ข้อวัตรปฏิบัติที่นอกรีตนอกรอย อ้อมวนคดโค้งจนสุดโต่ง มีขั้นมีตอนเยิ่นเย้อในการปฏิบัติ เต็มไปด้วยพิธีรีตอง ที่บรรดาปราชญ์ผู้ไม่รู้จริงทั้งหลายได้สรรค์สร้างขึ้นมาสอน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปิดกั้นสัตว์โลกผู้น่าสงสาร ให้ห่างออกมาเสียจากหนทางแห่งความสูงสุดนั้นอย่างน่าเสียดาย เพราะข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ฟุ่มเฟือยไปด้วยแบบแผน พิธีรีตองและหนักไปทางแรงกาย แต่อัตคัดขาดแคลนเจือจางบางเบาด้วยภูมิสติปัญญา แล้วอีกกี่แสนกัลป์ เราถึงจะเข้าถึงสภาวะนี้ได้

หลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายและสัตว์โลกทั้งหมด ไม่ได้เป็นอะไรเลย เป็นเพียงจิตหนึ่งเท่านั้น คำกล่าวนี้ถูกต้องที่สุดสำหรับผู้ที่ ตื่น และ ลืมตา เข้าถึงสัจภาวะได้แล้ว จิตนี้มันย่อมรวมทั้งอวิชชาและสัมมาทิฐิไว้ในขณะที่มันไม่ได้เป็นธาตุแท้โดยเนื้อหาตัวมันเอง และมันไม่ได้เป็นอะไรเลยเมื่อมันกลับเข้าสู่ภาวะของความสมบูรณ์ในตัวเต็มที่แล้ว ถ้าเราสามารถค้นพบความลับดังกล่าวนี้ได้ และทำความเข้าใจต่อสิ่ง ๆ นี้ ได้อย่างแน่ชัดเด็ดขาดลงไป เราก็จะพบกับความสำเร็จแน่นอนในชาตินี้ ดังเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อพระองค์สละราชสมบัติเพื่อออกแสวงหาโมกขธรรมโดยลำพังพระองค์เอง

ปราชญ์สมัยก่อนเชื่อกันว่า อายตนะทั้งห้าทำให้เกิดทุกข์ ครั้งแรกพระองค์ก็ทรงเพ่งความเพียรลงที่จุดนี้ แต่จนแล้วจนรอดก็หาสัมฤทธิ์ผลไม่ จนในที่สุดพระองค์ก็หันมาพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับจิต จนสามารถรู้ความลับของมันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง พระองค์จึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูของเทวดาและมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พวกเราทั้งหลายต่างก็ประกาศตัวเป็นพุทธสาวก พุทธสาวิกากันอย่างเต็มใจแล้ว ก็ขอจงได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน จงศึกษาพิจารณาและทำความเข้าใจจิตให้ละเอียดลึกซึ้ง เพราะจิตเท่านั้นคือหลักธรรมที่แท้จริง ถ้านอกจากนั้นก็ไม่ใช่หลักธรรม แล้วก็ไม่ใช่จิต ทำญาณจนเห็นจิตได้แจ่มชัดเมื่อใด ก็เชื่อว่าได้พบพุทธกระจ่างสดใสเมื่อนั้น เราจะไม่มีการโน้มเอียงกลับมาสู่การเกิดใหม่อีกไม่ว่าโลกไหน ๆ ทั้งสิ้น ทุกอณูแห่งจิตสำนึกของเราก็คงจะก้องแต่พยางค์ที่ว่า นิพพานัง ปะระมัง สุขัง, นิพพานัง ปะระมัง สุญญัง (พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, พระนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง) ตราบจนเราทิ้งขันธ์ละจากโลกนี้ไป.


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่