<<ความรู้จากละคร>> "เลือดรักทระนง" ลำโพงพืชมีพิษ....



ชื่อวิทยาศาสตร์ Datura metel L. var. metel
วงศ์    Solanaceae

ชื่ออื่น ๆ    มะเขือบ้า มั่งโต๊ะโล๊ะ ละอังกะ ลำโพง เลี๊ยก Apple of peru, Green thorn apple, Hindu datura, Metel, Thorn apple
ลักษณะของพืช    ไม้พุ่ม ขนาด 1.5-1.8 เมตร ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบหรือง่ามกิ่ง มีสีขาวหรือขาวนวล เป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีขนาด 11.5-12.5 เซนติเมตร ใบเป็นรูปไข่ เส้นขอบใบหยัก ฐานใบไม่เท่ากัน ใบมีขน ผลเป็นรูปทรงกลมมีหนามแหลม ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เป็นรูปไต สีน้ำตาล-เหลือง
ส่วนที่เป็นพิษ    ทุกส่วน โดยเฉพาะเมล็ด
สารพิษที่พบ    สารกลุ่ม tropane alkaloids ซึ่งสารสำคัญได้แก่ hyoscine และ hyoscyamine
อาการพิษ    ปากคอแห้ง กระหายน้ำอย่างรุนแรง ตาพร่า รูม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ น้ำลายแห้ง กลืนน้ำลายลำบาก และพูดไม่ชัด ผิวหนังร้อนแดง และแห้ง มีไข้ร่วมกับปวดหัว ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน ตื่นเต้น กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มึนงง มีอาการประสาทหูและตาหลอน และอาจมีพฤติกรรมคล้ายโรคจิต ในเด็กบางคนมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาการปัสสาวะคั่ง ท้องผูก ในรายที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจหมดสติและโคม่า

ตัวอย่างผู้ป่วย    

- มีรายงานความเป็นพิษในผู้ใหญ่รับประทานต้น และผลสดของลำโพงขาว
- ชายชาวต่างประเทศ 4 คน ดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเมล็ดลำโพงขาว พร้อมกับสูบดอกแห้งของลำโพงขาว อาการพิษที่พบในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย เป็นอาการพิษที่คล้ายกับอาการพิษเนื่องจากสารอะโทรปีน ผู้ป่วยมีอาการทางประสาทเป็นหลัก กล่าวคือ มีอาการกระสับกระส่าย เพ้อ เดินเซ ประสาทหลอน รูม่านตาขยาย มีอาการคั่งของปัสสาวะ นอกจากนั้นยังพบอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปากแห้ง กระหายน้ำ และหัวใจเต้นแรง
- เด็กไทยอายุประมาณ 10-12 ปี รับประทานดอกลำโพงขาว ผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง ม่านตาขยาย ผิวหน้าร้อนแดง และมีไข้

การรักษา    

1. ในกรณีที่รับประทานเข้าไปควรรีบขัดขวางการดูดซึมสารกลุ่มโทรเปนแอลคาลอยด์โดยเร็ว ซึ่งอาจทำได้โดยล้างท้อง หรือให้ผงถ่าน แล้วให้ยาถ่าย
2. ใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าจำเป็น
3. ลดไข้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว
4. ให้ยา physostigmine (เด็ก ขนาด 0.5-1.0 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ ขนาด 1-4 มิลลิกรัม) เข้าเส้นเลือดดำช้า ๆ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที ขนาดยาอาจเพิ่มขึ้นโดยฉีดซ้ำทุก 5 นาที แต่ขนาดยาทั้งหมดรวมกันแล้ว เด็กไม่เกิน 2 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่ไม่เกิน 6 มิลลิกรัม
5. ควรมี atropine (1 มิลลิกรัม) เตรียมไว้ เพื่อแก้ไขกรณีที่ให้ physostimine มากเกินไป จนทำให้เกิดหัวใจเต้นช้า ชัก ปรือ ทำให้หลอดลมเกร็งตัวอย่างมาก
6. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตื่นเต้นมากและชัก อาจให้ยา diazepam ได้ แต่ต้องระวังอย่าใช้ในขนาดสูง เพราะในระยะหลังการเกิดพิษเนื่องจากสารกลุ่มโทรเปนแอลคาลอยด์จะกดการทำงานของสมองส่วนกลางร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เสริมฤทธิ์กับ diazepam ได้

ที่มา http://www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/lamphong.htm
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่