ทีโอทีโล่ง! ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ไม่ต้องจ่าย 9พันล้านให้ทรู


ทีโอทีโล่ง! ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ไม่ต้องจ่าย 9พันล้านให้ทรู


          รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในคดีที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว

          จากกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาท ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แบ่งผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการนำบริการพิเศษตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์มาผ่านโครงข่ายของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชำระเงินจำนวน 9,175,817,440.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

          โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณา ตามกฎหมายไทยตามที่กำหนดในสัญญาและมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 40  วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาท มีเจตนารมณ์ที่จะให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดสรรต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมาตรา 25 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 บัญญัติให้การเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม โดยให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการโทรคมนาคม รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543

          โดยมาตรา 80 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 บัญญัติให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมของคู่สัญญาเดิมต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และมาตรา 26 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542บัญญัติให้สิทธิประโยชน์ตามสัญญาเดิมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อมีการตรากฎหมายว่าด้วยการดำเนินกิจการที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งมีผลทำให้สิทธิของคู่สัญญาเดิมอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามที่กำหนดไว้เดิมต้องถูกยกเลิกไป

          การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทโดยพิจารณาแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนโดยคำนึงถึงความสุจริตยุติธรรมและปกติประเพณีตามมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่ได้พิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ขอใช้หรือขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทุกราย อันเป็นการไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

          ดังนั้น การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ และศาลต้องปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว

          ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องด้วยในผลและมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว


แหล่งข่าว
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1471583735
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่