คืนแล้วไม่ผิด จริงหรือ

"คืนแล้วไม่ผิด" จริงหรือ?

จับคนร้ายประเภท "สุภาพบุรุษโจร" ไม่ยาก!

เพราะประเภทนี้ มักเป็นโจรจำเป็นบ้าง ตกกระไดพลอยโจนบ้าง โจรจำใจบ้าง จึงพร้อมสำนึกผิด เมื่อถูกจับกุม

แต่โจรประเภท "เดียรถีย์-อลัชชี" จำแลงเป็นพระหากินในคราบ "โล้นคลุมเหลือง" ประเภทนี้ จับยากมาก

เพราะใจหยาบโดยกมลสันดาน ยิ่งมีคนหลงเชื่อ ถูกขุนจนตกคลั่กอยู่ในกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด จึงเข้าตำรา...

"ใส่ครกตำ สักพันปี ก็บ่มี ซึ่งยางอาย"!

ก็ไม่อยากคุยอะไร วันนี้มา "เลาะรอบขอบนรก" แก้แล้งกันซักวันดีกว่า เริ่มจากข่าววันก่อน

นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนาย "สมเด็จช่วง" วัดปากน้ำ ยื่นหนังสือ DSI ให้ข้อมูล "เบนซ์เถื่อน" ของสมเด็จฯ ประเด็นสำคัญตอนหนึ่งว่า........

"จากการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด ยืนยันว่า สมเด็จช่วงบริสุทธิ์แน่นอนและข้อมูลไม่พบความผิด.........

............ปัจจุบัน สมเด็จช่วงได้นำรถคันดังกล่าวมอบคืนให้กับผู้บริจาคโดยไม่ประสงค์ให้อยู่ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งขณะนี้ได้ฝากไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านก่อน เพื่อมอบคืนแก่ผู้บริจาคต่อไป

ส่วนการซื้อขายและดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์ สมเด็จช่วงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใด

เพียงแต่มีลายเซ็นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาคเท่านั้น"

สรุป คืนแล้วไม่ผิด!

มาเมื่อวาน (๓ มี.ค.๕๙) พลเอกไพบูลย์ รัตนฉายา รมว.ยุติธรรม พูดถึงประเด็นนี้ว่า....."

".....หลังจากตรวจสอบว่ารถคันนี้ผิดกฎหมาย สมเด็จช่วงจะสามารถคืนให้กับผู้บริจาคได้หรือไม่นั้น ผมเห็นว่า จะต้องดูที่ขั้นแรกว่า รถผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก็จบไปแล้วว่า รถผิดกฎหมายจริง

และขั้นที่สอง ผู้ครอบครองมีสถานะในการครอบครองรถคันนี้ผิดหรือไม่ ประเด็นที่สอบสวน มีเพียงแค่นี้

การจะนำรถไปที่ไหนและนำไปให้ใคร คนละประเด็นกัน ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันว่า เมื่อสมเด็จช่วงได้คืนรถคันนี้ให้กับผู้บริจาคแล้วจะไม่มีความผิด ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ จะต้องดำเนินคดีต่อไป เพราะไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ดำเนินคดี ซึ่งการครอบครองรถคันนี้โดยผิดกฎหมาย

ถ้ามันผิดก็ต้องรับผิด.......

จะเอารถคันนี้ไปไว้ที่ไหนก็มีความผิดเหมือนเดิม เพราะตอนนี้กำลังพิสูจน์ว่า รถคันนี้ผิดหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับว่าจะนำรถไปไหน"

ด้วยแนวกฎหมายทนายสมศักดิ์ ทำให้นึกถึงคดี "ธัมมชโย" เมื่อปี ๒๕๔๑ เพราะลงท้ายมหาเถรฯ ก็สรุป "ธัมมชโยไม่ผิด" ด้วยแนวเดียวกัน

"คืนแล้วไม่ปาราชิก"!?

จาก ๔๑ ลูกศิษย์ต้องคดี มาปี ๕๙ อาจารย์ต้องคดี ก็ลองตามเส้นทางกันดูซิว่า ตรรกะ "คืนแล้วไม่ผิด"

จริงๆ แล้ว "มันผิดหรือไม่ผิด"?

ย้อนศึกษาเรื่องธัมมชโย เมื่อปี ๔๑ กันนิด https://www.facebook.com/permalink.php?id=429431607072760... เรียบเรียงไว้กระชับ ขออนุญาต "เก็บความ" มาให้อ่านกัน

"........ต้นตอคดีนี้เกิดปี ๔๑ พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหาธัมมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้วัดและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกาและอวดอุตริมนุสธรรม

ต่อมากรมที่ดิน ได้สำรวจพบ ธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า ๔๐๐ แปลง เนื้อที่กว่า ๒ พันไร่ ในพิจิตรและเชียงใหม่

มหาเถรฯ มอบหมายให้ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เจ้าคณะภาค ๑ ตรวจสอบ มีข้อสรุปว่า เป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหา

มหาเถรฯ จึงมีมติให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของเจ้าคณะภาค ๑ คือ ให้ปรับปรุงคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด

และสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้มีพระลิขิตให้คืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย แต่ธัมมชโยไม่ยอม กรมการศาสนาจึงแจ้งความกองปราบปราม กล่าวโทษในคดีอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ธัมมชโยถูกฟ้องในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัด ๖.๘ ล้านบาท ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร

โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ ๒ และนำเงินอีกเกือบ ๓๐ ล้าน ไปซื้อที่ดินกว่า ๙๐๐ ไร่ ใน ต.หนองพระ พิจิตร และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์

นอกจากนี้ ยังมีอดีตทนายวัดและประชาชนที่เคยเลื่อมใสศรัทธา เข้าแจ้งความดำเนินคดีธัมมชโย ฐานฉ้อโกงเงิน ๓๕ ล้าน แยกเป็นคดีความทั้งหมด ๕ คดี

ทว่า เกือบ ๗ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒-๒๕๔๗ เหลือสืบพยานจำเลยอีก ๒ นัด ในวันที่ ๒๓ และ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ เท่านั้น

แต่แล้วในวันที่ ๒๑ สิงหาคม พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา ๕ ซึ่งเป็นโจทก์ ก็ขอถอนฟ้องจำเลย คือธัมมชโยและนายถาวร

โดยเรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ๕ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล สรุปว่า

ปัจจุบัน ธัมมชโยกับพวกได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของคณะสงฆ์แล้ว...ฯลฯ....

ส่วนด้านทรัพย์สิน ธัมมชโยกับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนวัด ทั้งที่ดินและเงินจำนวน ๙๕๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท

การกระทำของธัมมชโยกับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า

เห็นว่า หากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรและไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ

อัยการสูงสุด (นายพชร ยุติธรรมดำรง) จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหา"

ครับ...ตรงประเด็น "อัยการถอนฟ้อง" ด้วยอ้างธัมมชโยคืนเงิน-คืนที่ดินแก่วัดแล้วนั่นแหละ

ทางมหาเถรฯ ก็ทึกทักแง่ทางกฎหมายตีขลุมให้เหนือพระวินัย "คืนแล้วไม่ปาราชิก" ไปด้วย!

๒๐ ก.พ.๕๘ มหาเถรฯ โดยสมเด็จช่วง เป็นประธาน ก็ยึดแนวเดิม มีมติให้ "ธัมมชโย" ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะคืนเงิน-คืนที่ดินให้วัดแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙

๔ ก.พ.๕๙ DSI ส่งหนังสือถึงสำนักพุทธฯ และมหาเถรฯ สอบถามถึงเรื่องธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ว่าไปถึงไหนแล้ว เพราะสังคมรุมเร้ากันมาก

๑๐ ก.พ.๕๙ พศ.และ มส.ประชุมด่วน ยืนมติเดิม.......

"ธัมมชโยไม่ปาราชิก เพราะเรื่องได้ยุติที่ศาลชั้นต้น ไม่ได้มีการยื่นอุทธรณ์"

เอ้า...มาดูกัน ทางพระวินัย ชัดเจน "ถึงคืนก็ปาราชิก" แต่เมื่อทิ้งพระวินัยไปยึดแง่กฎหมายที่ได้ประโยชน์มาอ้าง

ก็มาดูกันซิว่า...คดีแบบเดียวกับธัมมชโย ถึงคืนเงิน ผลลงเอยจะเป็นอย่างไร?

นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกตัดสินจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อ ๒๑ ก.ย.๕๕ นายสรยุทธชี้แจงรายการใน "เรื่องเล่าเช้านี้" ทางช่อง ๓ ประเด็นสำคัญมีว่า

".....ขออนุญาตใช้เวลาชี้แจงสั้นๆ เมื่อ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ประการแรก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด เงินจำนวน ๑๓๘,๗๙๐,๐๐๐ บาท ที่บริษัท อสมท เรียกเก็บจากบริษัทของผมนั้น

ผมได้ดำเนินการชำระให้ อสมท ไปครบถ้วน ทุกบาททุกสตางค์แล้วนะครับ เพราะฉะนั้น ขอย้ำนะครับ ท่านผู้ชมนะครับ ว่า เงินจำนวน ๑๓๘ ล้านเศษๆ นั้น ได้ชำระให้ อสมท ครบถ้วน จึงไม่ได้มีความเสียหายกับ อสมท ในส่วนนี้ ในแง่ของจำนวน
เงิน........"

สังเกตให้ดีนะครับ........

นายสรยุทธ "คืนเงิน" ที่ยักยอกเรียบร้อยแล้ว และเมื่อ ๑ มี.ค.๕๙ ศาลตัดสินคดีนายสรยุทธ ดังคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า.....

"นายสรยุทธ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาตลอด ดังนั้น จำเลยที่ ๓ น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบ จึงเป็นการสนับสนุน

ในทางนำสืบ ศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ว่า จำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียหาย การที่จำเลยที่ ๒-๔ นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ ๑ ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย

เพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ ๑ ทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑

แต่จำเลยที่ ๒ บ.ไร่ส้ม ได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน ๑๓๘,๗๙๐,๐๐๐ บาท แก่ อสมท แล้ว จึงลงโทษสถานเบา

...............................

จำคุกจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๕ ปี รวมจำคุก ๓๐ ปี ปรับจำเลยที่ ๒ กระทงละ ๒ หมื่นบาท รวมปรับ ๑.๒ แสนบาท

จำคุกจำเลยที่ ๓ และ ๔ กระทงละ ๓ ปี ๔ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๓ และ ๔ คนละ ๒๐ ปี

แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ ๑ใน ๓ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ เป็นเวลา ๒๐ ปี

จำคุกจำเลยที่ ๓ และ ๔ คนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน และปรับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๘ หมื่นบาท และไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ ๑, ๓ และ ๔

ครับ.....คืนเงินแล้วผิด หรือ ไม่ผิด ก็ชัดจากคดีสรยุทธแล้ว

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่