[SR] กานต์เดินทาง : สัมผัสดินแดนมังกรสายฟ้า "ภูฏาน" (1)



1.

“เจอกันตีสี่ครึ่ง เค้าท์เตอร์ K นะคะ”
อืมมม … ตีสี่ครึ่ง เช้ามืดกันเลยทีเดียวสำหรับเวลานัดหมายในการเดินทางไป “สัมผัสดินแดนมังกรสายฟ้า” ประเทศภูฏาน
จากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิราว 48 กิโลเมตร
ใช้เวลาเรียกแท๊กซี่ นั่งรอ และนั่งรถราวๆ 45 นาที-1 ชั่วโมง
นั่นแปลว่าตีสามครึ่งต้องออกจากบ้าน
และแปลว่า ตีสองครึ่งไม่เกินนี้ต้อง “ตื่น” เพื่อให้เวลาเตรียมตัวอาบน้ำอาบท่าราว 1 ชั่วโมง
ส่วนกระเป๋าเดินทางน่ะหรือ ... จัดไว้ล่วงหน้าแล้วจ้าาาาาาา
เพราะว่าเรา ... ตื่นเต้นนนนนนนนนนน



2.


สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่เคยหลับใหล ช่วงหัวค่ำอาจจะคนเยอะหน่อยเพราะไฟล์ทยอดนิยมจะออกเดินทางกันยามกลางคืน
ส่วนเช้ามืดแบบนี้ จะเห็นภาพผู้โดยสาร นั่งๆ นอนๆ ยึดเก้าอี้ไว้ราวกับเตียงนุ่มในโรงแรม 5 ดาว
ส่วนสายฮิปสเตอร์อย่างเราต้องนั่งรอที่ร้านกาแฟ ... รับคาเฟอีนแก้ง่วงกันสักหน่อย
ถึงเวลานัดหมาย เค้าท์เตอร์เปิด เจ้าหน้าที่พร้อม การเช็คอินผ่านไปได้ด้วยดี
การตรวจคนเข้าออกเมืองก็ฉลุย มีเวลาเหลือเล็กน้อยสำหรับการเดินดูของที่ดิวตี้ฟรี
เหลือบมองตั๋วสลับกับมองนาฬิกา Borading Time 06.15 น.

ไฟล์ท 06.50 น. บินราว 4 ชั่วโมง จะถึงภูฏาน (จะแวะกัลโกต้า ก่อนพาโร ประมาณ 50 นาที)
เราใช้บริการสายการบิน “Bhutan Airline” ครับ


ภูฏานแอร์ไลน์จะบินออกจากประเทศไทยวันละเที่ยวครับ
ที่จริงสายการบินที่สามารถบินไปภูฏานได้ยังมี “ดรุ๊กแอร์” อีกเจ้าหนึ่งครับ ก็แล้วแต่สะดวกครับ
แต่สำหรับผมจากที่เคยบินทั้ง 2 เจ้า แทบจะไม่พบความแตกต่างกันครับ ชอบทั้งคู่


มาตรฐานการบริการก็เหมือนกับสายการบินฟูลเซอร์วิสทั่วไป แต่ลูกเรือจะชอบคนไทยเราเป็นพิเศษครับ
“คุ้นเคยกันดี เพราะบินบ่อย คุยกันง่าย คนไทยน่ารัก” ลูกเรือคนหนึ่งบอกแบบนั้น
บนเครื่องจะเสิร์ฟอาหารเช้ารอบแรก และรอบที่ 2 หลังจากเทคออฟที่กัลโกต้าจะเสิร์ฟสแนคอีกครั้งหนึ่ง
รสชาติแทบจะไม่เป็นปัญหา (เข้าใจว่าใช้ครัวการบินไทยเหมือนดรุ๊กแอร์)


กินๆ เม้าท์ๆ นั่งเพลินๆ บินสบาย อาจจะมีหวาดเสียวเล็กน้อยตอนบินผ่านช่องเขาเลี้ยวขวา ปาดซ้ายแล้วแลนด์ดิ้งงงงงงงง
ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง ก็ถึงสนามบินพาโรครับ
และแทบทุกคนที่ลงเครื่องจะต้องขอถ่ายภาพอาคารผู้โดยสารเป็นที่ระลึก เพราะเป็นอาคารที่คงเอกลักษณ์ของภูฏานไว้ได้มาก


สวย คลาสสิค และมีความเป็นธรรมชาติสูง
3 คำนี้ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของภูฏานที่เราได้เห็นตลอดทั้งเมือง
การเดินทางลัดเลาะไปในดินแดนมังกรสายฟ้าของผม เริ่มต้นขึ้นแล้ว .... เมื่อเจ้าหน้าที่ตม. หยิบพาสปอร์ตขึ้นมา
“ประทับตราผ่านแดน”




3.


cr photo : http://www.nepalhikingtrip.com/userfiles/images/East%20west%20bhutan%20tour%20map(4).gif

พื้นที่ที่เราจะเดินทางท่องเที่ยวภูฏานนั้นคือฝั่งตะวันตก (East of Bhutan) ครับ ซึ่งเป็นฝั่งที่เจริญที่สุดในภูฏาน โดยมี "ทิมพู" เมืองหลวงปัจจุบันเป็นจุดกึ่งกลาง ถัดเข้าไปเป็นอดีตเมืองหลวง "ปูนาคา"
ส่วนพาโรเป็นเมืองหน้าด่านที่เราลงเครื่อง


เรานั่งรถอกจากเมืองพาโรลัดเลาะมาตามไหล่เขาราว 1 ชั่วโมง เราก็ถึงเมืองหลวง “ทิมพู” แล้วครับ
การเดินทางในช่วงสองเมืองนี้ถือว่าค่อนข้างดีเลยครับ ติดนิดนึงคือถนนไฮเวย์หรือถนนทั่วไปก็มี 2 เลนเท่ากัน
เข้าใจครับว่าเป็นการขับตามริมเขา จะทำทางใหญ่ๆ ก็อาจจะไม่เหมาะนัก
รถยนต์ส่วนบุคคลของที่นี่จะเป็นรถเก่งคันเล็กๆ ครับ ยี่ห้อที่ขายดีก็มีทั้งซูซุกิ ทาทา ฮุนได มีบ้าง
ส่วนบีเอ็มกับเบนซ์ นานๆ เจอที (แต่ก็ใข่ว่าจะไม่มีนะครับ และแน่นอนว่ารถยนต์ก็ยังเป็นเครื่องมือสากลในการชี้วัดดัชนีความมีตังค์ของคนที่นี่และอีกหลายที่)
มาถึงทิมพูก็เที่ยงพอดี ... เวลาที่นี่จะช้ากว่าเมืองไทยราว 1 ชั่วโมง
นั่นแปลว่าหากที่ภูฏานเป็นเวลาเที่ยง ที่เมืองไทยราวๆ บ่ายโมง
มิน่า ... ท้องร้องดังมากกกกก


อ่อ! เวลาไปเที่ยวเมืองไหน อย่าลืมปรับนาฬิกาให้เป็นเวลาท้องถิ่นเพื่อง่ายต่อการนัดหมายและการใช้ชีวิตนะครับ
และอย่าได้คิดถึงเวลาที่เมืองไทยมากนัก เพราะจะพาลอุปทานว่าได้เวลากิน ได้เวลานอน ตามความเคยชิน
ที่ภูฏานยังดี เวลาไม่ห่างกันมาก แต่หากเป็นฝั่งยุโรปแล้วล่ะก็ ... เวลานอนท่านจะบ่นหิว เวลากินท่านจะง่วงนอนได้ ^ ^



4.

ที่ภูฏาน เราทานอาหารกันที่ภัตตาคารสลับกับร้านอาหารในโรงแรม “ทุกมื้อ” ครับ
อาหารการกินท้องถิ่นของที่นี่ ถ้าคนไหนกินง่าย ... ก็รอด
ผมกินยาก อยู่ยาก เจอแกงอิมาตาชิ หรือแกงพริกใส่ชีส หรือแกงท้องถิ่นเข้าไป แทบหงายหลังล้มตึ้ง!!
อาหารเหล่านี่ของดี มีให้คนสำคัญ เลี้ยงกันในงานพิเศษเท่านั้นนะครับ แหะๆ


กับข้าวอย่างอื่นก็ผัดผัก แกงใส่เครื่องเทศแขกบ้าง เมนูเนื้อไก่บ้าง


ปลาแทบไม่มี คนที่นี่ไม่ทานค่อยปลา ขนาดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เค้าก็ไม่จับปลา ฆ่าปลานะครับ เขากลัวว่ามันบาป
ถ้าอยากจะทานก็ไปตลาด ไปซื้อปลานำเข้าจากอินเดียมาทานแทน
เดี๋ยวนี้พ่อครัวภูฏานเก่งครับ ทำอาหารได้หลากหลายเชื้อชาติ เพื่อเอาใจแขก
อาหารญี่ปุ่นมี จีนก็มี ฝรั่งนี่แน่นอนทุกเช้าในไลน์ ส่วนอาหารไทย ... กลับมากินที่บ้านเราดีกว่าครับ


กลางวันมื้อแรกของภูฏาน พ่อครัวทำ “ต้มยำ” ให้กิน
รสชาติน่ะเหรอ .. เหมือนต้มน้ำหม้อใหญ่แล้วใส่คนอร์ก้อนต้มยำลงไป 2 ก้อน
มันจืดสิ้นดี แทบไม่มีรสความแซ่บของพี่ไทยปนมา
อย่างว่าที่นี่เค้าทานอาหารรสไม่จัด นี่อาจจะเป็นความแซ่บจี๊ดเผ็ดร้อนครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในหมู่มวลมนุษยชาติภูฏาน!!
ล้อเล่นนะครับ ...


คนภูฏานใจดี อยากเอาใจ คอยเป็นห่วงเป็นใย จะทานได้ไหม อร่อยไหม ...
เจอน้ำพริกกะปิ ปลาทูแม่กลองทอดตัวใหญ่ๆ ที่กลุ่มผมเตรียมมาเข้าไป ... ต้มยำกลายเป็นซุปหัวไชเท้าไปเลย
ความแซ่บ มันต่างกัน ...
เอาล่ะ ... ค่อยเหมือนอยู่บ้านหน่อย



5.

มาภูฏานไม่ต้องกลัวอดอาหารละ กรุ๊ปนี้พี่แกเล่นใหญ่มาก ของกินเยอะทุกสิ่ง
กลางวันเป็นน้ำพริกปลาทูหน้างอคอหักทอดกรอบๆ ... ตกเย็นเจอขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ยอดมะพร้าวอ่อนเข้าไปหม้อเบ้อเริ่ม!!


อีกมื้อมีแกงส้มมะละกอกุ้งสด คำนวนมาแล้วว่าแซ่บ ต้องทานคู่กับปลาสลิดไซส์ใหญ่ตัวโตเท่าหัวเด็ก!!


หมูกรอบถั่วภูฏานผัดพริกแกงก็เลิศศศศศ ยิ่งกว่าครัวคุณยิ้มดดดดดดดดด


ขาหมูพะโล้ต้องมา หมูอบเนื้อนุ่ม คู่แกงไตปลาต้องมี น้ำปลาพริกนี่ไม่ขาด มีให้ทุกมื้อ


ทุกเช้างาน "ข้าวต้มขาว" ต้องมา ... ทานกับเครื่องข้าวต้มสไตล์จีนๆ ต้องมี


เสิร์ฟทีเป็นหม้อ เป็นกะละมัง ไม่ใช่ใส่ถ้วยเจ้าที่ ต้องกระเบียดกระเสียรกันกินให้สิ้นอรรถรส
ลืมอาหารภูฏานที่ตั้งใจมาจากบ้านว่าจะกินโน้น กินนี่ ไปเลย!!
จัดหนัก จัดเต็มทุกมื้อแบบนี้
ทำให้สับสนเล็กน้อยว่า ... นี่เราอยู่เมืองทิมพูภูฏาน หรืออยู่แถวดอยแม่สะลอง!!



พิมพ์เล่ามาซะเยอะ ดันมาจบตอนแรกด้วยเรื่องอาหาร ทำเอาชักหิวววววว
ขอพักกระทู้แรกของผมเอาไว้เท่านี้ก่อนนะครับ "โปรดติดตามตอนต่อไป ..."
To be Continued

กล้องทั้งหมดที่ใช้ในการถ่ายภาพรีวิว "Nikon D800E, GoPro, iPhone6Plus

ติดตามเรื่องราว "กานต์เดินทาง" ของผมได้ในแฟนเพจ Facebook: https://www.facebook.com/kantjourney


ชื่อสินค้า:   ประเทศภูฏาน
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่