เปิดเส้นทางเจรจา "BEM" จ่อเหมา "สายสีน้ำเงิน" ยกโครงข่าย

กระทู้คำถาม
ขึ้นชื่อว่าส่วนต่อขยาย ยังไงต้องเป็นรายเดิมที่ได้รับเลือก ไม่ว่าจะ "เปิดประมูล-เจรจาตรง" เช่นเดียวกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย "บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค" 27 กม. 21 สถานี มูลค่า 22,895 ล้านบาท ที่หนีไม่พ้น "BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ" ในเครือ บมจ.ช.การช่าง จะคว้าสัมปทานไป เพื่อต่อเชื่อมสายสีน้ำเงินเดิม "บางซื่อ-หัวลำโพง" ที่รับสัมปทานเดินรถให้ถึงปี 2572

ล่าสุดผ่านด่านการพิจารณาแล้วจากคณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ประชุมนัดแรกวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุบโต๊ะเปิดเจรจา "BEM" รับสัมปทาน 30 ปีเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยายทันที ขณะที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็รับลูกเปิดประชุมวันที่ 15 มิ.ย.ประทับตราเสริมทัพไปอีกแรง

ตอนนี้ "BEM" รอฝ่าด่าน "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เจ้ากระทรวงคมนาคม จะเซย์โนหรือเซย์เยส หลังค้านหัวชนฝามาตลอดตั้งแต่นั่งเป็นเลขาสภาพัฒน์ต้องเปิดประมูลเท่านั้น แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการมาตรา 35 เลือกแนวทางไหน ก็ต้องว่ากันตามนั้น

ขณะเดียวกันรอลุ้น "กระทรวงการคลัง" และ "คณะกรรมการ PPP" จะมีประชุมปลาย มิ.ย.นี้จะเปิดไฟเขียวหรือเห็นเป็นอื่น ในเมื่อโครงการนี้ถูกบังคับเข้าระบบข้อตกลงคุณธรรม ทุกอย่างจึงต้องโปร่งใส

หากไม่มีอะไรล่มกลางคัน ตามไทม์ไลน์ของ รฟม.จะชง "ครม.-คณะรัฐมนตรี" อนุมัติอีก 2-3 เดือนนับจากนี้ และเซ็นสัญญาต.ค. จากนั้นใช้เวลา 10 เดือนติดตั้งระบบเพื่อเดินรถเตาปูน-บางซื่อต.ค. 2560

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการมาตรา 35 มีมติเจรจาตรง BEM เพราะมีหลายองค์ประกอบ ทั้งมติ ครม.และคณะกรรมการ PPP ให้เดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) ทั้งสีน้ำเงินเดิมและส่วนต่อขยาย และให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเร่งเปิด 1 สถานี โดยเร็วเพื่อรองรับกับสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) จะเปิดทางการวันที่ 6 ส.ค.นี้

อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของการเปิดประมูลใหม่และเจรจารายเดิม พบว่าเจรจารายเดิมจะมีความเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากประหยัดต้นทุนได้ถึง 1.6 หมื่นล้านบาท เพราะสามารถใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมเดินรถเก่าที่พระราม 9 ของสายสีน้ำเงินเดิมได้ และใช้เวลาติดตั้งระบบและซื้อรถใหม่ 28 ขบวน 36 เดือน หากเป็นรายใหม่ใช้เวลากว่า 40 เดือน

นอกจากนี้จะเปิดบริการได้เป็นส่วน ๆ ตามงานก่อสร้างที่ทยอยเสร็จปี 2559-2561 และผู้โดยสารจะเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว โดยยกเว้นค่าแรกเข้าของสีน้ำเงินเดิม 16 บาท จะเจราจากับ BEM ต่อไป รวมถึงเจรจารวมสัมปทานสีน้ำเงินเดิมจะหมดปี 2572 ให้หมดพร้อมกันทั้งโครงการ เพื่อการให้บริการเดินรถเป็นวงกลม

ด้าน "พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ" ประธานบอร์ด รฟม.กล่าวว่า จะนำผลประชุมของคณะกรรมการมาตรา 35 ให้เจรจา BEM เสนอไปกระทรวงคมนาคมเร็ว ๆ นี้ เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP จะประชุมสิ้น มิ.ย.นี้ หากได้รับอนุมัติจะเสนอ ครม.ต่อไป จากนั้นคณะกรรมการมาตรา 35 ถึงจะเริ่มเจรจาบีอีเอ็ม คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน เพื่อให้การเดินรถสถานีบางซื่อ-เตาปูนทันวันที่ 5 ธ.ค.นี้

"หากเป็นรายเดิมคือ BEM ทำให้เดินรถ 1 สถานีเปิดได้เร็วขึ้น เพราะมีรถเก่า และไม่ทำให้ รฟม.เสียค่าซ่อมบำรุงของสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งงานโยธาจะเสร็จปี 2559-2560 หากรายเดิมได้จะทำให้เปิดได้พร้อมกับงานก่อสร้างที่เสร็จ จะเร่งให้เดินรถตลอดสายปี 2562" พลเอกยอดยุทธ กล่าวและว่า

อยู่ที่คณะกรรมการ PPP จะเห็นด้วยกับมติบอร์ด รฟม.หรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็จะนำไปสู่การประมูลใหม่ จะใช้เวลาดำเนินการนานกว่านี้ และปัญหาที่ตามมาคือ ระบบอาณัติสัญญาณ ตัวรถ การจัดเก็บค่าบริการแรกเข้าที่จะต้องเริ่มใหม่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ "พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง กล่าวว่า การเจรจารายเดิมจะดีกว่าเปิดประมูลใหม่ ซึ่ง BEMมีโครงข่ายเดิมวิ่งบริการอยู่ครึ่งวง รออีกครึ่งวงใหม่จะครบโครงข่าย ประโยชน์โดยอัตโนมัติคือสะดวก ปลอดภัย เปิดได้เร็ว

ถ้าบริษัทได้เดินรถจะทยอยเปิดบริการคือช่วงเตาปูน-บางซื่อ จะใช้รถขบวนเดิมมาวิ่ง, ช่วงเตาปูน-บางพลัด เปิดพ.ย. 2560, ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง เปิดมี.ค. 2561 และช่วงบางพลัด-ท่าพระ เปิดมิ.ย. 2561 ถ้าเป็นรายใหม่ต้องรอให้เสร็จถึงเปิดเดินรถได้

นี่คือคำตอบ ทำไม "สายสีน้ำเงินต่อขยาย" จึงเลือกเจรจาตรง BEM
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1466401986

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่