(บทความ...นายพระรอง) กำเหลง ขุนพลชาติโจร พันธุ์ทหาร เหรียญสองด้านของการเลือกที่จะเป็น

กระทู้คำถาม
.
       "โจโฉมีเตียวเลี้ยว ข้ามีกำเหลง" ประโยคนี้ซุนกวนเป็นคนพูดออกมาเมื่อครั้งศึกหับป๋าอันเป็นศึกใหญ่ระหว่างง่อก๊กและวุยก๊ก ซึ่งในยุคสามก๊กมียอดขุนพลที่เก่งกาจหลายรูปแบบ กำเหลงเองก็เป็นหนึงในนั้น เพียงแต่พื้นฐานแตกต่างจากยอดขุนนพลคนอื่นๆ ที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่เป็นทหารอย่าง แฮหัวตุ้นซึ่งเป็นลูกหลานของเซี่ยโหวอิงแม่ทัพสมัยฮั่นเกาจู่(หลิวปัง) หรือเป็นคนหนุ่มที่มีปณิธานมุ่งหวังที่จะช่วยชาติบ้านเมือง เช่น กวนอู หรือจูล่ง ยอดขุนพลในยุคเดียวกันที่อยู่ต่างฝ่ายกับกำเหลง

       ขุนพลของฝ่ายง่อก๊กที่พื้นที่.ส่วนใหญ่ติดทะเล ดังนั้นง่อก๊กจะมีขุนพลที่เคยเป็นโจรสลัดมาก่อนแล้วมาเข้าร่วมก็ไม่แปลก และในบรรดาโจรสลัดเหล่านั้น ก็มีชายอยู่คนหนึ่งที่มีความโดดเด่นเหนือคนอื่นในยุคเดียวกัน คนๆนั้นคือกำเหลง

       กำเหลงผู้นี้ เป็นชาวอำเภอหลินเจียง(ลิมกั๋ง) เมืองปาจวิ้นมณฑลเจียงสี มีชื่อรองว่า ซิงป้า เป็นชายผู้มีความกล้าแกร่งชอบผจญภัย จึงคุมสมัครพรรคพวกทำตนเป็นโจรสลัดปล้นสะดมตีชิงทั่วทั้งแม่น้ำและทะเลสาบใน ภาคกลางของประเทศจีน กำเหลงเป็นโจรที่มีพฤติกรรมประหลาด ร่ำลือว่า เขาสั่งลูกสมุนผูกกระดึงไว้ที่เอว ใครได้ยินเสียงกระดึงก็ตกใจกลัวหนีไปไกล เมื่อได้รู้ว่าขุนโจรกำเหลงกำลังมา และจากจุดนี้เองทำให้ผู้เขียนคิดว่า เขาเป็นชายที่ชอบประกาศศักดา มากกว่าที่คิดจะเข่นฆ่าปล้นชิง

       แต่ไม่ได้ออกตัวโลกสวยให้กับกำเหลง เพราะเมื่อยามเป็นโจร ถึงคราวปล้นกำเหลงก็ปล้น ถึงคราวฆ่ากำเหลงก็ฆ่าเยี่ยงปกติสามัญเหมือนโจรทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้กำเหลงยิ่งใหญ่กว่าโจรเหล่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงตนเอง

       เพราะเมื่ออายุถึง 20 กว่าๆ กำเหลงก็ได้เลิกพฤติกรรมปล้นเยี่ยงโจร  แต่เขาก็ยังคิดถึงอนาคตของลูกน้อง ที่ไม่ยอมจากเขาไปไหนแม้จะสลายกลุ่มกองโจรแล้วก็ตาม ยังคงยินยอมอยู่รับใช้และติดตามกำเหลงอีกกว่า 800 คน เขาเริ่มหันมาศึกษาตำราตวามรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับตัวเองและลุกน้องในวันหน้า

       จนในที่สุดเมื่อเขาคิดว่าตนเองศึกษาวิชาความรู้จนพร้อมแล้ว กำเหลงก็ได้นำกำลังทั้งหมดไปขอสวามิภักดิ์กับเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว แต่ด้วยเล่าเปียวเป็นบัณฑิตอ่อนแอ และกำเหลงเห็นว่าบุคคลเช่นนี้ไม่มีปณิธาน ยากที่จะอยู่รอดในสภาพบ้านเมืองที่เกิดภัยสงครามลุกลามไปทั่ว ไม่ช้าก็เร็วต้องถูกโค่นล้มแน่ๆ จึงคิดจะนำกำลังถอนตัวออกไปเข้าร่วมกับซุนเซ็กพี่ชายของซุนกวน ซึ่งนามกระเดื่องในขณะนั้น แถมเป็นคนพื้นที่เดียว กำเหลงจึงอยากไปสวามิภักดิ์กับง่อก๊ก

       แต่ติดที่ว่าไม่อาจผ่านเมือง หองจอไปได้ เพราะอยู่ระหว่างเส้นทางการเดินทางจากเกงจิ๋วไปง่อก๊ก ทำให้กำเหลงต้องจำใจเข้าด้วยกับหองจอแทน ไม่หักด่านปะทะ เพราะรู้ว่ามีกำลังไพร่พลเป็นรองมาก กำเหลงรับใช้หองจอ อยู่สามปี แต่หองจอก็ไม่ได้ปฏิบัติกับเขาดีนัก

       เมื่อซุนกวนยกทัพโจมตีหองจอจนทัพหองจอแตกพ่ายต้องหนีไป กำเหลงอยู่ในแนวหลังการถอยทัพของหองจอ ด้วยฝีมือการยิงธนูอันเก่งกาจของเขา กำเหลงฆ่าเล่งโฉ (พ่อของเล่งทอง) หนึ่งในแม่ทัพของซุนกวนได้ แต่เมื่อหองจอนำทัพถอยร่นกลับถึงค่าย เขาก็ไม่ได้ชื่นชม หรือให้รางวัลกำเหลงแต่อย่างใด จนโชหุยที่ปรึกษาของหองจอไม่พอใจเจ้านายตนเอง เพราะเขานั้นเคยแนะนำหองจอให้ แต่งตั้งกำเหลงเป็นขุนพล  แต่หองจอไม่สนใจเพราะไม่เคยคิดให้ความสำคัญต่ออดีตโจรสลัด คิดแต่เพียงจะใช้ให้เป็นไพร่ราบทหารเลวเท่านั้น หรืออย่างมากก็เป็นแค่ทหารระดับหัวหน้าหมู่คุมทหารเลวเท่านั้น ไม่เคยคิดจะยกฐานะเป็นสิบๆขั้นขึ้นมาเป็นขุนพลของตัวเอง  

       โชหุยจึงแอบมาแนะนำให้กำเหลงจากไป ตัวกำเหลงนั้นก็ไม่คิดจะอยู่ที่นี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่จนใจที่ผ่านเมืองไปไม่ได้ จะไปตอนนี้ก็ไม่ได้เพราะไม่มีใบผ่านเมืองจากหองจอ โชหุยทราบเช่นนั้นจึงคิดอุบายหาทางให้ โดยเสนอให้หองจอแต่งตั้งกำเหลงเป็น นายอำเภอเอียนก๋วน (อู่ชาง) ด้านหองจอก้ไม่อยากขัดใจที่ปรึกษาเป็นคำรบสอง อีกทั้งเห็นว่าตำแหน่งนายอำเภอเล็กๆก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก จึงยอมทำตามที่โซหุยเสนอ และกำเหลงก็ได้ฉวยโอกาสนั้นนำกำลังส่วนตัวเดินทางจากไป

       กำเหลงเดินทางไปง่อก๊กขอเข้าสวามิภักดิ์กับซุนกวน จิวยี่และลิบองให้การแนะนำตัวเขา ซุนกวนปฏิบัติต่อกำเหลงอย่างดี กำเหลงจึงได้ให้คำแนะนำแก่ซุนกวนว่า ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ ราชสำนักฮั่นอ่อนแอไร้อำนาจ แต่โจโฉกลับมีอำนาจขึ้นทุกวัน โจโฉเต็มไปด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ช้าโจโฉจะต้องชิงราชบัลลังค์ พื้นที่เกงจิ๋วตอนใต้นั้นมีเทือกเขาและแม่น้ำเชื่อมถึงกัน ดินแดนแถบนี้เหมาะสมกับการเป็นพรมแดนตะวันตกของก๊กเรา ตัวข้านั้นได้สังเกตว่า เล่าเปียวไม่ได้มีแผนการใหญ่อะไร อีกทั้งลูกของเล่าเปียวก็ไร้ความสามารถ คงไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อได้ ง่อก๊กควรต้องรีบครอบครองดินแดนแถบนี้โดยเร็ว ก่อนที่มันจะตกไปเป็นของโจโฉ

       ดำเนินการขั้นแรกโดยการกำจัดหองจอ หองจอนั้นอายุมากและเริ่มเข้าวัยชราแล้ว อีกทั้งทรัพย์สินและเสบียงอาหารสำหรับกองทัพก็ร่อยหรอ หองจอยังเป็นคนที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น แม้กระทั่งลูกน้องของตัวเองก็ไม่เว้น แถมหองจอนั่นไม่สนใจการเพาะปลูกเสบียงอาหาร กองทัพก็ล้วนแต่หย่อนยานไร้ระเบียบวินัย ถ้าเลือกโจมตีตอนนี้ หองจอต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ซุนกวนก็เห็นด้วยกับคำแนะนำของเขา

       และกำเหลงก็ได้เป็นขุนพลในร่มธงง่อก๊ก ที่ยกทัพสู่ตะวันตก ตามคำแนะนำของเขาจับตัวหองจอและได้เชลยศึกมากมาย ซุนกวนนั้นได้เตรียมการประหารไว้รอบุคคลสำคัญในฝ่ายจองหอสองคน คือตัวจองหอเอง กับโซหุยที่ปรึกษาคนสำคัญ

       ในงานเลี้ยงฉลองชัยชนะ เมื่อกำเหลงทราบว่า โซหุยต้องถูกประหาร กำเหลงจึงลุกขึ้นไปคุกเข่าต่อหน้าซุนกวน แล้ววิงวอนว่า โชหุยเคยมีบุญคุณต่อข้าในอดีตยิ่งนัก ถ้าไม่เป็นเพราะโชหุย ข้าคงไม่ได้มารับใช้ท่านในวันนี้ ถ้าคิดถึงความผิดของโชหุยในฐานะศัตรู เขาสมควรจะโดนประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ข้าขอร้องต่อท่าน ได้โปรดไว้ชีวิตเขาด้วย

       ซุนกวนพูดขึ้นว่า ถ้าข้าปล่อยโชหุยไปวันนี้แล้วเขาหลบหนีไป หรือสร้างปัญหาในวันหน้าเล่า กำเหลงจึงบอกว่า ถ้าท่านไว้ชีวิตโชหุย เขาก็เป็นหนี้ชีวิตท่าน ถึงท่านจะขับไล่ เขาก็ไม่อาจไปไหนได้ เขาคงไม่รนหาที่ตาย แต่ถ้าเขาหลบหนีไปจริง ๆ ข้าเต็มใจสละศีรษะตัวเองแทนที่หัวของเขา ซุนกวนจึงอภัยโทษให้โชหุย

       กำเหลงเป็นคนเปิดเผยไม่อำพราง เขากล้าพูดในสิ่งที่เขาคิด และกล้ารับรองด้วยชีวิตในสิ่งที่เขาเชื่อ

       กำเหลงสร้างเกียรติประวัติในการรบให้กับง่อก๊กอีกหลายครั้ง ด้วยการใช้คนน้อยเอาชนะคนมาก ผมสันนิฐานว่า เนื่องด้วยกำเหลงเป็นคนที่มีวินัยและค่อนข้างเข้มงวดจึงสั่งให้ทหารในสังกัดตนเองฝีกซ้อมอยู่ตลอดเวลา และลงโทษคนที่ฝ่าฝืนวินัยหรือคำสั่งของเขาอย่างรุนแรง เพราะเขาเห็นว่าหากปล่อยให้ลูกน้องของเขาซึ่งเป็นโจรเก่าทำตัวไร้ระเบียบและไม่มีวินัย วันข้างหน้าพวกเขาจะต้องตายแน่นอนเมื่อออกรบจริง

       ในสามก๊กไม่มีกล่าวในส่วนนี้ มีกล่าวเพียงว่า หากลูกน้องใต้บังคับบัญชาของเขาทำผิด กำเหลงจะเป็นคนลงโทษเอง และลงโทษอย่างรุนแรง นั้นคือที่มาของการตั้งข้อสังเกตว่า กำเหลงเป็นคนมีวินัยและใส่ใจกับกฎระเบียบ ซึ่งขัดกับภาพเดิมที่เคยเป็นโจรสลัดมาก่อน เหมือนว่าเมื่อยามนี้เขาเป็นทหารก็ต้องกระทำตัวเช่นทหาร มิได้ปฏิบัติเยี่ยงโจรเหมือนอดีตสมัยก่อน

       เขาคุมเข้มฝึกหนักก็เพราะรักลูกน้องตนเอง ไม่อยากให้ใครต้องตาย ส่วนที่ลงโทษรุนแรงนั้น เพราะต้องการให้เป็นแบบอย่าง คนอื่นจะได้ไม่กล้าทำตามคนที่ฝ่าฝืนวินัยหรือกระทำผิด ลูกน้องของกำเหลงเองก็มองทะลุถึงความปรารถนาดีของผู้เป็นนาย จึงขยันฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ ฝึกฝนตนเองให้พร้อมลุยไปในสนามรบในยามที่ออกศึก และด้วยเหตุนี้เองกองกำลังส่วนตัวไม่กี่ร้อยคนของกำเหลงจึงกล้าแข็ง และสร้างปฏิหารในสงครามหลายต่อหลายครั้ง

       อย่างในศึกเซ็กเพ็ก กำเหลงรบชนะโจหยินที่ลำกุ๋น ก่อนที่เมืองจะถูกยึดไป กำเหลงคิดแผนนำทัพผ่านทางลัดเข้าสู่อิเหลง ยึดอิเหลงอย่างง่ายดาย ทั้งที่กำเหลงมีทหารเพียงไม่กี่ร้อยนาย

       และอีกหลายต่อหลายครั้งที่กำเหลงใช้ทัพน้อยสยบทัพมาก นั้นแสดงว่าขุนพลผู้นี้ได้รับความนับถือจากลูกน้องอย่างมาก ถึงได้ยอมเสี่ยงตายติดตามหลังขุนพลผู้นี้ใช้

       กำเหลงเป็นคนที่เปิดเผยตรงไปตรงมา ทำทุกสิ่งเพื่อหน้าที่ ในปีเจี้ยนอันที่ 20 กำเหลงร่วมทัพในศึกหับป๋า ในศึกครั้งนั้นเกิดโรคระบาด ทำให้ทัพฝ่ายง่อต้องถอยทัพทั้งหมด เหลือเพียงทหารใจกล้าพันกว่านายในจำนวนนั้นมีกองกำลังของกำเหลงอยู่คอยป้องกันรถม้าของซุนกวน เขาตะโกนสั่งการให้ทหารของเขาปกป้องซุนกวนด้วยชีวิต พาแม่ทัพหนีไปให้ได้ เมื่อพบว่าเตียวเลี้ยวนั้นซุ่มทัพอยู่ ส่วนตัวกำเหลงถอยกลับลงไปอยู่รั้งท้ายขบวน เพื่อช่วยต้านทานกองทหารของเตียวเลี้ยวที่ตามติดมา เขาใช้ธนูของเขายิงใส่ศัตรู ยันกำลังคู่ต่อสู้เคียงข้างกับเล่งทองขุนพลอีกคนของซุนกวนที่รับหน้าที่ป้องกันอยู่ท้ายขบวน เล่งทองเห็นศัตรูผู้ฆ่าพ่อลงมาช่วย บุณคุณความแค้นที่ฝั่งแน่นใจก็สลายสิ้น ร่วมมือกับกำเหลงต่อต้านศัตรู จนกองกลังส่วนตัวของกำเหลงพาซุนกวนหลบหนีฝ่าออกมาได้ ซุนกวนชมเชยเขาและลูกน้องอดีตโจรอย่างมากมาย

จากเรื่องราวในตอนนี้ ทำให้เห็นได้ว่ากำเหลงนั้น ทำทุกอย่างเพื่อหน้าที่ โดยไม่สนความเป็นความตาย หรือข้อขัดแย้งส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น

       กำเหลงอาจไม่ได้มีภาพที่โดดเด่นในฝีมือการรบ เหมือนยอดขุนพลคนอื่น อย่าง ลิโป้ กวนอู จูล่ง แต่เขาโดดเด่นในเรื่องความเป็นผู้นำที่ลูกน้องยอมถวายชีวิตให้ และโดดเด่นเรื่องวินัยและและการรักษาหน้าที่ กำเหลงอาจเป็นขุนพลเพียงคนเดียวที่ดูเหมือนจะเป็นทหารอย่างแท้จริง เพราะเคร่งครัดในวินัยและหน้าที่ หน้าที่ที่ทำแล้วอาจจะรู้ว่าอาจต้องตาย ชายอย่างกำเหลงก็ยังเลือกจะทำ

       แต่ยอดขุนพล หรือยอดทหารก็ไม่อาจรอดพ้นความตาย  การรบครั้งสุดท้าย เมื่อกำเหลงถูกเกาทัณฑ์ที่หน้าผากกำเหลง เขาตายที่ตำบลอู่ตี๋ (ฟู่ฉือโข่ง ) มณฑลหูเป่ย ซึ่งในพงศาวดารจีนไม่มีกล่าวถึงเรื่องที่กำเหลงถูกเกาทัณฑ์ตาย และมีเรื่องราวของชายคนนี้น้อยมาก บอกเพียงว่า เป็นขุนพลของง่อก๊กที่เคยเป็นโจรสลัดมาก่อนเท่านั้นเอง แต่ในวรรณกรรมสามก๊กนั้นเลือกที่จะสร้างเรื่องราวและมอบจุดจบให้กับนายทหารผู้ที่เคยเป็นโจรมาก่อนผู้นี้

       แม้กำเหลงจะไม่ได้เก่งกาจขั้นเทพและภาพลักษณ์จะดูแข็งกร้าวแต่แท้ที่จริงละเอียดอ่อน เขาเป็นขุนพลเพียงคนเดียว ที่นิยายสามก๊กเขียนเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันกับลูกน้องระดับล่าง เขาเป็นขุนพลที่คิดอ่านแทนลูกน้อง แม้นปากจะไม่ได้เอ่ยออกมาแต่พฤติกรรมและผลลัพธ์ที่ได้มันฟ้องว่ากำเหลงเป็นคนเช่นนั้น

       และเขาเป็นเพียงคนเดียวในเรื่องสามก๊กที่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเอง และยังทำมันได้สำเร็จ กำเหลงจึงเป็นตัวอย่างของการเลือกที่จะทำ ทำเพราะรู้จักหน้าที่ แม้อดีตจะเป็นโจรมาก่อนแต่ภาพสะท้อนของการเป็นทหารออกมาชัดเจน สำหรับผม กำเหลงเป็นทหารที่แท้จริงเพียงไม่กี่คนที่ปรากฏอยู่บนเรื่องสามก๊ก เพราะเขานั้นเลือกที่จะเป็น เลือกที่จะทำอย่างทหาร



ป.ล.นี้คือตัวละครที่ผมชอบมากที่สุดในสามก๊ก ชอบเพราะไม่ได้เก่งเกินจริง ไม่ได้ดีเกินคาด ยังมีความเลวปะปนมาด้วย เช่นมนุษย์ทั่วไป กำเหลงในนิยายวรรณกรรมเรื่องสามก๊กเอง ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์อย่างที่ผมเขียนทุกตัวอักษร แต่ก็ไม่ใช่จินตนาการที่เลื่อนลอยจนจับต้องไม่ได้ อย่างที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า มโน เพราะทุกอย่างถูกวิเคราะห์ เขียนขึ้นจากการวิเคราะห์การกระทำ หรือผลลัพธ์ของการกระทำของกำเหลง และถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองของคนผู้หนึ่งซึ่งอ่านนิยาย สามก๊ก ขอชี้แจงตามนี้นะครับ จะได้ไม่เข้าใจผิดคิดว่าผมแต่งแต้มจนเกินความเป็นจริงที่ปรากฏในหนังสือ

       และจริงๆผมเขียนเรื่องราวสรุปไว้อิงกับการเมืองไทยนิดหน่อย แต่ไม่ได้นำมาลง เพราะอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียกะทู้ ซึ่งผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงเดากันได้ ตั้งแต่ได้เห็นหัวกะทู้แล้วล่ะครับ และไม่จำเป็นต้องบอกออกมานะครับ คิดและรู้ แล้วเก็บไว้ในใจก็พอครับ

ขอบคุณครับ
นายพระรอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่