(บทความ...นายพระรอง)ทุนสามานย์ ความชั่วร้ายที่มีมาตั้งแต่บรรพกาลแต่ไม่มีใครพูดถึง

กระทู้คำถาม
“ทุนสามานย์”คำๆนี้มีพลังทางภาษาอย่างมากล้น จนทำให้เกิดทำให้ผู้หลงใหลคล้อยตาม และลืมความสามานย์ของทุนทั้งระบบ ที่ก่อร่างฝั่งตัวอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยที่ยังมิได้มีระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบปกครองประเทศ

       ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายทุนที่ใช้เส้นสายวิ่งเต้นดำเนินการต่ออำนาจรัฐ เพื่อผูกขาดขายบริการประเภทใดก็แล้วแต่ มิใช่เฉพาะแค่เพียงการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่หมายถึงธุรกิจที่กอบโกยกำไรโดยการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างหน้าด้านๆ นับตั้งแต่ตั้งราคา ไว้สูงเกินจริง ถือสิทธิ์ขาดให้การประกอบการนั้นๆแต่เพียงผู้เดียว หรือบีบบังคับผู้บริโภคให้ต้องซื้อบริการมากๆ เช่นกำหนดเวลาสั้นๆ ในการใช้บริการแก่ผู้ซื้อ ฯลฯ หรือเลวร้ายอย่างการใช้กำลังบีบบังคับ อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ใช้อิทธิพลทำให้ผู้ผลิตตัวจริงต้องแบ่งปันผลประโยชน์แก่ตนเอง โดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร คือทุนสามานย์อย่างแน่นอน

       ยิ่งใช้กำไรมหาศาลที่ได้จากการผูกขาดและการขายบริการอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เข้ามากุมอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย เพื่อใช้อำนาจนั้นในการเพิ่มพูนทรัพย์สินของตน ก็ยิ่งย้ำความเป็นทุนสามานย์อย่างแน่นอน

       เรื่องราวเหล่านี้ ในอดีตก็เคยมี แต่ไม่มีใครสนใจ เพียงเพราะไม่ใช่เจ้าของบริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ก็เท่านั้น คนไทยบางส่วนจึงได้เข้าใจและจดจำฝั่งหัวว่าว่า  ทุนสามานย์ คือ ทักษิณ

       แต่นั้นก็ไม่แปลกอะไร เพราะสังคมไทยไม่เคยมีเอาเรื่องเหล่านี้มาเผยแพร่ให้สังคมวงกว้างได้รับรู้ เรียกว่ารู้กันอยู่เฉพาะผู้สนใจและศึกษาค้นคว้าข้อมูลเหล่านี้ด้วยตนเองเท่านั้น ซึ่งผมเองก็ไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้มาจากสถาบันการศึกษา หรือครูบาอาจารย์คนไหนเลย นึกว่าธุรกิจผูกขาดหรือทุนสามนย์นี้เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ที่บ้านเมืองเป็นไปในลักษณะ ทุนเสรี แล้ว แต่ก็มารู้ที่หลังว่า ผมคิดผิด มารู้คำตอบที่แท้จริงตอนหลังได้ก็เพราะชอบอ่านและค้นหาคำตอบจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่บันทึกอยู่ตามหนังสือหลายๆเล่ม

       จึงได้รู้ว่า ทุนสามานย์ หรือการค้าแบบผูกขาดในเมืองไทยไม่ได้เริ่มต้นจากการผูกขาดโทรศัพท์มือถือ หรือการค้าขายในลักษณะที่เศรษญกิจเป็นระบบทุนนิยมแล้ว เพราะว่าเกิดก่อนหน้านั้นนานมาก ไล่ย้อนไปได้ถึงกรุงศรีอยุธยาโน่นเลยทีเดียว มีบทบันทึกไว้อย่างแน่ชัดว่า ธุรกิจผูกขาดเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยตั้งแต่ตอนนั้น โดยพระคลังสินค้าผูกขาดสินค้าส่งออกและนำเข้าอันเป็นที่ต้องการของตลาดมาเกือบจะโดยตลอด และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของราชสำนักไทย ซึ่งใช้ชีวิตอยู่คนละโลกกับประชาชนของตนเอง ซ้ำในเวลาต่อมาเปิดช่องให้ขุนนางกินหัวคิวจากการผลิตสินค้าสู่ตลาดทุกชนิดในราชอาณาจักร โดยอาศัยระบบเจ้าภาษีนายอากร และศักดินาตำแหน่งราชสำนัก ซึ่งยังดำรงอยู่ต่อมายาวนาน เปลี่ยนราชวงค์แล้วก็ยังดำรงอยู่ แม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งบังคับให้ต้องเลิกการผูกขาดสินค้าเข้า-ออกแล้วเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในสนธิสัญญาเบาริ่ง แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้การผูกขาดหายไปจากเมืองไทย

       เพราะจากสนธิสัญญาเบาริ่ง การผูกขาดของไทยจำต้องเปลี่ยนรูปแบบ ตอบสนองต่อการเปิดตลาดข้าวตามสนธิสัญญาที่ถูกฝรั่งบังคับให้ทำ นายทุนหัวใสก็ได้หาวิธีกอบโกยกำไร ด้วยการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองที่ตนควบคุมดูแลลงทุนขุดให้กับราชสำนัก ในพื้นที่เขตภาคกลาง แต่นายทุนพวกนี้ก็ไม่ได้ลงไปบุกเบิกด้านเกษตรกรรมเอง หากใช้วิธีนอนกินค่าเช่าจากชาวนาที่ต้องการปลูกข้าวขายป้อนตลาดต่างประเทศ ที่ดินซึ่งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด(อันประกอบด้วยผู้ถือหุ้นที่เป็นราชนิกุลและคนใกล้ชิด รวมถึงฝรั่งตัวแทนการค้า) ทำการผูกขาดสร้างรายได้ให้ตนเอง นั้นมีชาวนาที่เข้ามาบุกเบิกจับจองไว้ก่อนแล้วจำนวนไม่น้อย เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของโรงสีและท่าเรือส่งออกข้าว แต่ก็ถูกบริษัทซึ่งมีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง ใช้กำลังทั้งเถื่อนและกำลังของรัฐขับไล่ออกไป หลายครั้งด้วยวิธีรุนแรง เช่นเผาบ้านทิ้ง

นี่คือการผูกขาดปัจจัยการผลิตนั่นเอง แต่กระทำโดยกฎเกณฑ์ที่รัฐออกมาเพื่อเอื้อให้ระบบ ศักดินา เจ้าขุนมูลนาย สามารถผูกขาดได้

       และบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด ซึ่งก่อตั้งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2433)ก็ยืยงสถาพรกอบโกยกำไรอยู่ยาวนาน ใน พ.ศ.2490 มีปรากฏว่า มีทั้งนายทหารและนายตำรวจเข้าไปนั่งเป็นประธานและกรรมการบริษัทจำนวนมาก และแตกแขนงออกไปในภาคธุรกิจรูปแบบอื่นๆ บางคนเป็นกรรมการถึงกว่า 50 บริษัท เพราะทุนเชื้อเชิญเข้าไปเป็นร่มเงาให้แก่การผูกขาดในรูปแบบต่างๆ เช่นหากเป็นธนาคาร ก็ทำให้รัฐสั่งเอาเงินของบางกระทรวงไปฝากไว้กับธนาคารที่ตนนั่งเป็นประธาน การยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคพัฒนา ไม่ได้ขจัดความไม่เป็นธรรมในการลงทุนแต่อย่างใด เพียงแต่ขจัดคู่แข่งของตนออกไปจากการกินส่วยของทุน แต่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างทุนสามานย์ เหล่านี้และอำนาจรัฐ ยึดดยงกับตนเองเท่านั้น

       และนั้นเป็นจุดเริ่มให้ ทุนสามานย์ ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัว มีการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้อย่างโจ่งแจ้ง เช่น หากกลุ่มทุนเหล่านี้ต้องการทำโรงงานน้ำมันละหุ่ง ก็จะมีกฎหมายห้ามส่งออกเมล็ดละหุ่งดิบ เพื่อทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศต่ำ โรงงานทอผ้าทั้งหมดทำกำไรได้มโหฬารจากกฎหมายที่รอนสิทธินานาประการของฝ่ายแรงงาน กลุ่มทุนเหล่านี้ผลิตผ้าได้หลายร้อยล้านหลาต่อปี ด้วยแรงงานที่ไม่เคยได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นสิบปี และทำงานในโรงงานที่มีสภาพย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง

       การ "ผูกขาด" เพิ่มความซับซ้อนขึ้น เช่นเราอาจเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าเพื่อขายผ้าให้แก่เวียดนาม เพราะตระกูลของตนลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไว้มาก แม้ไม่มีบริษัทก่อสร้างปลอมๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อกินหัวคิวการก่อสร้างภาครัฐแล้ว แต่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในภาครัฐก็ยังวนเวียนกันอยู่กับบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท และทุกบริษัทต่างมีเส้นอยู่กับภาครัฐ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมทั้งสิ้น


                                                                      วาทะกรรม ร่ำร้อง....................สามานย์
                                                                      มิเหลียวดู บรรพกาล.................หนึ่งบ้าง
                                                                      สร้างปมเงื่อน ขับขาน...............โห่ไล่ แห่เฮย
                                                                      ทุนเบื้องหลัง ขั้วข้าง.................ต่างล้วนเหมือนกัน


       ท่านผู้ที่เข้ามาอ่านล่ะครับ เคยรับรู้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้ไหม รู้หรือไม่ว่า ทุนสามานย์ มีอยู่ในสังคมไทยมาก่อนทักษิณเกิดเสียอีก และตอนนี้ถึงทักษิณไม่มีอำนาจแล้ว ทุนสามานย์ เหล่านี้ก็ไม่ได้ลดจำนวนลงไปเลย นับวันยิ่งมีแต่ทวีอำนาจขึ้นด้วยซ้ำ

       บอกกล่าวสักนิดนะครับ ทุนสามานย์ กับ ทุนนิยมแตกต่างกันนะครับ ไว้วันหลังผมจะเขียนบทความเรื่องทุนนิยมบ้าง เพื่อแจกแจงแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

ป.ล.จบบทความซีรัย์สามานย์สักที ไอ้รองจะได้ไปเขียนอย่างอื่นบ้าง เขียนเรื่องนี้นานๆแล้ว กลัวตัวเองจะสามานย์ตามที่เขียน 555+

ขอบคุณครับ
นายพระรอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่