ศาสนากับการพัฒนาทุนทางสังคม หลุดพ้นกับดักโลกทุนนิยมอย่างไร?

ฉบับที่ ๘๑ วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

เรื่อง ศาสนากับการพัฒนาทุนทางสังคม หลุดพ้นกับดักโลกทุนนิยมอย่างไร?          

            โลกปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถคิดวิเคราะห์ความเป็นมาและเป็นไป ทั้งผู้ปกครอง และผู้ใต้บังคับบัญชา ทุกระบบ สาขาอาชีพ หากเรายกประเด็นเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนพัฒนา เราจะเข้าใจระบบหนึ่งที่สำคัญกับโลกใบนี้นั่นคือ ทุนนิยมและทุนทางสังคม              

             ทุนนิยม (capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งเจ้าของเอกชนเป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรมและวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาด คุณลักษณะสำคัญของทุนนิยม ได้แก่ การสะสมทุน ตลาดแข่งขันและค่าจ้างแรงงาน ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยทั่วไปภาคีในปฏิสัมพันธ์กำหนดราคาที่มีการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ สินค้าและบริการ ระดับการแข่งขัน บทบาทการแทรกแซงและจัดระเบียบ ตลอดจนขอบเขตของหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของแตกต่างกันไปตามทุนนิยมแต่ละแบบ นักเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักประวัติศาสตร์ได้ยึดมุมมองการวิเคราะห์ทุนนิยมแตกต่างกันและยอมรับทุนนิยมหลายแบบในทางปฏิบัติ แบบของทุนนิยมรวมถึงทุนนิยมปล่อยให้ทำไป ทุนนิยมแบบสวัสดิการและทุนนิยมโดยรัฐ โดยแต่ละแบบเน้นระดับการพึ่งพาตลาด หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของและการรวมนโยบายทางสังคมแตกต่างกัน การที่แต่ละตลาดมีความเป็นอิสระมากเพียงไร ตลอดจนกฎนิยามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลมีขอบเขตเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของการเมืองและนโยบาย หลายรัฐใช้ระบบที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบบผสมทุนนิยม ซึ่งหมายความถึงการผสมระหว่างส่วนที่มีการวางแผนจากส่วนกลางและขับเคลื่อนโดยตลาด              

             ทุนนิยมมีอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองหลายระบอบ ในหลายเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม หลังระบบฟิวดัลเสื่อมลง ทุนนิยมได้กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจหลักในโลกตะวันตก ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทุนนิยมได้เอาชนะการท้าทายจากเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางและปัจจุบันเป็นระบบเด่นทั่วโลก. โดยมีเศรษฐกิจแบบผสมเป็นรูปแบบหลักในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก มุมมองทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เน้นส่วนหนึ่งที่เฉพาะของทุนนิยมในนิยามที่ให้ความสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์ปล่อยให้ทำไปและเสรีนิยมเน้นระดับซึ่งรัฐบาลไม่ควบคุมตลาดและความสำคัญของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกใหม่และนักมหเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เน้นความจำเป็นที่ต้องมีการกำกับของรัฐบาลเพื่อป้องกันการผูกขาดและเพื่อลดผลกระทบของวัฏจักรรุ่งเรืองและตกต่ำ นักเศรษฐศาสตร์แบบมากซ์เน้นบทบาทของการสะสมทุน การแสวงหาประโยชน์และค่าจ้างแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนใหญ่เน้นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเช่นกัน นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ของอำนาจ ค่าจ้างแรงงาน ชนชั้นและเอกลักษณ์ของทุนนิยมในฐานะการสร้างประวัติศาสตร์                            

             ทุนทางสังคม (Social Capital) เป็นคำอธิบาย “ทุน” ในลักษณะใหม่ที่ไม่ใช่เพียงทุนทางเศรษฐกิจที่มุ่งหวังในการทำกำไรหรือแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง แต่ทุนทางสังคมมีลักษณะเป็นผลประโยชน์หรือต้นทุนส่วนรวมที่มาจากการช่วยเหลือและความร่วมมือกันระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม โดยธนาคารโลก (World Bank) เห็นว่าทุนทางสังคม คือ สถาบัน ระบบ ความสัมพันธ์และบรรทัดฐานการปฏิบัติ (norm) ที่นำมาซึ่งปฏิสัมพันธ์ของสังคมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เน้นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันไม่ใช่สถาบันหรือตัวบุคคลโดดๆ หรือจำนวนรวมกัน อีกทั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) เห็นว่าทุนทางสังคม คือ การเชื่อมโยงของบุคคลเป็นเครือข่ายทางสังคมบนพื้นฐานความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) และมีมาตรฐานในการทำงานร่วมกัน            

           จากการอธิบายทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ สามารถสรุปอย่างสั้นๆ ได้ว่า คนรวยทำไมถึงยิ่งรวย คนจนถึงยิ่งจน เพราะผู้มีทุนมาก โอกาสก็ยิ่งมาก การต่อยอดเศรษฐกิจก็ยิ่งทับทวี และยิ่งทำให้ทุนทางสังคมลดน้อยถอยลงไป หากมองแต่เงินเป็นตัวตั้ง ในทางตรงกันข้าม หากมองทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง เน้นความรัก สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่คิดเอาเปรียบ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การ”อยู่ดี มีสุข”ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่เศรษฐกิจ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมอาจจะไม่มาก แต่ความสุขที่ทุกคนปรารถนา จะเกิดขึ้นได้          

             ในฐานะผู้เขียนเป็นชาวพุทธ เลื่อมใสในคำสอน จึงขอน้อมนำเรื่อง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี "อุ อา กะ สะ" อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ (เนื่องจากอัตถะ แปลว่า ประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์ ซ้ำซ้อนกันสองคำก็ได้) หรืออาจเรียกเต็ม ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม 4 ประการ คือ อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้            

           โดยสรุป การอยู่ดี มีสุขของมวลมนุษย์ทั้งโลกนี้ มองทุนนิยมเป็น หลักธรรมข้อ 1 การขยันหา และทุนทางสังคม หลักธรรมข้อที่ 3 การเป็นกัลยาณมิตร เราจะปรารถนาดีให้ทุกคนรู้หลักธรรมข้อ 2 คือการเก็บรักษา และข้อที่ 4 เลี้ยงชีพได้อย่างเหมาะสม คือการรู้จักประมาณในการใช้จ่าย ไม่โลภมาก จ้องจะเอาแต่ได้ ใช้จ่ายให้มาก กระตุ้นเศรษฐกิจ โลกใบนี้ต้อง “อยู่ดี มีสุข” อย่างแน่นอน             

          ทุกท่านคิดเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนความรู้กันใน Comment Facebook, YouTube, Blog, Line, IG, Twitter, pantip ...กันนะครับ ขอบคุณครับ                                        

               B.S.                   
      16 มี.ค. 2562      

  ตอน  ศาสนากับการพัฒนาทุนทางสังคม หลุดพ้นกับดักโลกทุนนิยมอย่างไร?คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ https://youtu.be/iuVxZgz9d5c เวลา 14.00-14.20 น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่