สุมาอี้ และ พิเภก

สุมาอี้ และ พิเภก

__________________________________


บทความนี้เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า "ทำไมพิเภกน่าจะรู้ว่า สีดาคือลูกสาวของทศกัณฐ์ แต่ไม่บอก?"


(สาเหตุที่ ทศกัณฐ์ แตะต้องสีดามิได้ อาจเป็นเพราะอาคมในตัวของทศกัณฐ์ทำงานเมื่อ ทศกัณฐ์มีกำหนัดจิตเมื่อเข้าใกล้ลูกของตัว - แต่ทศกัณฐ์ไม่รู้.... ทฤษฎีอื่นไม่ขอกล่าวถึง)


ท้าวความ ด้วย วิกิ กล่าวไว้ว่า


"พิเภก เป็นละครในเรื่องรามเกียรติ์ มีกายสีเขียว ทรงมงกุฎน้ำเต้า เป็นน้องของทศกัณฐ์ และกุมภกรรณ อดีตชาติ เป็นพระเวสสุญาณเทพบุตร พระอิศวรสั่งให้ไปจุติเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันกับทศกัณฐ์เพื่อเป็นไส้ศึกคอยบอกความลับต่าง ๆ ให้แก่พระราม พร้อมประทานแว่นวิเศษติดที่ดวงตาขวา มองเห็นได้ทั้งสามโลก แม้กระทั่งอดีตและอนาคต พิเภกโดนทศกัณฐ์ขับออกจากกรุงลงกา เพราะไปแนะให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาแก่พระราม จึงเข้าร่วมกับฝ่ายพระราม ทำหน้าที่เป็นโหราจารย์


พิเภกมีส่วนช่วยในกองทัพพระรามเป็นอันมาก เป็นผู้บอกกลศึกและทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ของฝ่ายทศกัณฐ์ให้แก่พระราม เมื่อทศกัณฐ์ใกล้ตายเพราะถูกศรพรหมาศของพระราม ทศกัณฐ์สำนึกได้ จึงเรียกพิเภกเข้าไปสั่งสอน โดยมีใจความหลักว่า ให้ประพฤติตนเป็นธรรม อย่าเกเรเหมือนตน ซึ่งบทนี้ถูกเรียกว่า "ทศกัณฐ์สอนน้อง" จากนั้น พิเภกได้รับแต่งตั้งจากพระรามให้เป็น "ท้าวทศคิริวงศ์" ครองกรุงลงกาแทนทศกัณฐ์สืบไป


ในรามายณะ มีชื่อว่า "วิภีษณะ""


ข้อควรน่าสังเกตของรามเกียรติ์ แบ่งออกได้ดังนี้


1. ชาวสวรรค์ต่างสาปผู้คนหลายต่อหลายคนราวกับรู้แน่แก่ใจว่า ทัพพระรามจะผ่านและชนะทัพยักษ์ ราวกับรู้ดีว่า สงครามจะจบอย่างไร (ตัวอย่าง -- พระอาทิตย์บันดาลโทสะจึงสาปให้สัมพาทีไม่มีขนตลอดไปจนกว่าวันใดที่ทหารของพระรามกลับจากการนำแหวนไปถวายนางสีดาและมาพักยังถ้ำนี้แล้วโห่ขึ้นสามลาจึงค่อยให้ขนงอกขึ้นมาอีกครั้ง )


2. แม้จะเป็นตัวเอก แต่ใช้วิธีกลโกงเช่นไส้ศึกก็ยอมรับได้ (พิเภกนั่นเอง)


3. ความไม่สมเหตุสมผลของตัวพิเภกเอง ที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ทั้งหมด แต่ก็มิได้แสดงความรู้ และความเห็นต่อพี่ชาย


___________________________________


ก่อนจะเอ่ยถึงตอนต่อจากที่พิเภกมิได้บอกว่าสีดาเป็นลูกของทศกัณฐ์ แต่ถูกไล่ออกจากกรุงลงกา เพราะบอกกับพี่ชายว่า ต้องคืนนางสีดาให้กับพระราม เรามาพิเคราะห์สุมาอี้กันเสียก่อน


สุมาอี้ -- ในเนื้อหาวรรณกรรมเป็นทั้งคู่ปรับตลอดกาลของมังกรหลับขงเบ้ง ทว่าผู้ที่มิได้พิเคราะห์ให้ดี ก็จะไม่เคยสังเกตเลยว่า สุมาอี้นั้นรับศึกในมาก่อนศึกนอกเสียด้วยซ้ำ


เมื่อครั้งโจโฉสร้างตัว ได้ทาบทามสุมาอี้เข้าด้วยกับตนโดยให้ตำแหน่งขุนนางใหญ่ แต่สุมาอี้กลับปฏิเสธตำแหน่งอ้างว่าป่วย ลุกขยับตัวมิได้


โจโฉจึงทดสอบด้วยการส่งมือสังหารไปหาสุมาอี้ในยามค่ำคืนในอยู่คร่อมตัวไว้แต่ไม่ให้ฆ่า สุมาอี้ตื่นมาก็ตกใจแต่ก็แสร้งขยับตัวไม่ได้ ทำให้มือสังหารผละออกไปและกลับไปรายงานว่าสุมาอี้ป่วยจริง.....


จากเหตุการณ์นี้ เราจะเห็นได้ว่า สุมาอี้นั้นเป็นผู้ใจเย็นและเป็นเสือซ่อนเล็บโดยแท้จริง


หลังจากผ่านทั้งสมรภูมิและมรสุมจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
ทั้งการต่อสู้ศึกภายนอกกับขงเบ้ง แลศึกภายในกับ โจโฉ / โจผี / โจยอย / โจฮอง และโจฮองตามลำดับ ทั้งถูกกลั่นแกล้งสารพัด  ท้ายสุด ตระกูลสุมาก็กลืนกินก๊กวุยจากภายในจนยึดอำนาจสำเร็จ

ผู้เขียนอยากให้สังเกตจุดนี้ของสุมาอี้ไว้ และลองมาพิเคราะห์สถานะของพิเภกบ้าง

พิเภก แม้จะมีสถานะเป็นถึงน้องของ ทศกัณฐ์ แต่หามีเมือง หรือกองทัพในตนเองไม่
มียศเป็นเพียงพระอนุชาและโหรหลวง......
ดังนี้ เมื่อสิ้นซึ่ง ทศกัณฐ์ กรุงลงกาย่อมไม่อาจตกลงเป็นของพิเภกแน่นอน เพราะเสียงข้างมากย่อมตกเป็นของยักษ์ที่มีฤทธิ์ถึงขนาดปราบพระอินทร์ได้ หรือก็คือ อินทรชิต นั่นเอง..... และพิเภกซึ่งไม่มีนครในปกครองเป็นของตนก็จำต้องรับใช้หลานชายต่อจากพี่ชายนั่นเอง

หากลองตั้งสมมติฐานว่า พิเภกอาจจะมีหรือไม่มีความสามารถในการมองเห็นทั้งสามโลกจริงตามที่ว่า แต่กลับวางแผนโค่นกรุงลงกา เพื่อการนำมาซึ่งการที่ตนจะได้สิทธิในการครอบครองแทนผู้สืบทอดที่ถูกต้อง ก็จะคล้ายกับ สุมาอี้นั่นเอง

หรือจะกล่าวว่า พิเภกก็คือเสือซ่อนเล็บดีๆก็มิใช่สมมติฐานที่เกินไปนักเมื่อพิเคราะห์จาก

1.    พิเภกคือไส้ศึกที่กำหนดมาแล้วว่าให้ทรยศเผ่าพันธุ์ของตน
2.    พิเภกไม่ยอมบอกเรื่องสีดาเป็นลูกของทศกัณฐ์
3.    พิเภกวางแผนไปเข้ากับศัตรูของทศกัณฐ์

ซึ่งเมื่อสงครามจบสิ้นแล้ว เมืองยักษ์ย่อมจะต้องปกครองโดยยักษ์ และยักษ์ที่เข้ากับฝ่ายพระรามก็มีเพียงพิเภกเท่านั้น.....

จึงจะเห็นได้ว่าพิเภกยอมอดทนอดกลั้นเช่นเดียวกับสุมาอี้ เพราะหัวเราะในตอนท้ายมิต่างกันเลย นั่นเอง

(บทความนี้ เขียนขึ้นจากมุมมองและข้อสังเกตของผู้เขียน หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบอภัย)

#กวีใบไม้ร่วง

https://www.facebook.com/FallingLeafPoet/

https://www.facebook.com/FallingLeafPoet/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่