ธรรมะจากพระผู้รู้ โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 43 ค่ะ

ธรรมะจากพระผู้รู้ โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ

จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 43 ค่ะ


ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้

ถาม – อยากทราบเกี่ยวกับประโยชน์และความจำเป็นของฌานสมาบัติครับ

การทำฌานสมาบัติมีประโยชน์หลายประการ เช่น เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพื่อให้ได้อภิญญา เพื่อความมีสติสัมปชัญญะ และเพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการบรรลุมรรคผล ฯลฯ

โทษของฌานสมาบัติ ก็มีหลายประการ โดยเฉพาะฌานที่เป็นมิจฉาสมาธิ  เช่น ทำให้เนิ่นช้าในการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดสัญญาวิปลาสและทิฏฐิวิปลาส และเพิ่มพูนมานะอัตตาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ฯลฯ

ผู้มีปัญญาต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากฌานสมาบัติ และระวังไม่ให้เกิดโทษ เหมือนคนที่ใช้พลังงานปรมาณู ที่ต้องใช้ให้เป็นจึงจะไม่เกิดโทษ

สำหรับความจำเป็นของฌานสมาบัตินั้น ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า จะมองในแง่ความจำเป็นสำหรับผู้ใด เช่น พวกโจรผู้ร้าย ไม่จำเป็นต้องมีสมาบัติ เพราะจะยิ่งทำชั่วได้ง่ายขึ้น แต่เข้าใจว่าต้องการถามถึงความจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเห็นว่า มีประโยชน์ แต่ไม่ถึงขั้นจำเป็นยิ่งยวดขาดเสียไม่ได้ กล่าวคือ

หากเราสามารถพักจิตในฌานสมาบัติ แทนการพักจิตด้วยกามคุณ เช่น กินเหล้า ร้องคาราโอเกะ ดิ้น หลอกผู้หญิง หลอกผู้ชาย ความสุขสงบในชีวิตมันประณีตกว่ากันมากครับ อย่างบางคนทำธุรกิจ วันหนึ่งๆ ต้องปวดหัวกับความเครียดมากมาย ถ้าก่อนนอนสามารถพักจิตได้ ก็จะพักผ่อนได้เต็มที่ ไม่ใช่นอนหลับจมความเครียดอยู่

การพักผ่อนเช่นนี้ อาจจะคำนวณเป็นตัวเงินก็ได้ เช่น เราเคยเสียเงินเพื่อความผ่อนคลายเดือนละเท่าไร พอพักในฌาน ก็ประหยัดเงินส่วนนี้ได้ แถมไม่ต้องรับผลข้างเคียงจากการพักผ่อนที่ไม่ดีอีก

ยิ่งเป็นนักปฏิบัติที่เป็นนักบวชนั้น ชีวิตค่อนข้างแร้นแค้นทางวัตถุ การพักในฌานก็มีประโยชน์ ให้เกิดความสุข มีกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป

สำหรับประโยชน์ในด้านอภิญญานั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้ฌานจะได้อภิญญาเสมอไป คนเราในยุคนี้ กระทั่งทำฌานได้ก็มีน้อยเต็มที ที่จะได้อภิญญาด้วย ยิ่งน้อยหนักเข้าไปอีก ส่วนมากที่มีอภิญญากันบ้าง จะเป็นผลจากการสะสมในอดีตเสียมากกว่าครับ อีกอย่างหนึ่ง อภิญญาไม่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม ไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ

ประโยชน์ของฌานสมาบัติในด้านการสร้างสติสัมปชัญญะนั้น จำเป็นสำหรับคนที่เริ่มปฏิบัติด้วยวิธีเจริญปัญญาไม่ได้ หรือเจริญปัญญาจนจับผู้รู้ได้ แต่จิตไม่ตั้งมั่นพอ ก็ต้องเสริมด้วยการทำสมาธิ แต่บางคนทำอย่างไรก็ไม่ได้ฌาน ซึ่งก็ไม่เป็นไรครับ หัดเริ่มจากขั้นบริกรรมภาวนา แล้วแยก คำบริกรรม หรือ อารมณ์กรรมฐาน เช่น ลมหายใจ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ หัดเท่านี้ ไม่ต้องถึงฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไรครับ แต่ถ้าถึงฌาน จิตก็มีกำลังมาก แต่อย่าเสียเวลาเพื่อไปหัดเลยครับ มันเกินจำเป็นไปหน่อยสำหรับคนเมืองที่ใช้วิธีดูจิต

สำหรับประโยชน์ของฌานสมาบัติในการเกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ต้องหัดครับ เพราะเมื่อเวลาจิตจะเกิดมรรคผลนั้น จิตจะได้ฌานเองโดยอัตโนมัติ ในตำราระบุว่าจิตที่เกิดมรรคผล จะประกอบด้วยฌาน ๑ - ๕ ซึ่งเป็นรูปฌานล้วนๆ (อภิธรรมแยกรูปฌาน ๔ ออกเป็นรูปฌาน ๕) แต่ผมเห็นว่า แม้อรูปฌานก็เกิดขึ้นได้ ในขณะที่เกิดมรรคผล เพราะองค์ฌานของอรูปฌานก็มี ๒ เหมือนรูปฌานที่ ๕ คืออุเบกขากับเอกัคคตา นอกจากนี้ อันที่จริงมรรคผลนั้นรู้อารมณ์นิพพาน ไม่ได้รู้อารมณ์รูปและนาม องค์ฌานคืออุเบกขาและเอกัคคตา เป็นเพียงตัวสนับสนุนให้จิตมีกำลังเท่านั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่องค์ฌาน ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ในตำราอภิธรรมเอง กล่าวถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานของพระอริยบุคคลในอรูปภูมิ ถ้าหากเวลาบรรลุมรรคผล ต้องเกิดในรูปฌานเท่านั้น ก็เท่ากับพรหมนั้นตายจากอรูปภูมิมาอยู่ในรูปภูมิเพื่อบรรลุมรรคผล ซึ่งตำราอภิธรรมเองไม่ได้กล่าวเช่นนั้น ดังนั้น การบรรลุมรรคผล ด้วยจิตที่มีกำลังของอรูปฌานสนับสนุน จึงน่าจะเป็นไปได้
สรุปแล้ว ฌานสมาบัติมีประโยชน์ต่อนักปฏิบัติ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้ครับ


วันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

http://www.bangkokmap.com/pm/content/view/228/41/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่