มาแจ้งว่า 7 สุดยอดตำราพิชัยสงครามจีนโบราณ ปัจจุบันเริ่มทยอยเอาฉบับแปลไทยกลับมาพิมพ์ใหม่ละครับ

7 สุดยอดตำราพิชัยสงครามจีนโบราณ

ถ้าเรียงตามความเก่าแก่คือ

1.หกความลับหรือพิชัยยุทธหลิวเทา โดยเจียงไท่กง สุยอดกุนซือและแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์โจว เชื่อกันว่าต่อมาเนื้อหาได้แตกแขนงออกมาเป็นหลักพิชัยยุทธซานเลี่ยของหวงสือกง แล้วจางเหลียงได้นำไปศึกษา

ว่ากันว่านี่เป็นตำรายุทธวิธีซึ่งลี้ลับและเป็นต้นทางของพิชัยสงครามทั้งมวล ในแง่ยุทธ์ศาสตร์แล้วถือเป็นสุดยอด (ปัจจุบันมีแปลไทยแล้วกับสนพ.แสงดาว โดยคุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษม นำมาแปลไว้ แล้วล่าสุดเอามาพิมพ์ใหม่)


2.ยุทธวิธีซือหม่า โดยซือหม่าหรางจู เป็นตำรายุทธวิธีทางทหารที่พัฒนาขึ้นในรัฐฉี แล้วสืบต่อกันหลายคน เป็นตำราเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าต่อมาได้พัฒนาแล้วต่อยอดเป็นส่วนหนึ่งในพิชัยสงครามรุ่นหลังๆ


3.พิชัยสงครามซุนวู ตำราพิชัยสงครามที่โด่งดังที่สุดในโลก ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าซุนวูแต่งเองหรือไม่ ส่วนผู้รวบรวมคนแรกคือแม่ทัพอู๋ซือจี ต่อมาซุนปินได้พัฒนาขึ้นจนโด่งดังไปทั่วโลก นักประวัติศาสตร์และนักการทหารส่วนมากตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆแล้วคนที่แต่งตำราพิชัยสงครามซุนวู อาจจะเป็นตัวซุนปินเอง แต่ให้เครดิตกับบรรพบุรุษ หรือไม่ก็เป็นทายาทของซุนวูที่แต่งเพิ่มต่อเติมเข้าไปอีก แต่หลักๆแล้วในโลกวิชาการค่อนข้างให้เครดิตซุนปินเป็นพิเศษ เพราะเรื่องของซุนวูมีบันทึกถึงน้อยมาก ออกไปในทางตำนานและเกร็ดเรื่องเล่ามากกว่า

ภายหลัง ศจ.เครก เจ เรย์โนลส์ ได้ค้นคว้าแล้วอธิบายว่า ปัจจุบัน ตำราพิชัยสงครามซุนวูได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนังในหนังสือและกลยุทธ์ที่ใช้สอนในหลักสูตรเสนาธิการทหารของอเมริกา และหากพูดถึงภูมิปัญญาจีนแล้ว คนอเมริกาและชาวตะวันตก จะนึกถึงตำราซุนวูเป็นอันดับแรก (ในลิสต์หนังสือสำคัญทางโลกอินเทอร์เน็ตบางเว็บสำคัญ เช่น Amazon Goodread ตำราซุนวูได้รับการจัดอันดับไว้สูงในแง่หนังสือคลาสสิกพลิกโลกและเป็นหนังสือที่ค่อนข้างขายดีและได้รับความสนใจจากโลกตะวันตกมาก)


4.พิชัยสงครามอู๋ฉี (เงาคี้ในเลียดก๊ก) คนจีนจะรวมเอาเล่มนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งใน "พิชัยสงครามซุน-อู๋(หวู)" จะเน้นเรื่องการปกครองและการเมืองมากกว่าของซุนวู เป็นส่วนที่เติมเต็มให้ พิชัยสงครามซุนวูครบสมบูรณ์แบบมากขึ้น


5.เว่ยเหลียวจื่อ โดยเว่ยเหลียว หนึ่งในนักคิดและกุนซือผู้ช่วยฉินซีรวมแผ่นดิน เป็นตำราว่าด้วยหลักปรัชญาและทฤษฎีมากกว่าการทหาร ลำพังตัวเว่ยเหลียวเอง แม้จะคิดค้นทฤษฏีขึ้นมา แต่คนลงมือก็ยังต้องอาศัยฉินซีฮ่องเต้และหลี่ซือ แต่อย่างไรก็ตาม งานของเว่ยเหลียวถือเป็นทฤษฏี "ที่นำไปปฏิบัติได้อย่างเห็นผลจริงจัง" มากที่สุดชุดหนึ่ง หลายกลยุทธ์นั้นไม่ได้ซับซ้อน แต่ชัดเจน เน้นหนักในเรื่องของการใช้อำนาจและวิธีการต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


6.ซานเลี่ย หรือสามยุทธศาสตร์ โดยหวงสือกง เป็นตำราที่แตกยอดออกมาจากตำราของเจียงไท่กง ซึ่งปราชญ์หวงสือกงได้รวบรวมแล้วนำมามอบให้จางเหลียงได้นำไปศึกษาจนแตกฉาน จากนั้นจางเหลียงนำมาช่วยเหลือหลิวปังพิชิตเซี่ยงหยี่แล้วสถาปนาราชวงศ์ฮั่นได้สำเร็จ

ซานเลี่ย เป็นหลักการคิดและยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้าง "เรียบง่าย กว้างไพศาล แต่ลึกซึ้งถึงแก่น" จางเหลียงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสองสุดยอดกุนซือที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์จีนทาบชั้นกับเจียงไท่กงได้นั้น ก็เพราะเอาแนวคิดในซานเลี่ยไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมและแตกฉานมาก


7.พิชัยยุทธ์หลี่จิ้ง หรือรวมบทสนทนาถามตอบระหว่างหลี่จิ้งและพระเจ้าถังไท่จง เป็นสุดยอดพิชัยสงครามที่หลี่จิ้งนำประสบการณ์รบและเนื้อหาในตำราพิชัยสงครามยุคโบราณหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น หลิ่วเทา ซุนวู หรือกระทั่งตำราเมิ่งเต๋อเซินซูของโจโฉและพิชัยสงครามของขงเบ้ง แล้วนำเนื้อหานั้นมาไว้ในบทสนทนาถามตอบปัญหาด้านการทหารกับฮ่องเต้ถังไท่จงซึ่งก็เป็นสุดยอดของผู้บัญชาการทหารเช่นกัน

ตำราของหลี่จิ้ง เน้นหนักมากๆที่การนำกลยุทธ์และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในสมัยที่ถังไท่จงทำศึกรวมแผ่นดิน รวมถึงจากตัวหลี่จิ้งเองที่นำทัพออกศึกปราบพวกนอกด่าน เอามาวิเคราะห์หาสาเหตุที่มาที่ไปของชัยชนะในแต่ละครั้งอย่างละเอียด และพยายามลดอคติให้มากที่สุด ด้วยการวิเคราะห์หลายชั้นนี้เอง ทำให้ตำราของหลี่จิ้งได้รับการยกย่องในแง่ของการนำมาใช้ให้เห็นผลจริงและวิจารณ์แนวคิดในพิชัยสงครามโบราณได้อย่างละเอียด และเป็นหลักฐานที่ชี้ว่า พิชัยยุทธของโจโฉยังไม่ได้โดนเผาทำลายไปหมด แต่มีฉบับคัดลอกตกทอดมาในสมัยถังตอนนั้น

ภายหลังหลี่จิ้งได้เกษียณจากราชการ ก็มอบตำราพิชัยสงครามที่รวบรวมเอาบทสนทนาถามตอบทั้งหมดนี้ ยกให้กับหลี่จี้ (หลี่ซื่อจี) หนึ่งในกุนซือคนสำคัญของถังไท่จงได้รับไปศึกษาต่อไป


ตอนนี้ตำราพิชัยสงครามจีนโบราณระดับสุดยอดของโลกทั้ง 7 เล่ม เริ่มทยอยฉบับภาษาไทยออกมาแล้ว ของสนพ.แสงดาวเอากลับมาพิมพ์ใหม่แล้วสามเล่ม คือ ซุนวู อู๋ฉี และซานเลี่ย ตอนนี้รอดูว่าจะมีเล่มอื่นๆออกมาอีกไหมนะครับ

ส่วนอันนี้คือฉบับภาษาอังกฤษของ Ralph D. Sawyer ที่เอาทั้ง 7 เล่มมาแปลรวมกันทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่