"เท่า"บทกวีประโลมโลกประชาธิปไตย (นายพระรอง)

.

เมื่อ"เท่า"เทียม เทียมเท่า มิเท่ากัน
ก็"เท่า"นั้น ถูกขั้น ปันวิถี
ตอน"เท่า"เดิม เขามอง เกินพอดี
เอา"เท่า"นี้ ที่เหลือ เขาเอาไป

เมื่อ"เท่า"กัน ถูกขั้น มิเทียมเท่า
ไม่"เท่า"เขา เข้าขั้น ชนชั้นไหน
ให้"เท่า"นี้ ท่านชี้ ดีถมไป
เหลือ"เท่า"ไร สิทธิเสียง ของประชา



รัฐธรรมนูญอันเป็นกฏหมายสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง ยึดถือความเท่าเทียม บนหลักของความเสมอภาค

ความเสมอภาค (Equality) คืออะไร
ความหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน หมายถึง ความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกคนในการได้รับสิทธิพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยผ่านการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ด้วยความเคารพต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความหมายตามหลักกฎหมาย  หมายถึง หลักการพื้นฐานของความยุติธรรม ที่กำหนดให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้นำเอา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือ อื่นๆ มาประกอบการพิจารณา
              
ความหมายตามระบอบประชาธิปไตย หมายถึง  การที่ประชาชนทุกคนในประเทศมีความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันในเรื่องสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ในที่นี้ สิ่งที่จำเป็น ขั้นพื้นฐานต่อการอยู่รอดและพัฒนาตัวเองตามหลักสิทธิมนุษยชน คือ ปัจจัยสี่ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย การนับถือศาสนา การศึกษาและการรับรู้ข่าวสาร การเข้าถึงบริการสาธารณะและสวัสดิการสังคม การประกอบอาชีพ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

หลักการพิจารณาความเสมอภาค เพื่อพิจารณาว่า มีการปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่ง เหมือน หรือ ต่าง จากอีกบุคคลหนึ่งหรือไม่?   ให้ถือหลักการ “สาระเหมือน ปฎิบัติเหมือน สาระต่าง ปฏิบัติต่าง” นั่นคือ ต้องพิจารณาจากบุคคลที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน


เมื่อพิจารณาจากเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ปรากฏออกมา ตีความด้วยสติปัญญาของคนเองแล้วพบว่ามีหลายส่วนที่ขัดกับ ความเท่าเทียมบนหลักของความเสมอภาค โดยเฉพาะในเรื่องของ "ตัวแทน" ซึ่งสมควรมาจากการคัดสรรของประชาชนทั้งหมด มิใช่จากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

จึงตัดสินใจได้ไม่ยาก ว่าจะตัดสินใจ "รับ หรือ ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้




*เตือนพี่น้อง ที่จะร่วมมาแต่งโคลงกลอนนะครับ เลือกใช้คำหน่อยนะครับ ระวังสุขภาพล็อคอินของท่านด้วย เป็นห่วงครับ

ด้วยรักจาก
นายพระรอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่